“มจร.-สงฆ์พะเยา” ใช้หลักพุทธวิถี ลดเหล้า-บุหรี่
ที่มา : ข่าวสด
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ข่าวสด และแฟ้มภาพ
สืบเนื่องจากปัจจุบันเครือข่ายทางสังคมได้ตระหนักถึงพิษภัยของ "เหล้า-บุหรี่" จึงได้มีการขับเคลื่อนการเสริมสร้างสุขภาวะ โดยหน่วยงานทั้ง 9 ของจังหวัดพะเยา จึงได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ "โครงการเสริมสร้างสุขภาวะและเครือข่ายทางสังคมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเชิงพุทธบูรณาการ"
ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา และคณะสงฆ์จังหวัดพะเยา จัดโครงการกลยุทธ์การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน ลดพฤติกรรมเสี่ยงด้วยกลยุทธ์เชิงพุทธบูรณาการในจังหวัด "คนพะเยา ร่วมใจ ห่างไกลภัยบุหรี่"
โดย 9 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย คณะสงฆ์จังหวัดพะเยา จังหวัดพะเยา กลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาจังหวัดพะเยา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา (มจร.วข.พะเยา) สำนักงานพระพุทธศาสนาสำนักงานศึกษาธิการ สำนักงานวัฒนธรรมและสำนักงานสาธารณสุขของจังหวัดพะเยา
พระราชปริยัติ เจ้าคณะจังหวัดพะเยา และรองอธิการบดีมหาจุฬาฯ วิทยาเขตพะเยา กล่าวว่า ในปัจจุบันพิจารณาพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะจากการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าอัตราการบริโภคทั้งสองอย่างมีอัตราลดลง ตลอดช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา การดำเนินงานวิจัยการเสริมสร้างสุขภาวะและเครือข่ายทางสังคม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเชิงพุทธบูรณาการ จึงมุ่งเน้นการนำองค์ความรู้และแนวปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องมือในการสร้างสุขภาวะและลดโอกาสปัจจัยเสี่ยง ที่จะนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ
มีสาระสำคัญของการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.การสร้างความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงพันธกิจการส่งเสริมสุขภาวะกับกิจการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ได้เป็นอย่างดี
2.การดำเนินงานเพื่อยกระดับโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 และแผนแม่บทการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาซึ่งกำหนดแนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 6 ด้าน
3.การเสริมสร้างภาคีเครือข่าย ได้พัฒนาให้คณะสงฆ์เห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพผ่านการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์
และ 4.การสร้างกระบวนการพัฒนากิจกรรมเสริมสร้างสุขภาวะในลักษณะที่จะสามารถสร้างเครือข่ายอย่างยั่งยืนร่วมกับคณะสงฆ์โดยเฉพาะ ในมิติกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี และกิจกรรมลดปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพ ยังจำเป็นต้องบูรณาการพันธกิจและพัฒนากิจกรรมให้ทันกับกระแสการเติบโตของปัจจัยเสี่ยงอย่าง ต่อเนื่อง"
จากความสำคัญของปัญหา คณะสงฆ์จังหวัดพะเยาร่วมกับมหาจุฬาฯ วิทยาเขตพะเยา สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์และคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาฯ และหน่วยงานภาคีหลัก ประกอบด้วย โครงการสร้างเสริมความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา "หมู่บ้านรักษาศีล 5" ของมหาเถรสมาคม คณะสงฆ์ 26 จังหวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยจัดโครงการเสริมสร้างสุขภาวะและเครือข่ายทางสังคมลดปัจจัยเสี่ยงเชิงพุทธบูรณาการ ภายใต้ "พุทธวิถี" เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และกระบวนการ เสริมสร้างสุขภาวะในการลดปัจจัยเสี่ยงเชิงพุทธบูรณาการ เสริมสร้างเครือข่ายสุขภาวะทางสังคมโดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา สนับสนุนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 และโครงการสวดมนต์ข้ามปี และพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาวะ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา การทำสวนสมุนไพรพุทธวิถี เป็นต้น
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เล็งเห็นอันตรายของบุหรี่และสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ และผู้ที่ไม่สูบแต่ต้องมารับควันบุหรี่ด้วย จึงกำหนดให้มีวันงดสูบบุหรี่โลก วันที่ 31 พ.ค.ของทุกปี เพื่อกระตุ้นให้เลิกสูบบุหรี่ ให้รัฐบาล ชุมชน และประชากรโลก ตระหนักถึงความสำคัญ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งประกาศให้มีการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สื่อถึงการสูบบุหรี่ที่เป็นเหมือนโรคระบาด
การดำเนินงานวิจัยการเสริมสร้างสุขภาวะและเครือข่ายทางสังคมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเชิงพุทธบูรณาการ โดยมุ่งเน้นการนำองค์ความรู้และแนวปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างสุขภาวะและลดโอกาสปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพด้วย ดังนั้น จึงผนวกบทบาทหน้าที่เข้าด้วยกัน เพื่อทุกชีวิตที่สดใสไร้พิษภัยจากบุหรี่