“มศว” ต้นแบบกิจการเพื่อสังคม ยกระดับมหาวิทยาลัยไทย

 

“บางประเทศที่ให้ความสำคัญกับกิจการเพื่อสังคม จะจัดตั้งโรงเรียนพิเศษเพื่อ ให้เด็กเข้ามาเรียนรู้ ก่อนออกไปเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม”

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าถึงที่มาที่ไปของการลงนามความร่วมมือ (mou) เพื่อพัฒนาต้นแบบ “สถาบันการศึกษาด้านนวัตกรรมทาง สังคมและกิจการเพื่อสังคม” ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) เพื่อยกระดับ มศว ให้เป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบกิจการเพื่อสังคมแห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดจากการที่ สสส.พยายามส่งเสริมให้ประเทศไทยมีกิจการเพื่อสังคม หรือธุรกิจที่ทำเพื่อสังคม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากหน่วยงาน องค์กร หรือบุคคล ที่เข้ามาทำธุรกิจยังมีอยู่น้อย และส่วนใหญ่มุ่งเน้นธุรกิจมากกว่าทำเพื่อสังคม ดังนั้น สสส.จึงหันมาจับมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างต้นแบบกิจการเพื่อสังคมขึ้นมา

ส่วนที่เลือก มศว นั้น ทพ.กฤษดาอธิบายว่า สสส.เล็งเห็นถึงความตั้งใจจริงของทีมผู้บริหาร ที่ต้องการผลักดันให้ มศว เป็นมหาวิทยาลัยกิจการเพื่อสังคมทั้งระบบ ไม่ใช่แค่การจัดหลักสูตรเพื่อสังคมขึ้นมาเท่านั้น สสส.จึงชักชวนมาลงนามความร่วมมือ เพื่อพัฒนา มศว สู่ต้นแบบกิจการเพื่อสังคม

“หลังจากลงนามเอ็มโอยูแล้วเราจะดำเนินงานต่อเนื่องใน 3 ส่วน ส่วนแรกคือการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมขึ้นมาผ่าน socially enterprising university โดยนำหลักสูตรกิจการเพื่อสังคมของประเทศอังกฤษมาปรับใช้ เพื่อพัฒนานิสิต มศว ให้เกิดจิตสาธารณะกับงานเพื่อสังคมผ่านรูปแบบอาสาสมัคร การฝึกงาน หรือการจัดการเรียนการสอนร่วมกับองค์กร เพื่อสร้าง มศว ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาต้นแบบที่รับใช้สังคมไทย”

ต่อมาคือ การพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งผู้จัดการสำนักงานกองทุน สสส. อธิบายว่าหลักสูตรการเรียนการสอนของ มศว ต้องสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และการพัฒนางานด้านสังคม ซึ่งในช่วงแรกนี้จะสร้างความร่วมมือกับคณะ-ภาควิชาที่มีความพร้อมก่อน และสุดท้ายคือร่วมมือพัฒนาแนวคิดนี้ ให้ มศว สามารถก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบกิจการเพื่อสังคม แห่งแรกของเอเชียให้ได้

ฟาก ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุณยะลีพรรณ อธิการบดี มศว ผู้จรดปากกาลงนามพันธสัญญาผลักดัน มศว สู่ต้นแบบ social enterprise เล่าถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัยกับงานด้านสังคมว่า ทุกวันนี้สถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก อาทิ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด หรือมหาวิทยาลัยนอร์ทแฮมตัน ต่างให้ความสำคัญและนำแนวคิดกิจการเพื่อสังคม มาปรับเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนของตนเอง ที่สำคัญมหาวิทยาลัยเหล่านั้นไม่ใช่แค่เปิดสอนเป็นรายวิชา หรือแค่จัดหลักสูตรอบรมเท่านั้น แต่พวกเขาใช้วิธีบูรณาการแนว ความคิดเข้ากับทุกภาคส่วน หรือที่เรียกว่า socially enterprising university

