มหกรรมเยาวชนรักษ์วัฒนธรรม

ขวัญลูกสาวเอ๋ย ขวัญลูกชายเอ๋ย จงกลับมาเถิด

 

มหกรรมเยาวชนรักษ์วัฒนธรรม

            

            ท่ามกลางกระแสการเมืองอันร้อนแรง อากาศที่ปรวนแปร น้ำโขงแห้งเหือด อากาศร้อนจนแทบละลาย วันดีคืนดีก็ลมฝนพัดกระหน่ำ ลูกเห็บตกจนหลังคาทะลุ อะไรๆ ก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ หลายคนบอกว่าธรรมชาติลงโทษมนุษย์ที่พยายามจะเอาชนะ และฝืนธรรมชาติกันอยู่ร่ำไป กระนั้นหากหนุ่มสาวกลุ่มคนทำงานด้านสืบสานภูมิปัญญา มุ่งมั่นที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสืบสานต่อวัฒนธรรมความเชื่อท้องถิ่น ว่ามนุษย์ต้องพึ่งพิงอิงอาศัยธรรมชาติ ดั่งคำปกาเก่อญอที่ว่า กินน้ำต้องรักษาน้ำ กินจากป่าต้องรักษาป่า

 

มหกรรมเยาวชนรักษ์วัฒนธรรม

            ปีนี้เหล่าเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาปกาเกอะญอมีแนวร่วมเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีกันอยู่ 6 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำวาง ลุ่มน้ำขาน ลุ่มน้ำจอมทอง ลุ่มน้ำแม่ปิง ลุ่มน้ำแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และลุ่มน้ำลาวตอนบน จ.เชียงราย ปีนี้มีเยาวชนกลุ่มตะกอนยม คนเมืองล้านนาจากลุ่มน้ำยม อ.สอง จ.แพร่ มาร่วมขบวนการสืบสานภูมิปัญญาด้วย พวกเขาจึงรวมตัวกันและเรียกตัวเองในชื่อใหม่ว่า เครือข่ายเยาวชนรากหญ้ารักษ์ถิ่น โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาจากผู้เฒ่าผู้แก่ มาสู่เยาวชนและเด็กๆในหมู่บ้าน ร่วมจัดโดยโครงการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อการพัฒนา(yt) และเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

 

            เช่นเคยที่งานจะต้องหมุนเวียนไปตามหมู่บ้านของน้องๆ สมาชิกในเครือข่าย ครั้งนี้เวียนมาจัดที่บ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่น่าปลื้มใจสำหรับคนทำงานด้านเยาวชนไม่น้อย เมื่อพบว่าปีนี้มีหนุ่มสาวหน้าใหม่เข้ามาร่วมงานมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ บ่งชี้ว่าการจัดการเรียนรู้ภูมิปัญญาในชุมชนที่ผ่านมาได้ผล  เยาวชนหันกลับมาสนใจเรียนรู้รากเหง้าของตัวเองมากขึ้น

 

มหกรรมเยาวชนรักษ์วัฒนธรรม

            ไม่เพียงแค่ผู้คนมาร่วมงานเท่านั้นที่เป็นหน้าใหม่ เยาวชนทีมจัดงานเองก็มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาร่วมจัดไม่น้อย ส่วนคนที่อยู่มานานก็ขยับบทบาทมารับผิดชอบเต็มตัว แทนรุ่นพี่ที่ออกไปมีครอบครัว หรือขยับขึ้นไปทำงานกับผู้ใหญ่  บัณฑิต เวชกิจ หนุ่มปกาเกอะญอวัย 20 ปี จากบ้านหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จากเดิมที่เป็นเพียงลูกมือคอยช่วยเหลือรุ่นพี่ทำนั่นทำนี่ตามที่สั่ง วันนี้บัณฑิตขยับขึ้นมาเป็นพี่ที่รับผิดชอบเต็มตัว รับหน้าที่จัดคิวการแสดงตลอด 3 วัน แต่งานแรกดูจะไม่ราบรื่นเท่าไร เมื่อฝนตกลงมาไม่ถูกเวลาเอาซะเลย

 

            มารับงานเต็มตัวปีแรก ก็สนุกดี ปีแรกก็เจอฝนเลย ฝนตกหนักมา 2 วันแล้ว (18-19 มีนาคม 53) เหนื่อยมาก ต้องเปลี่ยนตามสถานการณ์ตลอดเวลา ขนย้าย จัดเวทีใหม่กันทุกวัน แต่ก็ไม่ถอย เพราะทำมาถึงขั้นนี้แล้วก็ต้องทำให้ถึงที่สุด โชคดีที่วันงาน 2 วันหลังฝนไม่ตกบัณฑิตจัดการเรียนรู้ภูมิปัญญาในชุมชนมาได้ปีกว่าแล้ว  จากเดิมที่รุ่นพี่เคยจัดสอนภูมิปัญญาในโรงเรียน แต่หยุดไปเพราะไม่มีเวลาสอน จนเยาวชนเริ่มห่างเหินจากวัฒนธรรมของตนเอง บัณฑิตจึงจัดการเรียนรู้ขึ้นมาใหม่

