ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบพบเเพทย์

ที่มา : กรมการเเพทย์


ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบพบเเพทย์ thaihealth


เเฟ้มภาพ


กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือนภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea ) เกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนต้นขณะหลับ ส่งผลให้ลมหายใจผ่านน้อยกว่าปกติ หรือไม่สามารถผ่านเข้าออกได้แม้จะใช้แรงในการหายใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาวะความผิดปกตินี้เป็นอันตราย และอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาได้ แนะควรได้รับการตรวจเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป


นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น จะทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนและเกิดคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือดจนถึงระดับที่สมองต้องมีการสั่งการให้หายใจ ทำให้สมองถูกกระตุ้นให้ตื่นอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกว่านอนหลับไม่สนิท โดยภาวะนี้พบมากในผู้ชายประมาณร้อยละ 15 ส่วนผู้หญิงพบได้ประมาณร้อยละ 6 ของประชากรวัยกลางคน ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการนอนกรน ตื่นเช้าไม่สดชื่น ปากแห้งคอแห้ง อ่อนเพลียตอนกลางวัน หรือรู้สึกตัวตื่นมาสำลักตอนกลางคืน ถือว่ามีภาวะเสี่ยงต่อโรคและควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์


นายแพทย์ธนินทร์  เวชชาภินันท์  ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสถาบันประสาทวิทยามีห้องตรวจการนอนหลับชนิดที่มีคลื่นไฟฟ้าสมอง  (In-Lab Polysomnogram) ซึ่งสามารถทำให้ประเมินภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้อย่างแม่นยำ และยังสามารถตรวจหาสาเหตุอื่นที่อาจส่งผลให้มีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น อาการขากระตุก นอนละเมอ หรือการเคลื่อนไหวผิดปกติระหว่างการนอนหลับ


โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองคือโรคอ้วน กลุ่มอาการอ้วนลงพุง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงในอายุน้อย ภาวะหัวใจวาย ภาวะหัวใจสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) โรคเส้นเลือดหัวใจ โรคเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก  โรคหืดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา และผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เป็นต้น


นอกจากนี้ ยังมีการรักษาร่วมอย่างอื่น เช่นการลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการนอนหงายที่จะส่งผลให้ทางเดินหายใจถูกอุดกั้นได้ง่าย การใช้ยาพ่นจมูกกลุ่ม steroid เพื่อลดอาการบวมของเยื่อบุจมูก เป็นต้น ดังนั้น หากพบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ และรักษาอย่างถูกต้องเพื่อลดปัญหาหรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่อาจตามมาในภายหลังได้

Shares:
QR Code :
QR Code