ภาวะ PTSD ความผิดปกติทางอารมณ์หลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง
ที่มา : กรมการเเพทย์
เเฟ้มภาพ
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เผยรายละเอียดภาวะ PTSD ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบประสาทของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับภาวะผิดปกติทางด้านจิตใจหลังรับข่าวสารผ่านสื่อและโซเชียลมีเดียเรื่องเหตุกราดยิงภายในศูนย์เด็กเล็กฯ จ.หนองบัวลำภู ส่งผลให้หลายท่านมีอารมร์หดหู่ จึงควรมีการสำรวจจิตใจของแต่ละท่านว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ในระดับใด
สำหรับอาการป่วยทางจิตจากภาวะเครียดที่เจอเหตุการณ์สะเทือนใจนั้นจะแสดงอาการออกมา 2 ระยะ โดยระยะแรกเกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังเหตุการณ์เรียกว่า Acute Stress Disorder (ASD) หรือ โรคเครียดเฉียบพลัน จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 2 คือหลังเกิดเหตุการณ์มาแล้ว มากกว่า 1 เดือน ขึ้นไป ที่เรียกว่า Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD)
PTSD เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น อยู่ในเหตุวินาศกรรม ภัยพิบัติ การก่อการจลาจล การฆาตกรรม สงคราม การปล้นฆ่า ข่มขืน เป็นต้น หรือบางคนอาจจะไม่ได้ประสบพบเหตุร้ายด้วยตัวเอง แต่ว่าเป็นผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในสถาณการณ์นั้น ๆ หรืออาจเป็นผู้ที่เสพข่าวสารทางช่องทางต่างๆ แล้วรู้สึกตื่นกลัวตามไปด้วย จนเกิดความเครียดและมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตตามมา ซึ่งผู้ที่ได้รับบาดแผลทางจิตใจจากเหตุเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษา
PTSD มีลักษณะอาการสำคัญ 4 อย่าง คือ
1. เหตุการณ์นั้นตามมาหลอกมาหลอน (Re-experiencing) เห็นภาพเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นแล้วผุดขึ้นมาซ้ำๆอยู่บ่อยๆ ทำให้รู้สึกเหมือนกลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำไปซ้ำมาจนตกใจกลัว (Flash Back)
2. คอยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์ (Avoidance) กลัวสถานที่หรือสถานการณ์หลังจากประสบเหตุนั้น ๆ หลีกเลี่ยงที่จะคิดและรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ ไม่กล้าเผชิญกับสิ่งที่จะส่งผลทำให้กระทบกระเทือนต่อจิตใจ เช่น ภาพข่าวเหตุการณ์ การพูดถึงจากบุคคลอื่น
3. มีความรู้สึกนึกคิดในทางลบ (Negative alteration of cognition and mood) คือ การไม่มีอารมณ์ในทางบวก ไม่มีความสุขและไม่สนใจที่จะร่วมกิจกรรมนั้น ๆ การรู้สึกแปลกแยกจากผู้อื่น มีความเชื่อและคาดหวังที่เป็นไปในทางลบอย่างต่อเนื่อง มีการตีความขยายออกไปในทางลบ บางรายมีความคิดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ซึ่งความคิดดังกล่าวจะนำไปสู่การตำหนิตัวเองและคนอื่น ส่งผลให้มีอารมณ์ฝังใจในทางลบ รู้สึกโกรธ อับอาย หวาดกลัวและรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา
4. อาการตื่นตัวมากเกินไป (Hyperarousal symptoms) เป็นอาการคอยจับจ้อง คอยระวังตัว ตื่นตัว และมักมีอาการหงุดหงิด ตกใจง่าย โกรธง่าย รวมถึงสะดุ้งและผวาง่ายขึ้นเวลาอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง ส่งผลให้ขาดสมาธิ นอนหลับไม่สนิท หลับยาก หรือชอบสะดุ้งตื่นในขณะที่นอนหลับ
ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่เป็น PTSD ยังอาจมีอาการอื่นได้อีก เช่น ซึมเศร้า โทษตัวเองว่ามีส่วนทำให้เกิดเหตุร้าย หรือรู้สึกผิดที่หนีเอาตัวรอด (Survivor guilt) วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ พึ่งสารเสพติดต่างๆ เพื่อต้องการให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น หงุดหงิดง่าย ทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย
การรักษา PTSD นั้น เน้นการทำจิตบำบัดร่วมกับการรักษาด้วยยาโดยปัจจุบันปัจจุบันการใช้ยาต้านเศร้ากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitor(SSRIs) มีประสิทธิภาพในรักษาในผู้ใหญ่ ยังขาดข้อมูลสนับสนุนทางงานวิจัยในเด็ก ดังนั้นการใช้ยาในเด็กและวัยรุ่นควรจะพิจารณาเป็นราย ๆไป
อย่างไรก็ตามผู้ที่ประสบเหตุการณ์ร้ายแรงอาจไม่จำเป็นต้องเป็น PTSD ทุกคน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคน โดยทั่วไปจะมีผู้ประสบภัยราว 20% ที่มีโอกาสเกิดโรคนี้ หากรายใดปรับตัวได้เร็วหลังประสบเหตุก็อาจมีอาการผิดปกติทางจิตใจแค่ช่วงสั้น ๆ แล้วหายไป ถ้าเป็นเช่นนี้ไม่ถือว่าป่วย PTSD
ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านได้มีแนวทางดูแลจิตใจของตนเองในเบื้องต้นเพื่อลดโอกาสที่ท่านจะป่วยเป็นโรค PTSD โดยกรมสุขภาพจิตได้แนะนำแนวทางในการดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดหลังเกิดเหตุรุนแรงไว้ ดังนี้
1. ดูแลสุขภาพกายและใจของตนเอง เพื่อเตรียมการดูแลจิตใจของคนรอบข้าง ให้พยายามรับประทานอาหาร นอนหลับพักผ่อน ออกกำลัง และพยายามใช้ชีวิตปกติเท่าที่เป็นไปได้
2. ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของตนเองซึ่งอาจเกิดความรู้สึกมากมายในจิตใจ ต้องให้เวลาในการจัดการและช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
3. หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง การมีความเปลี่ยนแปลงด้านการกิน การนอน รู้สึกหมดกำลัง และอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ซึ่งเป็นสัญญาณของระดับความเครียดสูง ถ้าเป็นเด็กและเยาวชน จะมีอาการถดถอย เช่น เกาะคนดูแลแน่น ร้องไห้ หรือแสดงอารมณ์รุนแรง
4. หลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไปจากสื่อ ภาพความรุนแรงต่างๆ รวมไปถึงข่าวปลอมและข่าวลือ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตภายหลังเผชิญภัยพิบัติ
5. พยายามหาวิธีช่วยให้ติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวของผู้ประสบเหตุที่อยู่เพียงลำพังเพื่อช่วยกันสนับสนุนด้านอารมณ์ให้ผ่านช่วงที่ยากลำบากไปได้
6. เพิ่มการพูดคุยและติดต่อกับผู้อื่นเท่าที่ทำได้ เพื่อระบายความรู้สึก ช่วยเหลือพูดคุยกับคนรอบข้างโดยเน้นที่ความเข้มแข็งของบุคคลที่สามารถจัดการความยากลำบากไปได้
ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติที่สงสัยว่าท่านหรือคนใกล้ชิดมีอาการของ PTSD ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านของท่านเพื่อรับการรักษาต่อไป