ภาคีเชียงใหม่…นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ era.chiangmaipao.go.th
เสียงเพลงกองทุนสิบบาทค่อย ๆ ดังขึ้น ๆ จนได้ยินไปทั่วบริเวณศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ สร้างบรรยากาศให้ผู้ร่วมงานนับพันคนคึกคัก กระชุ่มกระชวย ก่อนพิธีเปิดงานด้านการศึกษาที่สำคัญจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง
ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาจัดงานปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่เป็นปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 30-31 มกราคม 2562
ในฐานะหนึ่งใน 6 จังหวัดที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เป็นพื้นที่นำร่องนวัตกรรมการศึกษาตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2561 ได้แก่ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ระยอง สตูล และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนกฎหมายรองรับ คือ พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกาศใช้
ภาคีเชียงใหม่ฯ ออกตัวเร็ว ออกตัวก่อน นำหน้ากระแสความเคลื่อนไหวปฏิรูปการศึกษาระดับประเทศได้อย่างน่าชื่นชม เพราะสะสมต้นทุนมาตั้งแต่การจัดงานครั้งแรก วันที่ 7-8 มกราคม 2559 ภายใต้ชื่อ เปิดแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2559-2562)
ครั้งที่สอง วันที่ 30-31 มกราคม 2560 "การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ สู่คุณภาพที่หลากหลาย"
ครั้งที่สาม วันที่ 30-31 มกราคม 2561 "โอกาสเชียงใหม่ 4.0"
และครั้งนี้ ครั้งที่สี่ หัวข้อร่วมสมัย "พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเชียงใหม่"
องค์กรเครือข่ายพันธมิตรร่วมจัดงาน นอกจากภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ยังประกอบด้วยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership : TEP) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จุดไฮไลต์ของงานก่อนเข้าสู่ห้องประชุมใหญ่เป็นซุ้มแสดงผลการดำเนินงานของกองทุนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (กองทุน 10 บาท) ตั้งอยู่ด้านหน้า ทันทีที่ก้าวผ่านประตูลงทะเบียนเข้ามา มีโต๊ะรับบริจาค ครู นักเรียน ผู้เข้าร่วมงานต่อแถวยาวเหยียด รอทำบุญทางการศึกษาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มอิ่มสุข
ภาพที่เห็นเป็นสิ่งยืนยันหรือตัวบ่งชี้ชัดถึงย่างก้าวความสำเร็จของภาคประชาสังคมในพื้นที่ ทั้งคิดค้นและเคลื่อนไหว ก่อนการเกิดขึ้นของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาระดับชาติ ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 2561 พี่น้องจาวเจียงใหม่เดินนำหน้ามาก่อนแล้ว
แนวคิด วิธีการ ขั้นตอนการดำเนินงานและผลงานของกองทุนที่ผ่านมาไว้เล่าสู่กันฟังต่อไป
ด้านหน้าห้องประชุมตลอดแนวเป็นพื้นที่นิทรรศการ ผลงานนักเรียนของโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย องค์กร หน่วยงาน มูลนิธิ ที่มาร่วม แสดงความก้าวหน้าในการจัดการศึกษา แนวคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพและแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำขาดโอกาสทางการศึกษา
เริ่มด้วยนิทรรศการชุดพื้นที่นวัตกรรมตามปณิธานการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ "พลเมืองเชียงใหม่ รักษ์วัฒนธรรม ทันการเปลี่ยนแปลง แสวงสัมมาชีพ" การทดสอบความรู้เรื่องเชียงใหม่ อดีต ปัจจุบัน อนาคต (หลักสูตรรักษ์เชียงใหม่)
ซุ้มแสดงความสามารถของเด็ก เยาวชน พลเมืองเชียงใหม่ และผลิตภัณฑ์นักเรียนหลากหลาย ตกแต่งสวยงามละลานตา แผ่นพับเอกสารแนะนำหลักสูตรวิชาโครงงานของโรงเรียนต่าง ๆ อ่านแล้วชื่นใจได้ความรู้ เช่น โครงงานทำข้าวซ้อมมือ โครงงานจักสาน โครงงานทอผ้ากะเหรี่ยง การตีมีด ขนมอบเพื่ออาชีพ โรงเรียนบ้านใหม่สารภี ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
หรือที่ให้แนวคิดโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ อ.หางดง วัดศรีล้อมโมเดล จิต กาย ปัญญา EQ SQ IQ 3 วิถี 9 ทางสู่อาเซียน นักจิตอาสา นักคิดบวก นักทีมงาน นักการทูต และนักปัญญา
เรื่องราวของชุมชนอย่างประวัติแม่กวง ต้นกำเนิดแม่กวง (ภูมิทัศนา) โรงเรียนบ้านตลาดขี้เหล็ก อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ การประดิษฐ์โคมไฟจากกะลามะพร้าว ภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนกาวิละอนุกูล อ.เมือง จ.เชียงใหม่
สร้างวินัยเชิงบวกด้วยความดีสากล โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง อ่านออกเขียนได้จริง พร้อมเป็นพลเมืองศตวรรษที่ 21 ทวิ/พหุภาษา นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้บนพื้นฐานภาษาท้องถิ่น สำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยชมรมทวิภาษาจังหวัดเชียงใหม่ การศึกษาเพื่อเด็กชายขอบและพื้นที่พิเศษ มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ (The Foundation for Applied LinguisticsFAL)
เวทีสัมมนาวิชาการหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนแนวคิดปฏิรูปการศึกษา 17 ห้อง เตรียมไว้สำหรับนักเรียน ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง นักวิชาการ นักการศึกษา ปัญญาชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น พระสงฆ์ คนชายขอบหลายชนเผ่า คนไร้สัญชาติ ฯลฯ ที่จะมาร่วมงานวันต่อไป แล้วแต่ใครสนใจเลือกเข้าห้องไหน ตามความชอบและถนัด
ภายใต้ความท้าทายของเสียงเรียกร้องปฏิรูปการศึกษาที่ยังดังขรมทั่วประเทศมายาวนานจนถึงวันนี้ พวกเขาภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาเป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบนำพาการศึกษาไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตเพื่ออนาคตของลูกหลานและชาติบ้านเมืองต่อไปอย่างไรต้องติดตาม