 

             จัดการเรียนรู้เรื่องนิทาน สมุนไพร ตัวเขียนปกาเกอะญอ อื่อธา  จัดวันเว้นวัน ส่วนใหญ่จัดที่บ้านผมเอง มีเยาวชนเป็นคนถ่ายทอดให้กับเด็กเล็กๆ แต่เรื่องไหนที่เยาวชนไม่รู้ก็เรียนรู้ร่วมกัน ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเป็นคนถ่ายทอด ที่จัดขึ้นมาเพราะเมื่อก่อนมีพี่หนานญาติผู้พี่ผมเคยจัดมาก่อน จัดสอนในโรงเรียนเป็นหลักสูตรท้องถิ่น เยาวชนหมุนเวียนกันไปสอน แต่เพราะเป็นช่วงเวลากลางวัน เยาวชนต้องไปทำงานไม่มีเวลามาสอน มันก็เลยหายไปประมาณปีหนึ่ง

 

            ทีนี้ช่วงที่หายไปมันเริ่มเกิดปัญหา เด็กในชุมชนดูทีวีมากขึ้น ติดทีวี เลียนแบบพฤติกรรมจากละคร เด็กไม่มีมารยาท ผมกับเพื่อนๆเลยชวนกันจัดการเรียนการสอนภูมิปัญญากันขึ้นมาใหม่ โดยเลือกจัดการเรียนรู้ตอนค่ำเพราะเป็นเวลาที่ว่างตรงกัน แล้วมันเป็นช่วงที่ละครออกพอดี เราก็ดึงเด็กมาทำกิจกรรมกับเราก่อนที่เขาจะไปนั่งอยู่หน้าทีวี

 

            จากที่จัดการเรียนรู้มาปีกว่า ปรากฏว่าเด็กๆในชุมชนเล็กๆ ของบัณฑิต ให้ความสนใจมาเรียนรู้กันทุกคน แม้แต่เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรแต่ก็มาเพราะสนุก มีเพื่อนเล่น มีเกม มีขนม ซึ่งเป็นวิธีที่บัณฑิตใช้ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ

 

             บางทีเด็ก อายุ 7-8 ขวบ มาแบบไม่รู้เรื่อง แต่เขาก็สนุก เอาขนมมาให้กินบ้าง พาเล่นเกมบ้าง แล้วค่อยแทรกเนื้อหาเข้าไป เขาก็ชอบกัน หมู่บ้านผมมี 20 หลังคาเรือน มีเด็กมาร่วมเรียนรู้ประมาณ 15 คน คือมากันทั้งหมู่บ้าน ก็ดีใจ ผ่านมา 1 ปี เด็กอื่อธาได้ทุกคน อย่างน้อยคนละ 10  บท เด็กเขียนชื่อตัวเองเป็นภาษาปกาเกอะญอได้ แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองก็บอกว่าเด็กดูทีวีน้อยลง บางทีใครดูทีวีมากๆ เพื่อนเขาจะมาฟ้องเรา คือ เราไม่ได้ห้าม แต่ไม่อยากให้ดูมากไป

 

            บัณฑิตบอกว่าที่การเรียนรู้ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะชุมชนเข้มแข็ง ผู้ใหญ่ในชุมชนให้การสนับสนุนเด็กและเยาวชนในการสืบสานภูมิปัญญาอย่างเต็มที่

 

             ผู้ใหญ่สนับสนุนดี ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้รักษาวัฒนธรรม เวลาที่มีสิ่งใหม่ๆ จากภายนอกเข้ามาก็บอกกัน คือ เข้ามาได้ไม่ได้ปฏิเสธทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้รับเต็มที่ อะไรเข้ามาจะประชุมพูดคุยกันก่อน ถึงผลดีผลเสีย ผู้นำที่ไปแลกเปลี่ยนนอกชุมชน ก็จะเอาข้อมูลข่าวสารที่เรียนรู้จากภายนอกมาบอกเล่า ให้คนในชุมชนร่วมตัดสินใจว่าจะรับแค่ไหนอย่างไรเหล่านี้นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เยาวชนจากหินลาดในสนใจและตื่นตัวที่จะเรียนรู้ รักษาวัฒนธรรมของตนเอง 

 

 

 

 

 

ที่มา: ภาณินี  มีผล โครงการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อการพัฒนา(yt)

 

 

 

update: 19-04-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

 

           

 

Shares:
QR Code :
QR Code