อธิการบดี มศว บอกด้วยว่า เนื่องจาก ขณะนี้ไทยยังไม่มีมหาวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จเรื่องการบูรณาการแนวความ คิดกิจการเพื่อสังคมเหมือนในต่างประเทศ ฉะนั้นความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่ มศว จะได้ศึกษาแนวคิด รูปแบบการดำเนินงาน เพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย

“มศว จะเริ่มต้นที่ภาควิชาบริหารธุรกิจ คณะสังคมศาสตร์ก่อนในปลายปีนี้ก่อน สอดแทรกเรื่องนี้เข้าไปในวิชาทั่วไปที่นิสิตปี 1 ทุกคณะต้องเรียนต่อไป พร้อมกันนี้จะพยายามเปิด school for social entrepreneur หรือโรงเรียนสำหรับผู้ประกอบการทางสังคม ให้ได้เร็วที่สุดซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นนิสิต มศว ทุกคณะก็จะได้เรียนรู้รายวิชาเหล่านี้”

โครงสร้างนี้จะวางให้นิสิต มศว เป็นฟันเฟืองสำคัญในการไปสู่เป้าหมาย แต่ ผศ.นพ.เฉลิมชัยกลับต้องการพุ่งเป้าไปที่ประชาชนทั่วไปมากกว่า โดยอธิการบดีไฟแรงเล่าว่า คนที่เข้ามาเรียนไม่จำเป็นต้องเป็นนิสิต มศว แค่จบ ป.4 ก็สามารถเรียนได้ แต่ต้องเข้ารับการทดสอบ 2 ข้อคือ แรงบันดาลใฝ่ดี และความคิดในการบริหารจัดการ โดย เดือนเม.ย.นี้ มศว จะเดินทางไปอังกฤษเพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์ school for social entrepreneur ก่อนนำกลับมาปรับให้เหมาะสมกับประเทศไทย

และถึงจะต้อง ใช้เวลาหลายปีกว่าโครงการดังกล่าว จะเห็นเป็นรูปธรรม แต่ ผศ.นพ.เฉลิมชัย เชื่อว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จจะเกิดรูป แบบธุรกิจใหม่ในประเทศไทย เหมือนอย่างประเทศอังกฤษซึ่งมีธุรกิจเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จอยู่ถึง 68,000 แห่ง หลังจากริเริ่มมาได้ประมาณ 10 ปี

โดยอธิการบดี มศว ยกตัวอย่างกิจการ 2 อย่างจากทั้งหมด 15 อย่างในประเทศอังกฤษที่สร้างความประทับใจเมื่อครั้งเดินทางไปศึกษาดูงาน เรื่องแรกคือการตั้งสำนักพิมพ์ เพื่อให้คนไร้บ้านได้มีงานทำผ่านการขายนิตยสาร ที่ไม่มีวางในแผงหนังสือทั่วไป ตามสี่แยกต่างๆ วันนี้สำนักพิมพ์ดังกล่าวมียอดพิมพ์ 300,000-500,000 เล่มต่อเดือน

“เรื่องต่อมาผมประทับใจมากๆ คือเดิมทีคนจนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงกว่าคนรวย เนื่อง จากการไฟฟ้าจะหักเงินจากบัญชีของคน รวยได้เลย ขณะที่คนจนต้องซื้อบัตรเติม เงินมาเสียบที่ตัวมิเตอร์ ไฟในบ้านถึงจะติด แถมมิเตอร์ตัวนี้การไฟฟ้าก็คิดเงินอีก จึงมีคนริเริ่มตั้งบริษัทออกบิลค่าไฟฟ้า เพื่อช่วยให้คนจนเสียเงินค่าไฟฟ้าต่อยูนิตเท่าคนรวย ที่น่าทึ่งคือบริษัทนี้ใช้คนทำงาน 6 คน แต่มีรายได้ปีๆ หนึ่งหลายสิบล้านบาทเลยทีเดียว” ผศ.นพ.เฉลิมชัยเล่าตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมทิ้งท้าย

เพราะการศึกษาคือความเจริญงอกงาม จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “กิจการเพื่อสังคม” จะเกิดขึ้นเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเราท่านในเร็ววัน

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด โดย พลาดิศัย จันทรทัต

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code