ภาคธุรกิจขานรับ CSR “วัดสร้างสุข”
ภาคธุรกิจขานรับ CSR "วัดสร้างสุข" ส.ส.ท. ขยายต่อ มุ่งเป้าวัดทั่วประเทศ
ปัจจุบันบริษัท หรือองค์กรไม่ว่าเล็ก-ใหญ่ต่างหันมาทำ CSR เพื่อสังคมกันอย่างคึกคัก ที่เห็นจนชินตา เช่น การปลูกป่า สร้างฝาย ขุดลอกคูคลอง ปล่อยเต่า-ปลา แต่สำหรับ CSR ที่เกี่ยวกับการพัฒนา "วัด" ธรรมสถานอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนและชุมชนกลับมีน้อย และส่วนใหญ่จะเป็นในรูปของกฐิน ผ้าป่า หรือหยอดตู้บริจาค ทำบุญ มากกว่าการ "บำรุงรักษา" หรือ "พัฒนา" วัดให้เป็นศาสนสถานที่สะอาด ปลอดภัย มีสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อสุขอนามัยของพระสงฆ์ และสะดวกต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์และประชาชน
สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงได้จัดกิจกรรม CSR ภายใต้โครงการ "วัดสร้างสุข" โดยร่วมกับองค์กรธุรกิจ สถานศึกษา ชุมชนและประชาชนที่มีหัวใจ CSR ผนึกกำลังขับเคลื่อนกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาวัดทั่วประเทศให้เป็น "วัดสร้างสุข" ที่ยั่งยืน ผ่านวิถี 5ส คือ สะสาง, สะดวก, สะอาด, สร้าง มาตรฐาน และสร้างวินัย ซึ่งเป็นการทำ 5ส ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการทำ 5ส ในประเทศไทย เพราะการทำ 5ส จะสำเร็จและยั่งยืนหรือไม่ อยู่ที่ ส ตัวที่ 5 คือ สร้างวินัย
ดังนั้นโครงการ วัดสร้างสุข จึงนำเอาหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับกิจกรรม CSR ทำนุบำรุงรักษาและพัฒนาวัด เช่น โบสถ์ ศาลา กุฏิ ห้องสุขา สังฆภัณฑ์ ครุภัณฑ์ ระบบการเงิน การจัดการขยะ ที่จอดรถ ระบบจราจรในวัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของพระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนที่ประกอบศาสนกิจหรือศึกษาเรียนรู้หลักธรรม คำสอน นำมาซึ่งความ "สุขกาย สบายใจ" ทุกครั้งที่มาวัดโดยรูปแบบกิจกรรม เริ่มจากชักชวนบริษัทหรือองค์กรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จากนั้นร่วมกันคัดเลือกวัดที่เจ้าอาวาสหรือชุมชนรอบวัดสนใจเข้าร่วมกิจกรรม โดยจับคู่ 1 วัด ต่อ 1 บริษัท จากนั้น ส.ส.ท. จะเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงอบรม ถ่ายทอด 5ส ให้กับบริษัทหรือองค์กรในรายที่ยังขาดความรู้หรือประสบการณ์ 5ส ก่อนลงพื้นที่
ทำกิจกรรมพัฒนาวัด ร่วมกับพระสงฆ์และชุมชนรอบวัด โดยทำกิจกรรมต่อเนื่อง 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย ซึ่งนอกจากผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัทแล้ว ยังสามารถระดมผู้ที่มีจิตอาสา เช่น เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมทำกิจกรรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่สิ่งที่ได้คือ วัดสะอาด เป็นระเบียบ นำมาซึ่งสุขอนามัยที่ดีของพระสงฆ์ ประชาชน รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาศึกษาหาความรู้และประกอบศาสนกิจ ลดความสิ้นเปลืองทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย และเหนือสิ่งอื่นใดคือ เป็นการปลูกฝังวินัย ความรักสามัคคีในแบบที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย พร้อมนำหลัก 5ส ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ครอบครัว ชุมชน และองค์กร นอกจากนี้ ส.ส.ท. ยังประชาสัมพันธ์กิจกรรม CSR ให้กับบริษัทหรือองค์กรที่เข้าร่วมโครงการผ่านรายการโทรทัศน์ "ดูดี CSR" หรือรับการอบรมหลักสูตร 5ส หรืออื่นๆ จาก ส.ส.ท. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย
ส.ส.ท. ได้ดำเนินโครงการวัดสร้างสุขมาตั้งแต่ปี 2557 โดยเลือกวัดในกรุงเทพฯ 4 แห่งเป็นวัดต้นแบบนำร่อง ได้แก่ วัดคลองเตยใน, วัดจำปา, วัดสุทธิวราราม และวัดด่าน ซึ่งได้รับการตอบรับจากภาคประชาชนที่มีจิตอาสาร่วมแรงร่วมใจกันทำ 5ส ให้เป็นวัดสร้างสุขตามหลัก "สัปปายะ" ในทางพุทธศาสตร์ คือ สะอาด สะดวกสบาย ปลอดภัย
นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของพระสงฆ์และการประกอบกิจกรรมทางศาสนาของพระสงฆ์และประชาชน ถือเป็นการนำร่องที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นำไปสู่การผลิตคู่มือ วัดสร้างสุข (5ส ภาคประชาชน) เพื่อถอดบทเรียนจาก 4 วัดนำร่องสู่โครงการในระยะที่ 2 ในปี 2558 ขณะนี้มีคู่บริษัทและวัด 95 แห่งที่เข้าร่วมกิจกรรมวัดสร้างสุขระยะที่ 3 มี เป้าหมายครอบคลุมทั่วประเทศ
นายอนุวรรตน์ ศิลาเรืองอำไพ ผู้อำนวยการสายงานการศึกษาฝึกอบรมและวินิจฉัยให้คำปรึกษาสถานประกอบการสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เปิดเผยว่า 5ส เป็นวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นและภาคธุรกิจ องค์กรต่างๆ ใช้หลัก 5ส เป็นปัจจัยเพิ่มผลผลิตและจีดีพีของประเทศ ส.ส.ท. ได้นำระบบ 5ส ในแบบของญี่ปุ่นมาเผยแพร่อบรมให้กับบริษัทและองค์กรต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2527 ต่อมา ปี 2557 ได้รับงบสนับสนุนจาก สสส. ดำเนินโครงการวัดสร้างสุข ตามหลัก 5ส ในแบบของกิจกรรม CSR ที่ต่อเนื่องและยั่งยืน โดย ทุกภาคส่วนที่ร่วมกิจกรรมสามารถนำไปใช้ได้ต่อเนื่องไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจบไป และตอนนี้เราไม่ได้หยุดอยู่แค่บริษัทและวัด 95 แห่ง แต่จะเพิ่มจำนวนวัดให้มากขึ้นและครอบคลุมทุกภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็จะมีกิจกรรมที่จะทำคู่ขนานกันไปกับการเสริมแรงจูงใจและให้รางวัลแก่ ผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น การประชาสัมพันธ์กิจกรรม CSR ให้กับบริษัทและล่าสุดกำลังจะร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่งตัวแทนของแต่ละหน่วยงานเข้าร่วมตรวจเยี่ยมวัดต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ
และให้กำลังใจ ทั้งในส่วนของวัด ชุมชน และบริษัทที่เป็นองค์กร จิตอาสา ที่ได้เข้าไปทำกิจกรรม CSR ดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เกิด ความยั่งยืน และเชื่อมโยงกิจกรรมนี้สู่วัดต่างๆ ทั่วประเทศ
"จึงถือโอกาสนี้เชิญชวนบริษัท หรือองค์กรต่างๆ ที่สนใจ เข้าร่วมโครงการวัดสร้างสุข ซึ่งเรายังเปิดรับอยู่เรื่อยๆ เพราะยังมีวัดอีกจำนวนมากทั่วประเทศที่เราทุกคนต้องร่วมกันรักษาและพัฒนาให้คงอยู่คู่วิถีไทยหรือวิถีพุทธ โครงการนี้ไม่ใช่แต่วัดหรือพระสงฆ์ที่ได้ประโยชน์ แต่ยังเป็นการปลูกฝังจิตอาสา รู้จักให้ แบ่งปัน รู้รักสามัคคี และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวินัยของคนในชาติเพื่อความสุข ที่ยั่งยืนของคนในชาติ" นายอนุวรรตน์กล่าว
สอบถามข้อมูลการเข้าร่วมโครงการวัดสร้างสุข ได้ที่ สมาคมส่งเสริม เทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) โทรศัพท์ 0-2717-3000-29 ต่อ 745 คุณวรจักร
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