ภาวะ ‘เด็กอ้วน’ ที่น่าห่วง มากกว่าน่ารัก
ที่มา : MGR Online
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เด็กตัวอ้วนๆ กลมๆ คนจำนวนมากคิดว่าน่ารัก เพราะดูมีความสมบูรณ์แข็งแรง ส่วนโตขึ้นก็น่าจะผอมลงเอง ครอบครัวไหนที่มีลูกมีหลานจึงต่างเลี้ยงดูอย่างดีจนตัวกลมน่ารักน่าเอ็นดู แต่หากมองข้ามเปลือกนอกของความน่ารักเข้าไปถึงสุขภาพภายใน เรียกได้ว่า น่าเป็นห่วงมาก
ในเวทีสัมมนาวิชาการผู้นำสุขภาพ 4.0 โครงการเปิดช่องทางแหล่งเรียนรู้เด็กไทยดูดี สู่ชุมชน ผศ.พญ.หทัยกาญจน์ นิมิตรพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อ รพ.รามาธิบดี อธิบายถึงสาเหตุของการโรคจากความอ้วน ว่า หากเป็นเซลล์ไขมันปกติจะมีการสร้างสารต่างๆ ที่ดีต่อร่างกาย เช่น สารป้องกันหลอดเลือดแดงตีบ แต่เมื่อร่างกายอ้วนคนขึ้น เซลล์ไขมันป่องออกมา การทำงานก็จะผิดปกติ จึงเกิดการสร้างกรดไขมันที่ไม่ดีขึ้น สร้างสารที่ส่งเสริมการเพิ่มการอักเสบ และสารที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบลง ส่งผลให้ร่างกายอักเสบมากขึ้น เส้นเลือดก็ไม่ดี เกิดภาวะดื้ออินซูลิน คือ ไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้งานในอวัยวะต่างๆ ได้ดีเหมือนก่อน เพราะมีไขมันในเลือดมาก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้น ทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ
หากจะสรุปให้เห็นภาพชัดเจนง่ายๆ ผศ.พญ.ทหัยกาญจน์ ระบุว่า ผลเสียของการเป็นเด็กอ้วนมีทั้งหมด 10 เรื่องหลักๆ คือ 1. ระบบกระดูกและข้อ เช่น ปวดหลัง ขาโก่ง เดินไม่สวย ปวดข้ออักเสบ ซึ่งยิ่งอ้วนยิ่งรุนแรงมาก 2. ระบบหัวใจและหลอดเลือด คือ โรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ ซึ่งปัจจุบันพบคนเป็นโรคนี้ในคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ จากเดิม 50-70 ปี เหลือเพียง 30 กว่าปีเท่านั้น 3. ระบบทางเดินหายใจ คือ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ 4. ระบบทางเดินอาหารและโรคตับ เช่น ไขมันพอกตับ ซึ่งไม่มีอาการบ่งบอก ทำให้เสี่ยงตับแข็ง และมะเร็งตับได้เหมือนไวรัสตับอักเสบบีและซี หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5. ระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม เช่น การเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สอง เกิดไขมันเลวมาก ไขมันดีต่ำลง
“โรคเบาหวานหลักๆ แบ่งเป็น 2 ชนิด โดยชนิดแรกคือ เป็นตั้งแต่เกิดจากภูมิคุ้มกัน ที่ทำให้ตับอ่อนทำงานผิดปกติ ต้องฉีดอินซูลินตลอดชีวิต ส่วนชนิดที่สองมักพบในผู้ใหญ่ คนอ้วน มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน โดยสิ่งที่น่าห่วงคือ เบาหวานชนิดที่สองเกิดในเด็กมากขึ้นและไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยพบว่า โรคเบาหวานในประเทศไทยกว่าร้อยละ 97 เกิดในผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปี ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มีประมาณร้อยละ 2.6 โดยจำนวนนี้เป็นเบาหวานชนิดที่หนึ่งประมาณเกือบร้อยละ 80 เป็นเบาหวานชนิดที่สองเกือบร้อยละ 20 ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 เท่าภายในเวลา 5 ปี โดยเบาหวานชนิดที่สองในเด็ก ยากตรงคุมน้ำตาลไม่ได้ตามเกณฑ์ และเด็กควบคุมยากกว่าหลายเท่าในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่น การทำงานตับอ่อนในเด็กจะแย่ลงเร็วกว่าผู้ใหญ่ และช่วงชีวิตที่ยาวนานก็มีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนเหมือนผู้ใหญ่ โรคอะไรที่เกิดขึ้นจากผู้ใหญ่ล้วนสามารถเกิดขึ้นกับเด็กได้ทั้งหมด” ผศ.พญ.ทหัยกาญจน์ กล่าว
