ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
ที่มา : ชุดความรู้การพัฒนาเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพโรงเรียนผู้สูงอายุ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง โดยผู้สูงอายุจะรู้สึกเบื่อหน่าย หรือเศร้า หรือทั้งสองอย่างโดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกิน การนอน เรี่ยวแรง สมาธิ รวมถึงความรู้สึกต่อตนเองร่วมด้วย การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ถ้าเป็นไม่มากนักอาจเข้าข่าย “ภาวะซึมเศร้า” แต่หากมีอาการมากและกินระยะเวลานานก็อาจพัฒนากลายเป็น “โรคซึมเศร้า” ซึ่งจะทำให้ไม่มีความสุขในชีวิต ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ไม่ดีเหมือนเดิม และผู้สูงอายุบางคนที่รู้สึกท้อแท้หรือหมดหวังอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
วิธีการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
1. การดูแลตนเองด้านร่างกาย
1.1 รับประทานอาหารที่เหมาะสมกับวัยให้ครบ 3 มื้อ ในปริมาณที่เหมาะสม อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการบริโภคอาหารสด การรับประทานอาหาร ผัก และผลไม้สดจำนวนมาก ๆ ทำให้สุขภาพร่างกายสดชื่นตลอดวัน
1.2 ออกกำลังกายทุกวัน โดยใช้วิธีง่าย ๆ ที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ
1.3 เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง หรือความผิดปกติอื่นๆจะได้รีบรักษาแต่เนิ่นๆไม่ปล่อยทิ้งไว้จนเกิดความรุนแรง
2. การดูแลตนเองด้านจิตใจ
2.1 สร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเองด้วยการตั้งมั่นอยู่ในความดี การคิดดี พูดดี และทำดี จะช่วยให้มีความสุข จิตใจแจ่มใส ไม่ขุ่นมัว อารมณ์ดี
2.2 ตระหนักในคุณค่าของตนต่อบุตรหลานและบุคคลอื่น ชื่นชมและภาคภูมิใจ ในตนเอง อย่ามองว่าตนไร้ค่าหรือรู้สึกท้อแท้ 2.3 ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย จะทำให้ระบบประสาททำงานอย่างราบรื่น ไม่ตึงเครียดและวิตกกังวล
2.3 ไม่อยู่ว่าง ๆ หางานอดิเรกหรือสิ่งที่สนใจอยากทำแต่ไม่มีโอกาสทำเมื่ออยู่ใน ช่วงวัยที่ต้องทำงาน ซึ่งอาจนำมาซึ่งรายได้หรือมีวิธีการคลายเครียดต่าง ๆ
2.4 ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ
2.5 สร้างคุณค่าเพิ่มให้ตนเองด้วยการอุทิศตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
2.6 แสวงหาความสงบสุขทางใจด้วยการฝึกทำสมาธิ สวดมนต์ ศึกษาธรรมะ จากหนังสือหรือสนทนาธรรมกับผู้รู้ และวิธีการอื่นๆ