‘ภาษีบุหรี่-เหล้า’ ต้องคู่ขนานมาตรการ ‘สกัด-ลดละเลิก’

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 


'ภาษีบุหรี่-เหล้า' ต้องคู่ขนานมาตรการ 'สกัด-ลดละเลิก' thaihealth


หลังจากกฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา ทำให้โครงสร้างอัตราภาษีในกลุ่มสินค้าที่กระทบต่อสุขภาพมีราคาขยับตัวสูงขึ้นทั้งในส่วน "ยาสูบ เบียร์ สุรา"รวมไปถึง "เครื่องดื่มที่มีค่าความหวาน"ซึ่งยังไม่เคยมีการจัดเก็บภาษีก็ได้เริ่มจัดเก็บไปด้วย เพราะรวมอยู่ในกลุ่มสินค้าทำลายสุขภาพเช่นกัน


โครงสร้างอัตราภาษีใหม่ทางกรมสรรพสามิตตั้งเป้าว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2% หรือราว 1.2 หมื่นล้านบาท คาดว่าส่วนใหญ่จะมาจากสินค้าสุราและเบียร์ประมาณ 5 พันล้านบาท เครื่องดื่มที่มีค่าความหวาน 2.5 พันล้านบาท บุหรี่ 2.1 พันล้านบาท และรถยนต์ 2.2 พันล้านบาท


สำหรับภาษีรถยนต์ในภาพรวมไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักเพราะปรับเพิ่มประมาณ 2% แต่อาจมีผลกระทบในส่วนของรถยนต์นำเข้าเพราะเมื่อใช้ราคาขายปลีกมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีทำให้ภาระภาษีเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์นำเข้าที่มีราคา 10 ล้านบาท จะมีภาระภาษีเพิ่มประมาณ 5 แสนบาท ส่วนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศที่มีราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท ภาระภาษีจะเท่าเดิม


ขณะเดียวกันได้นำเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานอยู่ในพิกัดรายการที่ต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งจะมีภาระภาษี 0.32-0.90 บาทต่อภาชนะบรรจุ กรณีน้ำผักผลไม้จะมีภาระภาษี 0.06-0.54 บาทต่อภาชนะบรรจุ ส่วนชาเขียว-กาแฟ จะมีภาระภาษี 1.13-2.05 บาทต่อภาชนะบรรจุ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มีภาระภาษีลดลง 0.25-0.36 บาทต่อภาชนะบรรจุ หรือลดลง 2-3% เช่น น้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาล ส่วนน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลภาระภาษีเพิ่ม 0.13-0.50 บาทต่อภาชนะบรรจุ


นอกจากนี้ในส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ มีภาระภาษีจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 0.50-2.66 บาทต่อภาชนะบรรจุ โดยเบียร์ราคาแพงมีภาระภาษีลดลง 0.90-2 บาทต่อภาชนะบรรจุ ส่วนสุราขาว ภาระภาษีเพิ่มตั้งแต่ 0.84-3.50 บาทต่อภาชนะบรรจุโดยขึ้นอยู่กับขนาดและดีกรี ส่วนสุรากลั่น มีภาระภาษีเพิ่ม 8-30 บาทต่อภาชนะบรรจุ สุรากลั่นนำเข้ามีภาระภาษีลดลงประมาณ 3-26 บาทต่อภาชนะบรรจุ ส่วนสินค้าไวน์ อาทิ ไวน์นำเข้ามีภาระภาษีเพิ่ม 110 บาทต่อขวด ส่วนไวน์ที่มีราคาต่ำกว่า 1 พันบาทต่อขวด ภาระภาษีลดลง 25 บาทขึ้นไป


ส่วนของบุหรี่ หากราคาถูกมีภาระภาษีเพิ่ม 4-15 บาทต่อซอง ส่วนบุหรี่ราคาแพง หรือมีราคา 60 บาทต่อซองขึ้นไปจะมีภาระภาษีเพิ่ม 2-14 บาทต่อซอง ขณะที่ยาเส้นไม่ว่าพันธุ์พื้นเมืองหรือไม่ใช่จะเสียภาษีเท่ากันหมด เพราะเป็นสินค้าทำลายสุขภาพ


ทั้งนี้ การปรับเพดานภาษีเพื่อให้สินค้าบาปและทำลายสุขภาพมีราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นหลักการใหญ่ของภาครัฐที่ต้องการให้คนสูบบุหรี่และดื่มเหล้าน้อยลง โดยเฉพาะบุหรี่ทางภาครัฐตั้งเป้าจะทำให้บุหรี่ราคาถูกและบุหรี่ราคาแพงมีช่องว่างราคาแคบลงตามหลักสากลซึ่งจะช่วยลดการย้ายกลุ่มไปสูบบุหรี่ที่ราคาถูกกว่าดังที่ผ่านมาในอดีต แต่ก็มีนักวิชาการหลายแห่งได้แสดงความคิดเห็นว่าภาษีใหม่ดังกล่าวจะช่วยลดจำนวนนักสูบ-นักดื่มได้จริงหรือไม่ เพราะจากสถิติย้อนหลังไป 2-3 ปีก็พบว่าการจัดเก็บภาษีเบียร์ สุรา ยาสูบ แทบจะไม่แตกต่างกันเลยหรือลดลงก็เป็นตัวเลขไม่มากนัก


