‘ภูเก็ตโมเดล’ ต้นแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนของไทย
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
สธ.-สสส.-สอจร. ชู “ภูเก็ตโมเดล” ต้นแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนของไทย ลดการตายจากอุบัติเหตุได้ 50% พร้อมโชว์ศักยภาพให้ต่างชาติได้เรียนรู้ เผยเป้าหมายสำเร็จ สสส. ตั้งคณะทำงาน สอจร. บูรณาการทุกหน่วยงานแก้ปัญหาผ่าน 5 เสาหลัก เกาะติดปัญหา แก้ไขตรงจุด เน้น 4 ปัจจัยสำเร็จ บังคับใช้กฎหมายเข้มข้นใช้เทคโนโลยีทุ่นแรง-เครือข่ายสหสาขาวิชาชีพเข้มแข็ง-ระบบรักษาเยียวยาผู้บาดเจ็บ-ผู้นำกวดขันพื้นที่ แก้ไขลดจุดเสี่ยงซ้ำซาก
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่โรงแรม ฮิลตัน ภูเก็ต อาร์เคเดีย รีสอร์ท แอนด์สปา โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในพิธีปฐมนิเทศการศึกษาเพื่อการศึกษาดูงาน 3 พื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนของจังหวัดภูเก็ต ว่า อุบัติเหตุทางถนนสร้างความสูญเสียจำนวนมาก ซึ่งการลดความสูญเสียจากการบาดเจ็บทางจราจรเป็นปัญหาและวาระเร่งด่วนที่สำคัญ โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน และผลักดันให้ประเทศสมาชิกเร่งแก้ปัญหาและลดอัตราการเสียชีวิตลงให้ได้ 50% ซึ่งรัฐบาลไทยได้ร่วมประกาศทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ ผ่าน 5 เสาหลัก คือ 1.ด้านบริหารจัดการ 2.ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางถนน 3.ด้านยานพาหนะปลอดภัย 4.ด้านผู้ใช้รถใช้ถนน และ 5.ด้านการรักษาและเยียวยาหลังเกิดเหตุ โดยสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของไทย จากฐานข้อมูล 3 แหล่งสำคัญ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อมูลมรณะบัตรและหนังสือรับรองการตาย ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ในปี 2559 คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งสิ้น 22,356 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 34.4 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดย 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย และกลุ่มอายุ 15-29 ปี มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ทุกปีมีผู้พิการรายใหม่จากเหยื่ออุบัติเหตุ 5,000 คน ในทุกวันมี 42 ครอบครัวสูญเสียสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และในทุกวันยังมีอีก 15 ครอบครัวที่ต้องดูแลสมาชิกพิการจากอุบัติเหตุไปตลอดชีวิต ความสูญเสียเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข ทั้งการทุ่มงบประมาณและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างความเสียหายเศรษฐกิจโดยรวมกว่าสองแสนล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ปัญหาอุบัติเหตุจราจรเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ หากดำเนินให้การแก้ไขปัญหาได้เร็วจะลดความสูญเสียเหล่านี้ลงได้ ที่สำคัญประเทศไทยจะหลุดจากอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูงที่สุดในโลกได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย สสส. ได้สนับสนุนการทำงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ปี 2546 สนับสนุนข้อมูลวิชาการเพื่อนำไปสู่การเสนอนโยบายสาธารณะ สร้างเครือข่ายประชาคมทำงานกับชุมชน และรณรงค์สังคมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีไม่ใช่แค่เฉพาะเทศกาลสำคัญเท่านั้น สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของ จ.ภูเก็ต ซึ่งเคยติดอันดับมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นลำดับ 1 ใน 5 ของประเทศเมื่อปี 2540-2549 ด้วยการทำงานที่เข้มแข็งโดย สสส. สนับสนุนการทำงานผ่าน “คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด” (สอจร.) มีทุกหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจราจร ทำให้วิเคราะห์และแก้ไขได้ตรงเป้าหมายชัดเจน และทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จ.ภูเก็ต สามารถลดอัตราการตายเกือบ ร้อยละ 50 โดยเริ่มจากร่วมกันวิเคราะห์และแก้ไข “จุดเสี่ยง” ที่พบบ่อยซ้ำซาก ทำให้ลดการตายของภูเก็ตลงได้ ร้อยละ 30 ขณะที่ตำรวจเน้นการบังคับใช้กฎหมายทั้งการสวมหมวกนิรภัย ดื่มแล้วขับ ตรวจจับความเร็ว โดยใช้เทคโนโลยีมาเสริมการทำงาน เช่น เครื่องยิงตรวจวัดความเร็ว (Speed Gun) กล้องตรวจจับผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (Red Light Camera) เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ส่งผลให้จำนวนการเรียกตรวจและดำเนินคดีดื่มแล้วขับเพิ่มจากเดิมกว่า 10 เท่า โดยในปี 2559 จ.ภูเก็ต สามารถลดจำนวนผู้บาดเจ็บลงได้ ร้อยละ 3.5 และลดผู้เสียชีวิตลงได้ ร้อยละ 8.8
