ภาคประชาชนหนุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ภาคประชาชนหนุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เครือข่ายครอบครัว หนุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฉบับประชาชน : เพื่อสานฝันอนาคตเด็กไทย

อาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์ ทำไมถึงต้องมีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หลายๆ คนอาจสงสัยว่ากองทุนดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาสังคมได้อย่างไร อาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปัจจุบันสื่อที่ช่วยส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว มีไม่มากเมื่อเทียบสัดส่วนกับสื่ออื่นๆ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงเป็นระบบที่จะช่วยให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้มีปริมาณมากขึ้น รูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น

“รวมทั้ง สิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่จะช่วยทำให้เด็ก เยาวชน ครอบครัวมีทักษะในการใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง ชุมชน สังคม เช่น รู้เท่าทันสื่อ ใช้สื่อเพื่อการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม ทั้งมีบทบาทในการช่วยพัฒนาคุณภาพสื่อในทุกๆ ด้าน และผลักดันกลไก ในการปฏิรูปสื่อให้เกิดขึ้นได้ ช่วยสนับสนุนเพิ่มพลังในการผลิตสื่อดีๆ เพื่อเด็ก เยาวชน และส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัว” อาจารย์อิทธิพล  กล่าว

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมามีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นหลายครั้งเกี่ยวกับการมี “กองทุนสื่อฯ” ที่จะมาช่วยผลักดันให้เกิดการผลิตสื่อดี สร้างสรรค์และปลอดภัยอย่างต่อเนื่องจากภาคผู้ผลิตรายการ และภาคประชาสังคมต่างๆ  ที่ต้องการเห็นกองทุนสื่อฯ มีความคล่องตัว โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ล่าสุดทางมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ร่วมกับ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ จึงได้จัดเวที “ห้องเรียนครอบครัวเรียนรู้เรื่องสื่อ” เพื่อร่วมเป็นหนึ่งพลังในการผลักดันกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จากภาคประชาชน

นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถนางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวถึงการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ว่าจะสามารถทำให้ครอบครัวได้ดูรายการดีๆ และยังมีระบบที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ภายในครอบครัว ทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะผ่านกระบวนการสื่อ ต่อไปสื่อจะไม่ใช่แค่เพียงการสร้างความบันเทิง แต่จะสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ สามารถเป็นสื่อการเรียนการสอนภายในครอบครัวได้ และเชื่อว่ากองทุนสื่อฯ จะสามารถตอบสนองครอบครัว ที่ต้องการมีรายการที่ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวได้

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายครอบครัวยังร่วมขับเคลื่อน และสนับสนุนการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอแนะต่อหลักการ และสาระของร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯ และมีส่วนร่วมในกระบวนการผลักดันกฎหมาย เพื่อประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน และสังคมอย่างแท้จริง

คุณอัญญาอร ยังกล่าวอีกว่า  เราอยากเห็นกองทุนสื่อฯ ที่มาจากภาคประชาชน จากการที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม  อย่างกองทุนสื่อฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน เราเองก็ต้องการให้องค์กรนี้เป็นองค์กรอิสระ เพราะที่ผ่านมา เคยมีกองทุนนี้เกิดขึ้นมาแล้ว แต่อยู่ใต้ระบบราชการ ไม่มีการตรวจสอบ และไม่มีการบริหารจัดการที่คล่องตัว ไม่เป็นระบบ ประชาชนเข้าไม่ถึง จึงเกิดความล้มเหลว เราจึงคิดว่า เราอยากให้มีกองทุนเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นในรูปแบบขององค์กรอิสระ มีการบริหารจัดการงานที่เป็นระบบ และคล่องตัว และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับเอกชน องค์กรพัฒนาสังคม และประชาสังคม และลงไปถึงระดับชุมชน

ภาคประชาชนหนุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์“เหตุผลสำคัญที่เครือข่ายครอบครัวร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ภาคประชาชน ต้องเน้นคำว่า ภาคประชาชน เพราะว่าตอนนี้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ผ่านร่างกฎหมายของกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว ถามว่าทำไมเราต้องมีการผลักดันในส่วนของภาคประชาชน เพราะเราต้องการทำร่างกฎหมายจากภาคประชาชนเข้าไปประกบกับร่างนี้ และทำความเข้าใจร่วมกันว่า เราอยากเห็นกองทุนนี้ในรูปแบบใด และกระทรวงวัฒนธรรมมีรูปแบบใด และนำมาผนวกกัน เพื่อให้เกิดความคิด และการทำงานร่วมกัน ประเด็นที่เรามองว่าควรเสนอให้มันเกิดขึ้น ในร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ผ่าน ครม. เราเองก็มีความเห็นต่าง อยู่ประมาณ 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ วัตถุประสงค์ เราต้องการให้เน้นไปที่กลุ่มเป้าหมาย เด็ก เยาวชน ที่สนใจผลิตสื่อ ไม่ใช่ผู้ผลิตบริษัทใหญ่อย่างเดียว ต่อมา คือ คณะกรรมการ ที่เราคิดว่าอยากให้มีสัดส่วนของภาคประชาชน เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการ เนื่องจากร่างของกระทรวงที่ผ่านทางมติ ครม. พบว่าไม่มีสัดส่วนของภาคประชนเข้ามามีส่วนร่วม เราจึงอยากให้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความคิดที่หลายหลายมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายคือ การประเมินผล เราอยากให้มีกระบวนการที่ชัดเจน เป็นระบบ มีคณะกรรมการตรวจสอบ และโปร่งใส ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือข้อเรียกร้องที่เราต้องการสะท้อนไปให้ถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยน และให้เกิดร่างกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จากประชาชน เพื่อประชาชน อย่างแท้จริง” ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าว

นายมนตรี แก้วกระจ่าง ทางด้านพ่ออาสา นายมนตรี แก้วกระจ่าง กล่าวว่า กองทุนสื่อฯ เป็นสิ่งที่ดี รู้กันอยู่แล้วว่า ถ้าเราเปิดทีวีสักช่อง เราจะพบว่ารายการเด็ก และรายการที่มีประโยชน์สำหรับเด็กจริงๆ มีน้อยมาก แต่เราก็พอเข้าใจในหลักธุรกิจตรงนี้ว่า ผู้ผลิตต้องอาศัยแหล่งทุนในการผลิตรายการ ซึ่งทุกอย่างก็ต้องขึ้นอยู่กับเรตติ้งหรือความนิยมของผู้ชม และถึงแม้ว่าทางผู้ผลิตอยากจะผลิตรายการดีๆ แต่เงินทุนไม่อำนวย ผู้ผลิตก็ไม่สามารถผลิตรายการตามที่ตั้งใจได้ ต้องเป็นไปตามกระแส หากมีกองทุนฯ นี้ขึ้นมา ก็จะสามารถทำให้ผู้ผลิตหลุดไปจากวงโคจรตรงนี้ได้ สามารถทำตามความต้องการที่จะผลิตสื่อดีและเป็นประโยชน์กับสังคมมากขึ้น เพราะฉะนั้น คิดว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจากที่เราเป็นพ่อแม่ดูทีวีอยู่กับบ้านเฉยๆ เราก็พาตัวเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉบับประชาชนได้ โดยการเป็นหนึ่งเสียง หนึ่งปาก และผมคิดว่าการมีส่วนร่วมก็สำคัญมาก ทำอย่างไรจะให้ประชาชนทั่วไป ตื่นตัวและเข้าใจว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่ได้มีไว้สำหรับผู้ผลิตสื่ออย่างเดียว แต่กองทุนจะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการทำเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคสื่อ ผมคิดว่าพ่อแม่ทุกๆ คนก็คงจะคิดเหมือนผม 

ที่มา: เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ

 

Shares:
QR Code :
QR Code