ขณะที่ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรเมื่อปี 2557 นับเป็นครั้งที่ 17 โดยทำการสำรวจทุก 3 ปีพบว่าในจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 54.8 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ 11.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20.7 โดยมีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ 10 ล้านคน หรือร้อยละ 18.2 และเมื่อพิจารณาตามกลุ่มวัยพบว่ากลุ่มวัยทำงาน อายุ 25-59 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด ร้อยละ 23.5 รองลงมาคือกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 16.6 และกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี ร้อยละ 14.7  ตามลำดับ


นอกจากนี้พบว่าอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเป็นประจำคือ 17.8 ปี ขณะที่อายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่เป็นปกตินิสัยคือ 19.5 ปี เมื่อเทียบกับปี 2550 พบว่าทุกกลุ่มวัยมีอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่น้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุน้อยลงค่อนข้างมาก คือ จากปี 2550 เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุ 16.8 ปี แต่ในปี 2557 ลดลงเป็น 15.6 ปี สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อบุหรี่มาสูบเองเฉลี่ยต่อเดือนโดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 470 บาทในกลุ่มวัยทำงาน ส่วนกลุ่มเยาวชน 409 บาท และกลุ่มผู้สูงอายุ 208 บาท


สำหรับพฤติกรรมการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่าในจำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 54.8 ล้านคน เป็นผู้ดื่มสุราประมาณ 17.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 32.3 โดยกลุ่มวัยทำงาน อายุ 25-59 ปี มีอัตราการดื่มสุราสูงกว่ากลุ่มอื่น มีจำนวนร้อยละ 38.2 เมื่อเปรียบเทียบอัตราการดื่มของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป พบว่าในช่วงปี 2547-2550 อัตราการดื่มมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 32.7 เป็นร้อยละ 30.0 แต่ในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 32.0 และลดลงเหลือรร้อยละ 31.5 ในปี 2554 ส่วนในปี 2557 อัตราการดื่มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 32.3


สาเหตุสำคัญที่เริ่มดื่มพบสาเหตุหลักๆ มี 3 สาเหตุ สาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งคือเพื่อเข้าสังคม/การสังสรรค์ ร้อยละ 41.9 อันดับสองคือตามอย่างเพื่อน/เพื่อน ชวนดื่ม ร้อยละ 27.3 และอันดับสามคืออยากทดลองดื่ม ร้อยละ 24.4


ทั้งนี้สถิติดังกล่าวเมื่อปี 2557 พอจะเป็นตัวสะท้อนพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรได้ ซึ่งพบว่าผู้เริ่มสูบมีแนวโน้มอายุน้อยลง ส่วนการดื่มสุราก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน


เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้จัดประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 หัวข้อ "บุหรี่ : ภัยคุกคามต่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ โดยชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาประเทศไทยยุค 4.0 จะสำเร็จได้ยากหากประชาชนและเยาวชนยังเสพติดบุหรี่มากมายดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพราะบุหรี่ได้ทำลายสุขภาพและชีวิตของวัยแรงงานซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ


บุหรี่ทำให้เกิดโรคมะเร็งถึง 12 ชนิด รวมถึงโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง  โรคถุงลมโป่งพอง เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีคนไทย 1 ล้านคนที่มีชีวิตอยู่แต่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่เกิดจากบุหรี่ และบุหรี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึงปีละ  5 หมื่นคน คิดเป็นการเสียชีวิตวันละ 140 คน และการสูญเสียจากการสูบบุหรี่คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ถึงปีละเกือบ 75,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.78% ของจีดีพีประเทศ


นอกจากนี้บุหรี่กำลังจะทำลายเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศอย่างรุนแรง โดยผลสำรวจในปี 2557 พบว่ามีเยาวชนถึง 2 แสนคนเป็นนักสูบหน้าใหม่


หรือคิดเป็น 547 คนต่อวัน และยังพบว่าเยาวชนไทยที่ติดบุหรี่มีพฤติกรรมเสี่ยงอีกหลายประการที่เพิ่มขึ้นกว่าเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่ เช่น ดื่มสุรา 3.5 เท่า ใช้ยาเสพติด 17.0 เท่า เที่ยวกลางคืน 3.2 เท่า  มีเพศสัมพันธ์ 3.7 เท่า และเล่นการพนัน 3.3 เท่า โดยเรียกร้องให้ทุกส่วนร่วมกันให้ความสำคัญต่อปัญหาเรื่องนี้


การปรับขึ้นภาษีบาปอาจเป็นมาตรการหนึ่งในการลดผู้บริโภคและสกัดนักสูบ-นักดื่มหน้าใหม่ได้ แต่ก็ดูเสมือนว่ายังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ


จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องให้ความ สำคัญกับแนวทางมาตรการการป้องกัน "นักสูบ-นักดื่มหน้าใหม่" ให้มากขึ้น พร้อมร่วมมือกับองค์กรและภาคประชาสังคมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชน รุ่นใหม่เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ส่วนสิงห์อมควัน-นักดื่มในวัยอื่นนั้นก็คงต้องพึ่งการสร้างแรงจูงใจเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้ "ลดละเลิก" ให้ได้


"ขึ้นภาษีบาปเป็นมาตรการหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กับการสกัดนักสูบ-นักดื่มหน้าใหม่ และจูงใจผู้บริโภคบุหรี่เหล้าเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกให้ได้"

Shares:
QR Code :
QR Code