ภารกิจพิชิตพนัน บอลโลกจบ งานไม่จบ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
บอลโลกจบพนันไม่จบ นักวิชาการชี้เด็กเยาวชนกว่าครึ่งล้านยังอยู่ในวงจร จิตแพทย์เผยช่วงบอลโลกยอดขอคำปรึกษาพุ่งเป็น 2 เท่า เยาวชนเรียกร้องตั้งเจ้าภาพหลัก ทำงานต่อเนื่องและจริงจัง
วันนี้ (12 ก.ค. 61) 10.00 น. ณ ห้องบุษบา โรงแรมแมนดาริน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการเสวนา เรื่อง "ภารกิจพิชิตพนัน บอลโลกจบ งานไม่จบ" โดยมีนักวิชาการ แพทย์ ตัวแทนจากองค์กรเยาวชน และภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ร่วมกันประเมินการทำงานหยุดพนันในช่วงฟุตบอลโลก 2018
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า ช่วงเทศกาลบอลยูโรปี 2016 ที่ผ่านมา เยาวชนส่วนหนึ่งที่เล่นพนันบอลยูโร เคยเล่นพนันบอลลีกมาก่อน สะท้อนว่าปัญหาพนันบอลเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว เยาวชนที่เล่นพนันบอลยูโรทั้งที่เคยตั้งใจว่าจะไม่เล่นแต่ก็เล่นพนันอยู่ดี ซึ่งกลุ่มที่เล่นพนันใช้เงินเดิมพันมากกว่าที่กำหนดไว้ในตอนแรก และหลายคนตั้งใจจะเล่นพนันต่อหลังเทศกาลบอลยูโรจบ ซึ่งหลังจบเทศกาลบอลยูโร เยาวชนไทยมีหนี้สินเฉลี่ย 2,000 กว่าบาทต่อคน ต้องเร่งหาเงินไปใช้หนี้ด้วยวิธีการต่างๆ บางรายโกหกผู้ปกครองเพื่อขอเงิน หรือขายทรัพย์สิน เนื่องจากขบวนการทวงหนี้พนันมีความโหดร้าย ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่ต้องพูดถึง ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรหม
“ปีนี้มีเรื่องที่ดีเกิดขึ้น จากการที่หลายภาคส่วนจับมือกันหาวิธีป้องกันปัญหาในรูปแบบคณะกรรมการ ภายหลังมีการทำ MOU ร่วมกัน เพื่อการประสานความร่วมมือในการป้องกันเด็กและเยาวชน จากการพนันฟุตบอลช่วงฟุตบอลโลก เมื่อเริ่มต้นดีแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงหลังจากบอลโลกจบก็คือ เราไม่ควรจบการทำงานเหมือนเทศกาลที่จบไป ทุกฝ่ายควรทำเรื่องนี้ร่วมกันต่อ เพื่อสื่อสารว่าทุกหน่วยงานห่วงใยปัญหานี้จริงๆ เราควรหาวิธีการให้คณะกรรมการชุดนี้ทำงานร่วมกันต่อไป ” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าว
นายปณิธาน ศรีสร้อย รองเลขาธิการสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานต่างๆ ในการสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ และการพัฒนาปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายว่า ในระยะสั้น ก่อนการชิงชนะเลิศ หน่วยงานรัฐควรปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงพนันออนไลน์อย่างเข้มข้น ระยะกลาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติและจังหวัด ควรสรุปบทเรียนการทำงาน เพื่อขยายผลมาตรการป้องกันเด็กจากการพนันฟุตบอล และสนับสนุนการพัฒนาแกนนำเด็กและเยาวชนให้มีส่วนร่วมป้องกันการพนันฟุตบอลลีคใหญ่ ฟุตบอลยูโร และฟุตบอลโลกในอีก 2 และ 4 ปีข้างหน้า ระยะยาว ควรพิจารณาปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสื่อทุกช่องทาง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ รวมถึงแอปพลิเคชันต่างๆ พบว่ามีการโฆษณาเชิญชวนแฝงตามสื่อต่างๆ อาทิ เฟซบุ๊ก หรือจากผู้ทรงอิทธิพลทางออนไลน์จำพวกเน็ตไอดอล ซึ่งช่องทางเหล่านี้มีเด็กและเยาวชนเข้าใช้บริการเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ทำให้เกิดการเข้าไปใช้บริการพนันฟุตบอลออนไลน์เป็นจำนวนมากในช่วงฟุตบอลโลก 2018 ทั้งนี้ ข้อเสนอยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ภาครัฐควรปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อให้เท่าทันบุตรหลาน รวมถึงการร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาต่างๆ จากการพนันฟุตบอล ขณะที่สื่อมวลชนต้องช่วยนำเสนอผลกระทบจากการพนันฟุตบอล เพื่อสร้างความตระหนักกับสังคม
นางสาวชนน์ภคอร สวนแก้ว แกนนำเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ เครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้อง 3 ประเด็นที่คาดหวังมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา คือ 1.ภาครัฐรับผิดชอบในการรณรงค์ ด้วยการสอดแทรกเนื้อหาการรณรงค์ในช่วงถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล 2.จัดตั้งคณะกรรมการควบคุมการพนันแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักของการทำงานหยุดปัญหาการพนัน และ 3.จัดตั้งศูนย์ปราบปรามการพนันออนไลน์อย่างถาวร แม้ทุกฝ่ายจะพยายามช่วยกันรณรงค์อย่างมาก โดยเฉพาะสิ่งที่น่าชื่นชมคือ การรณรงค์ทางโซเชียลมีเดียที่ตอบโจทย์สังคมยุค 4.0 แต่ดูเหมือนยังขาดการร่วมรณรงค์อย่างจริงจังจากภาครัฐ จึงอยากให้รัฐบาล กสทช. กำหนดแนวปฏิบัติบังคับให้สื่อที่ทำการถ่ายทอดสดกีฬาต้องรับผิดชอบรณรงค์หยุดพนันด้วย และที่สำคัญคณะกรรมการควบคุมการพนันแห่งชาติควรต้องถูกทำคลอดในช่วงเวลานี้
ด้าน พญ.รัชนี ฉลองเกื้อกูล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า สถิติการโทรมาขอคำปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 รวมถึงจากโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต 19 แห่งทั่วประเทศ ในช่วงฟุตบอลโลก ตั้งแต่วันที่ 15 – 30 มิ.ย. 61 มีผู้รับคำปรึกษาเรื่องพนันมากกว่าช่วงเวลาปกติ 2 เท่า โดย 30 % เป็นปัญหาพนันบอลและพนันบอลออนไลน์ อยากฝากคำแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองว่า การให้ความรักความอบอุ่นจากบุคคลในครอบครัวจะเป็นเหมือนภูมิคุ้มกันการเข้าสู่วงจรการเล่นการพนันที่ดีสุด รวมถึงการเป็นตัวอย่างที่ดีให้บุตรหลานในการไม่เล่นการพนัน การพูดคุยอย่างเข้าใจใกล้ชิดเป็นสิ่งสำคัญ หากพบว่าบุตรหลานเล่นการพนัน ควรฟังเขาอย่างเข้าใจ และพยายามชวนให้เขาคิดถึงผลเสียที่จะมีตามมา