“ทุกวัน มีรถออกใหม่จำนวน 2,332 คัน และมีรถจดทะเบียนทั้งหมดกว่า 35 ล้านคัน ในขณะที่เครื่องตรวจวัดความเร็วมีเพียง 1-2 เครื่องต่อจังหวัด ทำให้ปัญหาเรื่อง ความเร็ว ยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดเหตุและการเสียชีวิต ผู้ขับขี่ 1 ใน 5 ที่มีทัศนะว่า ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถได้ ถ้ามีสติ และ 1 ใน 3 ระบุว่า เคยดื่มแล้วขับในรอบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ทุกๆ วันมี 8-10 คนที่ต้องตายบนถนนจากคนดื่มแล้วขับ การขับเคลื่อนงานแบบภาคีเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพ ทำให้ลดอัตราความสูญเสียลง และพิสูจน์ว่า หากจุดจัดการระดับพื้นที่ ซึ่งใกล้ชิดปัญหามากที่สุด มีความเข้มแข็ง จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังทุกวัน ประเทศไทยจะลดการตายลงได้เกินครึ่ง” ดร.สุปรีดา กล่าว
นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยทางถนน และรองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายถือเป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนของ จ.ภูเก็ต ลดลง โดยระยะแรกในปี 2553 ได้ใช้มาตรการสวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 100 บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ควบคู่การประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง ทำให้อัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบาดเจ็บที่ศีรษะลดลงจาก ร้อยละ 37.1 ในปี 2554 เหลือ ร้อยละ 20.6 ในปี 2558 ที่สำคัญ มีจุดเด่นคือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎจราจร สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและลดข้อจำกัดของกำลังคนที่ไม่เพียงพอได้มาก
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นต้นแบบให้แก่นานาประเทศในเรื่องระบบการดูแลหลังเกิดอุบัติเหตุ (Post crash care) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 เสาหลักขององค์การสหประชาชาติตามแผนทศวรรษความปลอดภัยทางถนน ปี 2554-2563 การทำงานของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) จ.ภูเก็ต ในปี 2560 มีรถพยาบาล (Ambulance) 101 คัน มีจุดปฏิบัติการ 32 จุดทั่วจังหวัด มีเจ้าหน้าที่กู้ชีพทุกระดับรวม 650 คน มีศักยภาพรับมือทั้งในภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ โดยสถิติปี 2560 สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุหลังรับแจ้งเหตุได้ภายใน 10 นาที สูงถึง ร้อยละ 79.2 ซึ่งการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว มีส่วนในการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
นพ.ทวีศักดิ์ นพเกสร กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า เทศบาลเมืองกะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยนายกเทศมนตรีให้ความสนใจต่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยว มีนโยบายสำคัญๆ 1.แก้ไขจุดเสี่ยง โดยปรับสภาพถนนให้ปลอดภัย ติดไฟส่องสว่าง 2.จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย เช่น ปลดป้ายโฆษณาที่กีดขวางทัศนวิสัยในการมองเห็น 3.มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่เทศกิจ จับ-ปรับ กรณีที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น รถบรรทุกทำเศษหินดินตกหล่นบนถนน 4.สร้างความตระหนัก ด้านความปลอดภัย รณรงค์สวมหมวกนิรภัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ส่งผลให้ได้รับรางวัล Prime Minister Road Safety Awards ด้านความปลอดภัยทางถนนและได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดีเมื่อปี 2558 โดยมีตัวอย่างการจัดการที่สำคัญๆ