ผศ.พญ.หทัยกาญจน์ กล่าวว่า 6.กลุ่มอาการเมตาบอลิก เช่น ภาวะอ้วนลงพุง โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคความจำเสื่อม โรคมะเร็ง โรคถุงน้ำในรังไข่ เป็นต้น 7. ความผิดปกติทางผิวหนัง เช่น บริเวณรักแร้ ขาหนีบ เกิดผื่นคันใต้ร่มผ้า เชื้อราได้ง่าย 8.ด้านจิตใจและสังคม เช่น โรคซึมเศร้า เครียด ไม่กล้าแสดงออก 9.ความเสี่ยงต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่โรคอ้วน และ 10. มะเร็ง เช่น มะเร็งตับ ไต มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์โรคอ้วนในเด็กนั้น ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในประเทศไทยผู้ใหญ่ 1 ใน 3 มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยเด็กอายุ 6-14 ปี ในปี 2558 พบว่า มีภาวะอ้วน 12.6% เฉพาะเขต กทม. จากการสำรวจใน 5 โรงเรียนเครือข่ายเด็กไทยดูดี เมื่อปี 2559 พบว่า มีภาวะอ้วน 16.6% ขณะที่ ร.ร.เอกชนพบเด็กมีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 18.9% ในปี 2557 เป็น 34% ในปี 2559 ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของโรคอ้วนเกิดจากเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะอาหารที่ให้ไขมันพลังงานสูง ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย
การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคนั้น พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต แนะนำว่า การให้ข้อมูลความจริงและสร้างความตระหนกแก่เด็กถึงผลที่เกิดจากความอ้วนนั้น อาจเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กได้ในบางคน เพราะเด็กเกิดความกลัว แต่ก็จะทำได้แค่ระยะเวลาหนึ่ง และต้องระมัดระวังผลที่จะตามมาด้วย ซึ่งขณะที่รณรงค์ไม่ให้เด็กอ้วน กลับพบว่ามีเด็กที่เป็นโรคคลั่งผอมเพิ่มมากขึ้น คือ กลัวอ้วนจนมีการล้วงคอ กินยาระบาย ไม่กินอาหาร ทั้งที่ความจริงผอมอยู่แล้ว เดิมทีจะพบคนป่วยโรคนี้ในเด็กที่มีฐานะ เด็กเรียนดี เจอในเด็กกลุ่มมหาวิทยาลัย ปัจจุบันกลับพบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอายุน้อยที่สุดที่ตนเคยดูแลคือ ชั้น ป.3 หากพบเจอขอให้ส่งเข้ารับการรักษา เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เช่น หมดสติเสียชีวิต ชีพจรเต้นช้าเหลือเพียง 38-40 ครั้งต่อนาที จากเดิม 71-72 ครั้งต่อนาที
พญ.อัมพร ย้ำว่า ในส่วนของเด็กเล็กเนื่องจากยังไม่สามารถควบคุมความอยากของตนเองได้ เพราะเด็กเกิดมาพร้อมความอิสระ อยากร้องก็ร้อง อยากกินก็กิน การสร้างวินัยให้แก่ลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในการปรับตัวความต้องการภายในและสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยพ่อแม่ต้องเป็นพลังภายนอกในการควบคุมแทนเขา โดยต้องเป็นการสร้างวินัยทางบวก เริ่มจากการที่เด็กรู้ว่าตนเองเป็นที่รัก เรียนรู้ว่าต้องรักตอบกลับ สิ่งใดทำร้ายตนเอง ทำรายคนอื่น ทำร้ายคนที่เขารักต้องไม่ทำ โดยต้องมีทางเลือกอื่นทดแทน เพื่อให้เขามีความสุขได้ เช่น แย่งชิงขนมจากเขามา ซึ่งเป็นการทำร้ายใจเขา อาจจะเป็นการขอหรือแบ่งปัน เป็นต้น โดยต้องใช้เหตุผลที่ง่ายสอดคล้องกับวัยที่เขาเข้าใจได้ และต้องดูแลอารมณ์ตัวเองไม่ปล่อยให้ด้านลบเข้าครอบงำ ซึ่งจะกระทบต่อการสร้างวินัยของเขา ซึ่งจะกระตุ้นให้เด็กรู้สึกอยากทำมากกว่า การมีแรงจูงใจสนับสนุนการชื่นชมจะเสริมวงจรการทำสิ่งนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับเด็กโตนั้น พญ.อัมพร กล่าวว่า เด็กที่ยังไม่ใส่ใจเรื่องความอ้วน การให้ข้อมูลจากครู การชวนเด็กมาตั้งเป้าหมายร่วมกัน เป็นสิ่งที่สามารถเข้าไปเปลี่ยนเด็กที่ไม่สนใจอะไรให้สนใจได้ ส่วนเด็กแล้วแรงของสิ่งแวดล้อมกลุ่มเพื่อน ความนิยม การชื่นชมของครู เป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันให้เด็กทำ เพราะบ่อยครั้งจะพบว่าพ่อแม่บอกจะไม่ทำ แต่เมื่อครูชม หรือได้แรงเสริมจากเพื่อนจะทำ ส่วนเด็กที่เริ่มอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง การที่ครูมีทางเลือกให้เขาในการเปลี่ยนแปลงกี่วิธีที่จะสอดคล้องกับชีวิตของเขา และได้รับการยอมรับจากตัวเขาเองและคนรอบข้างมากสุด จะทำให้เด็กที่ลังเลเดินหน้าไปสู่ารเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ส่วนเด็กที่ลงมือเปลี่ยนแปลงแล้วการชื่นชม สนับสนุนเป็นระยะๆ จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เก็บความสำเร็จนี้เป็นนิสัยต่อไป
