ภูเก็ตโมเดล ลดอุบัติเหตุ สู่เมืองปลอดภัย

ที่มา : เว็บไซต์ thainews.prd.go.th


 thaihealth


แฟ้มภาพ


สสส. -สกอ. และภาคีเครือข่าย ชื่นชมความสำเร็จของจังหวัดภูเก็ต ในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรได้ผลดี ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบสู่การเป็นเมืองปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว


ที่โรงแรมอังสนาลากูนา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สกอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดประชุมขับเคลื่อนสื่อสารประชาสัมพันธ์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคีสื่อและเครือข่าย ร่วมถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร สร้างความตระหนักขับขี่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน


นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวและได้รับความนิยมอย่างมากทั้งคนไทยและต่างชาติ จึงทำให้แต่ละวันปริมาณรถค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงหยุดยาวหรือเทศกาลต่างๆ ส่งผลให้มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดังนั้นทางจังหวัดจึงมียุทธศาสตร์สร้างความปลอดภัยทางถนน โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์สร้างภาคีเครือข่าย มีมาตรการองค์กร มีการกวดขันวินัยจราจรเคร่งครัดและรณรงค์สวมหมวกนิรภัย


ทำให้ รถ,คน, ถนนปลอดภัยและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่ทั่วโลกขณะนี้ ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโรค สวมหมวกนิรภัยต้องใส่แมสทุกครั้ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยทั้งเรื่องการขับขี่ปลอดภัย ชีวิตปลอดภัยจนนำไปสู่การเป็น “เมืองปลอดภัย” สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีรายได้และเกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืนต่อไป


นายพรหมมินทร์ กันธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สกอ.) กล่าวว่า จากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ ThaiRSC ของบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 ตุลาคม 2563 มีผู้เสียชีวิตสะสม 12,094 รายผู้บาดเจ็บ 793,839 ราย รวมทั้งหมด 805,933 ราย โดยในส่วนของจังหวัดภูเก็ตมีสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2563) มีผู้บาดเจ็บ 14,123 ราย เสียชีวิต 78 ราย และข้อมูลพบว่า จากการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นรณรงค์สวมหมวกนิรภัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการสวมหมวกนิรภัยของจังหวัดภูเก็ตเพิ่มสูงขึ้น เป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร


ดังนั้นการสร้างกระแสรับรู้และความตระหนัก ในการขับขี่ปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่ โดยอาศัยพลังสื่อมวลชนและเครือข่ายจึงสำคัญ สื่อต้องช่วยกันวิเคราะห์เจาะลึกถึงปัญหาสาเหตุที่แท้จริง นำเสนอข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสามารถลดอุบติเหตุทางถนนในพื้นที่ลงได้


ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมขับเคลื่อนสื่อสารประชาสัมพันธ์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประกอบด้วยสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สกอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย สมาคมสื่อช่อสะอาด สมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องภาคใต้ ร่วมกว่า 70 คนร่วมประชุมฯ

Shares:
QR Code :
QR Code