ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง นอกจากนี้จากการวิจัยของคณะทำงานจัดทำภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทย (2549) พบว่า ภาวะอ้วนลงพุงมีความสัมพันธ์กับภาวะต้านอินซูลิน และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาวะอ้วนจึงมีผลทำให้ปีสุขภาวะลดลง จากการเกิดโรคเรื้อรัง มีผลต่อคุณภาพชีวิตและความสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากเพิ่มค่าใช้จ่ายทางสุขภาพและการสูญเสียปีสุขภาวะจากภาวะพิการและการตายก่อนวัยอันควร
ในปี 2547 ภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกาย ≥25 กิโลกรัม/ตารางเมตร) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สูญเสียปีสุขภาวะ (Disability Adjusted Life Years (DALYs) Loss) เป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย และเป็นอันดับ 6 ในผู้ชายไทย และจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยครั้งที่ 3 ปี 2547 ในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่า ร้อยละ 22.5 ในชาย และ 34.4 ในหญิง มีภาวะอ้วน ขณะที่ร้อยละ 15.4 ในชาย และ 36.1 ในหญิง มีภาวะอ้วนลงพุง
วิธีการการคัดกรองภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
1. ดัชนีมวลกาย (Body mass index) เป็นค่าดัชนีความสัมพันธ์ระหว่างส่วนสูง และน้ำหนักตัว โดยคำนวณจากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยความสูง (เมตรยกกำลังสอง)
องค์การอนามัยโลกได้มีการแบ่งเกณฑ์ค่าระดับดัชนีมวลกาย (BMI) เพื่อใช้เป็นแบบคัดกรองภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยค่าดัชนีมวลกาย มากกว่าหรือเท่ากับ 25 กก./ตร.เมตรแสดงว่า เริ่มมีภาวะน้ำหนักเกิน และค่าดัชนีมวลกายที่ 30 กก./ตร.เมตร หมายถึง อ้วน สำหรับประชากรในเอเชีย มีข้อเสนอจุดตัดในการแบ่งกลุ่ม โดยที่ค่าดัชนีมวลกาย ที่ 23 กก./ตร.เมตร หมายถึง ภาวะน้ำหนักเกิน และค่าดัชนีมวลกายที่ 25 กก./ตร.เมตร แสดงว่า อ้วน (ข้อมูลตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกและค่าจุดตัดของประชากรเอเชีย
ดัชนีมวลกาย (กก./ตร.เมตร) |
||
กลุ่ม |
เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (1998) |
เกณฑ์สำหรับประชากรเอเชีย |
น้ำหนักน้อย |
< 18.5 |
< 18.5 |
น้ำหนักปกติ |
18.5 – 24.99 |
18.5 – 22.99 |
น้ำหนักเกิน |
≥ 25 |
≥ 23 |
pre-obese |
25 – 29.99 |
เสี่ยง (at risk) 23 – 24.99 |
อ้วนระดับ 1 |
30 – < 34.99 |
25 – 29.99 |
อ้วนระดับ 2 |
35 – < 39.99 |
≥ 30 |
อ้วนระดับ 3 |
≥ 40.00 |
– |
2. เส้นรอบเอว (waist circumference) เป็นค่าที่ได้จากการวัดรอบเอว ด้วยสายวัดมาตรฐาน โดยวัดรอบเอวระดับตำแหน่งกึ่งกลางของข้างเอวระหว่างขอบล่างของซี่โครงล่างกับขอบบนของ iliac crest ให้สายรอบเอวแนบรอบเอว และอยู่ในแนวขนานกับพื้น ซึ่งภาวะอ้วนลงพุง หมายถึง ความยาวเส้นรอบเอว ≥90ซม. ในชาย และ ≥80ซม. ในหญิง
จากผลการสำรวจ พบว่า ค่าเฉลี่ยของดัชนีมวลกายในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เฉลี่ยเท่ากับ 23.1 กก./ตร.เมตร ในผู้ชายและ 24.4 กก./ตร.เมตร ในผู้หญิง ค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกายเพิ่มขึ้นตามอายุ จนมีค่าสูงสุดในกลุ่มอายุ 45–59 ปี หลังอายุ 60 ปีขึ้นไปดัชนีมวลกายลดลง และต่ำสุดเมื่ออายุ 80 ปีขึ้นไป และเมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกายตามภาคพบว่าผู้ชายและผู้หญิงในกรุงเทพฯ มีดัชนีมวลกายสูงที่สุด รองลงมาคือภาคกลาง
รูปที่ 1 : ค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย (กก./ตร.เมตร) ในประชากรไทยอายุ 15ปีขึ้นไป จำแนกตามกลุ่มอายุและเพศ
ความชุกของภาวะอ้วนในประชากรไทยอายุ 15ปีขึ้นไป พบว่าเพศชายร้อยละ 28.3และเพศหญิงร้อยละ 40.7จัดว่าอ้วน (ดัชนีมวลกาย ≥25กก./ตร.เมตร) โดยความชุกสูงสุดในกลุ่มอายุ 45-59ปี ความชุกลดลงในกลุ่มผู้สูงอายุและต่ำสุดในกลุ่มอายุ 80ปีขึ้นไป
เส้นรอบเอว
เส้นรอบเอวของประชากรชายและหญิงอายุ 15 ปีขึ้นไป เฉลี่ยเท่ากับ 79.9 ซม. และ79.1 ซม. ตามลำดับ ในกลุ่มอายุเดียวกันผู้ชายมีเส้นรอบเอวใหญ่กว่าผู้หญิงทุกกลุ่มอายุ โดยทั่วไปทั้งชายและหญิงมีขนาดเส้นรอบเอวเล็กสุดในกลุ่มอายุ 15-29 ปี และเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นโดยสูงสุดในกลุ่มอายุ 45–59 ปี จากนั้นเส้นรอบวงเอวมีขนาดลดลงในวัยผู้สูงอายุ
รูปที่ 2 ค่าเฉลี่ยเส้นรอบเอว (ซม.) ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำแนกตามกลุ่มอายุและเพศ
ข้อมูลจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2 โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย
ที่มา : Food and Nutrition Policy for Health Promotion