“การตั้งเป้าหมายไม่ควรเป็นแบบลมๆ แล้งๆ เช่น อ้วนให้น้อยลง กินให้น้อยลง มันไม่เป็นรูปธรรมเพียงพอ ต้องกำหนดข้าวกี่ทัพพี น้ำหนักต้องไม่ขึ้นไปกว่านี่กี่กิโลกรัม ออกกำลังด้วยรูปแบบนี้ เวลาเท่าไร ครูสามารถให้ข้อมูลได้ว่าเท่านี้คือความพอดีไม่มากไม่น้อยเกินไป รวมถึงต้องสอนให้เขารู้จักควบคุมสิ่งเร้าเป็น รู้ว่าอะไรคือสิ่งเร้าสำหรับเขา โดยสิ่งเร้า ได้แก่ บุคคล สถานที่ สิ่งของ ช่วงเวลา สภาพอารมณ์ หรืออื่นๆ ที่เกิดซ้ำๆ ร่วมกับภาวะการกิน หรือการเตรียมตัว ตลอดจนการชักนำไปสู่การกิน อย่างเช่นทุกวันหลังเลิกเรียนต้องไปกับเพื่อนกลุ่มนี้ ต้องกินสิ่งนี้ ไปร้านนี้ต้องกินไอศกรีมนี้เท่านั้น เป็นต้น การทำให้เด็กแยกแยะได้ว่าสิ่งเร้าของเขาคืออะไร เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งเร้า หรือหยุดกระบวนการคิด ก่อนจะเกิดเป็นความอยากและไปกินถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสอนด้วย” พญ.อัมพร กล่าวและว่า ส่วนเด็กที่ทำตามเป้าหมายไม่ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเอามาเยาะเย้ยถากถางตำหนิต่อว่า แต่ต้องหยิบมาคุยกันว่าทำไม่ได้เพราะอะไร จะได้ไม่ล้มซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับการส่งเสริมให้เด็กไทยลดความอ้วนนั้น ศ.พญ.ชุติมา กล่าวว่า มีการร่วมกับสำนักงานกองทุนสนันสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการเด็กไทยดูดี มีพลานามัย โดยโรงเรียนเด็กไทยดูดีเป็นโรงเรียนที่มีนโยบายการจัดการเชิงโครงสร้างและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนในด้านอาหารและออกกำลังกาย มีการจัดอาหารกลางวัน อาหารว่างในการประชุม และอาหารขายในโรงเรียนที่มีคุณภาพ การสำรวจข้อมูลด้านโภชนาการของนักเรียนและครู การทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครอง และการสร้างทักษะความรู้โภชนาการ การออกกำลังกายในบทเรียนและกิจกรรมนอกหลักสูตร ซึ่งดำเนินการใน 9 โรงเรียน ประกอบด้วยโรงเรียนประถมศึกษา 5 โรงเรียน ได้แก่ ร.ร.อนุบาลวัดนางนอง ร.ร.อนุบาลวัดปรินายก ร.ร.อนุบาลสามเสน ร.ร.อนุบาลพิบูลเวศม์ ร.ร.พญาไท และโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสพฐ. 4 โรงเรียน ได้แก่ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ร.ร.สตรีวิทยา ร.ร.สามเสน และ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มีการสร้างต้นแบบของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง เป็นแกนนำ ซึ่งจัดกิจกรรมค่ายผู้นำสุขภาพ 4.0 ระหว่างวันที่ 27-28 พ.ค.นี้ ขณะเดียวกันมีการควบคุมอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ 4 รายการ ได้แก่ อาหารทอด ไส้กรอก เบเกอรี เครื่องดื่มเติมน้ำตาลปริมาณสูง และมีการสนับสนุนให้บริโภคผักผลไม้เพิ่มขึ้น โรงเรียนมีการจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ปริมาณเหมาะสม สนับสนุนให้มีการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ชั่วโมง
การจะลดปัญหาเด็กไทยอ้วน จึงไม่ใช่แค่เพียงนโยบายในเรื่องของการลดการกินหวานมันเค้ม ขนมกรุบกรอบหรือน้ำอัดลมในโรงเรียนเท่านั้น แต่การทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ สามารถสู้กับสิ่งเร้ารอบตัวได้ถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่ และครูต้องช่วยกันสร้าง เพราะหากลดความอ้วนในเด็กลงได้ ก็ถือเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคแก่เด็กในอนาคตได้เช่นกัน เป็นเด็กไทยดูดีมีพลานามัยย่อมดีกว่าเด็กอ้วนที่เหมือนจะน่ารักแต่ซ่อนโรคเอาไว้เยอะ