มรภ.เชียงใหม่ ศึกษาหลักการจัดการชุมชนอย่างมีส่วนร่วม
ที่มา : ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบน
ภาพประกอบจากศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบน
มรภ.เชียงใหม่ ศึกษาดูงาน หลักการจัดการชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงป่ายาง ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 นายศิรเศรษฐ เนตรงาม อาจารย์ประจำสาขาวิชา พร้อมด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบน เดินทางไปศึกษาดูงาน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับวิถีชุมชน ในพื้นที่บ้านป่ายาง ตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านป่ายาง เพื่อให้นักศึกษาได้นำความรู้ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากชุมชนตัวอย่าง และได้รับประสบการณ์จากการปฏิบัติของชุมชนในสถานที่จริง รวมทั้งนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในการเรียนรู้ในห้องเรียนและเกิดกระบวนการการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ตลอดจนการนำไปปรับใช้ในชีวินประจำวัน
บ้านป่ายางเป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีสมาชิกเพียง 165 ครัวเรือน ตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ของหมู่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม และมี “ลำน้ำจัน” และ “ลำน้ำคี” เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ไหลผ่านและหล่อเลี้ยงชุมชน ทำให้การทำนาเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านป่ายาง
ในอดีตชุมชนบ้านป่ายางก็ไม่แตกต่างไปจากชุมชนเกษตรกรรมอื่นๆ ในทุกพื้นที่ของประเทศที่ต้องประสบกับปัญหาเรื่องการผลิตในภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับราคาผลผลิตที่ตกต่ำ หนำซ้ำยังไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตของตนเองได้ เพราะการตลาดถูกผูกขาดจากพ่อค้าคนกลาง ที่ร้ายไปกว่านั้น หากปีไหนที่ชาวบ้านป่ายางต้องเจอกับภัยธรรมชาติทั้งภัยแล้งหรือน้ำหลาก ก็จะยิ่งส่งผลกระทบกับรายรับและรายจ่ายของแต่ละครัวเรือนมากขึ้นไปอีก
นายเกษม วงศ์สุภา แกนนำชุมชนบ้านป่ายาง ได้กล่าวว่า เราพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในทุกด้าน จุดเด่นคือเราพัฒนาคน พัฒนาจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียว โดยกระจายอำนาจให้ทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน เมื่อทุกคนมีใจไปในแนวทางเดียวกันก็จะสามารถพัฒนาได้ง่ายยิ่งขึ้นทั้งนี้แกนนำชุมชนได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในและนอกชุมชนจึงได้น้อมนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเริ่มปรับใช้และปฏิบัติในชุมชน เพราะเชื่อว่าหากทุกคนในชุมชนสามารถปฏิบัติได้ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาต่างๆ และช่วยเพิ่มความพอมี พอกิน พอใช้ ของชาวบ้านควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมประเพณีและอาชีพของชาวบ้านป่ายาง โดยมีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและเป็นแผนที่ทุกคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง มีการกำหนดแผนงาน กิจกรรม และโครงการต่างๆ ในการพัฒนาหมู่บ้านอย่างชัดเจน โดยได้น้อมนำแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการพึ่งพาตนเอง โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม และการเรียนรู้ร่วมกัน นำปัญหาที่ชุมชนประสบอยู่มาวิเคราะห์เพื่อค้นหาศักยภาพของชุมชน ส่งผลให้เกิดแผนงานและแนวทางการแก้ไขปัญหาของชุมชนครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและภูมิปัญญา
การศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาทุกคนตระหนักและเห็นความสำคัญของ ดิน น้ำ ป่า อันเป็นทรัพยากรที่มีค่าของชุมชน ทุกวันนี้ชาวบ้านป่ายางหันมาทำเกษตรกรรมโดยไม่ใช้สารเคมี ให้ความสำคัญ กับการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีธรรมชาติ หันมาทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และมีการสร้างแหล่งน้ำ เพื่อใช้ในภาคการเกษตรและบริโภคในชุมชนถึง 9 แห่งทั้งฝายกั้นน้ำ คลองส่งน้ำ บ่อบาดาล และแหล่งน้ำสาธารณะ มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ทุกคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นต้นน้ำหรือปลายน้ำ ได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และร่วมกันดูแลรักษาเฝ้าระวังป่าชุมชน ให้เป็นแหล่งอาหารและยารักษาโรคโดยมีกฎระเบียบการเข้าใช้ประโยชน์ที่ชัดเจน
นายเกษม วงศ์สุภา แกนนำชุมชนบ้านป่ายาง สรุปว่า “ความพอเพียงของชุมชนบ้านป่ายางคือ พอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ ทำเกษตรกินก็มีความสุข เน้นความสุขทางใจ พึงพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ เราเน้นสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดีก็มีความสุขได้”