ภัยมิจจี้ กลโกงโลกออนไลน์ ซ้อมยกระดับรับมือมิจฉาชีพ

ข้อมูลจาก เวทีนักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ครั้งที่ 28 ภายใต้หัวข้อ “Next levels to counter fraud & deepfake: What’s else should we act ? ยกระดับรับมือมิจจี้ภัยการเงิน จากพลเมืองเท่าทันสู่นโยบายสาธารณะในยุคดีพเฟค”

ภาพโดย: Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ


                    พฤติกรรมการหลอกที่เหนือชั้นบนโลกออนไลน์ แฝงมาในรูปแบบหลอกให้รัก หลอกให้หลง หลอกให้เชื่อ หลอกให้โอน และอีกหลายรูปแบบที่กว่าจะรู้สึกตัวก็สูญเสียทั้งเงิน หรือในบางรายสูญเสียอสังหาริมทรัพย์ที่สะสมมาตลอดทั้งชีวิต

                    เวทีเสวนา “Next levels to counter fraud & deepfake: What’s else should we act? ยกระดับรับมือมิจจี้ภัยการเงิน” ที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีขึ้นเพื่ออุดช่องโหว่ ไม่ให้มิจฉาชีพ (มิจจี้) เข้ามากล้ำกราย เพราะนับวันพฤติกรรมการหลอกเหนือชั้น

                    ดร. ชญาวลี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าความเสียหาย จากภัยทุจริตทางการเงินตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน มากถึง 65,000 ล้านบาท มีตั้งแต่ หลอกให้โอนเงิน ชวนลงทุน หรือ หลอกให้รัก หรือการหลอกให้กดลิงค์ โหลดแอปพลิเคชั่น ติดตั้งระบบผ่าน SMS, ผ่านไลน์ ทำให้เข้าถึงข้อมูล เหยื่อจึงสูญเงิน ซึ่งเหยื่อชั้นดี ของมิจฉาชีพ คือ ผู้สูงอายุ ที่มีช่องว่างของความรู้ที่ไม่เท่าทันเทคโนโลยี


                    “กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว ถูกหลอกเอาข้อมูลในโทรศัพท์ ทั้งพาสเวิร์ด เงินในแอปพลิเคชั่นโมบายแบงค์กิ้งเกลี้ยงบัญชี เปิดช่องโหว่ตอนไหน แทบไม่รู้ตัว เพราะมิจฉาชีพอยู่ในที่มืด และหลอกเราได้ทุกเวลาในโลกออนไลน์” ดร.ชญาวลี กล่าว

                    ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประสานธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ยกเลิกการส่ง SMS แนบลิงค์ให้ลูกค้าทำธุรกรรมอย่างเด็ดขาด เป็นการป้องกัน หรือแม้แต่เสนอช่องทางการป้องกันการโอนเงินด้วย Money lock ซึ่งจะล็อคไม่ให้เกิดการโอนเงิน หรือการมีขั้นตอนการยืนยันการโอนเงินซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้ผู้โอนมีสติ ฉุกคิดพิจารณาขณะทำธุรกรรมต่างๆ ทุกครั้ง และตรวจทานว่าการโอนเงินนั้นถูกต้องหรือไม่

เสรีภาพทางอินเตอร์ เชื่อมต่ออาชญากรรม สติเท่านั้นช่วยได้

                    สอดคล้องกับข้อมูลของ นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สาเหตุที่มิจฉาชีพ หรือ มิจจี้หลอกลวงได้ง่ายขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายกว่าเดิม 3 เท่า ช่องทางการใช้อิสระเสรี ทำให้เหล่ามิจจี้ฉวยจังหวะนี้ เข้ามาก่อการล่อลวงคนในทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ และปรับรูปแบบการล่อลวงไปเรื่อย ๆ และใช้ AI เข้ามาช่วยในการหลอกลวงให้ง่ายและแนบเนียนขึ้น

                    “เพราะไม่สามารถควบคุมการหลอกได้ แต่ประชาชนรู้เท่าทันการหลอกได้ ฉะนั้นต้องรีบสื่อสาร แจ้งเตือน อย่าตกเป็นเหยื่อโดยง่าย ต้องคิดให้รอบคอบขณะทำธุรกรรมทางการเงิน บางครั้งแอปพลิเคชั่นธนาคารจะเด้งเตือนหลายครั้ง เพื่อยืนยันการโอนเงินถูกต้องหรือไม่ ฉะนั้นขออย่ามองเป็นเรื่องจุกจิกรำคาญ” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

                    นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ผู้สูงอายุ เป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ ฉะนั้น สสส. จะเร่งนำข้อมูลจากแหล่งผู้รู้ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ และธนาคารแห่งประเทศไทย มาย่อย ให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทัน ตระหนัก ทุกครั้งที่ทำธุรกรรม ขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อม คนในครอบครัว ถือเป็นด่านหน้า ช่วยสกัดช่วยเตือน ก่อนที่ผู้สูงอายุ จะทำธุรกรรมการเงิน

3 จุดอ่อนของสูงวัยที่โดนหลอก

                    กลยุทธ์การหลอกลวงของมิจจี๊นั้น หนีไม่พ้นการใช้จุดอ่อน นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผอ.ฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวมธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน จะมี พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่รัดกุม โดยเฉพาะระบบโมบายแบงค์กิ้งที่มีการแจ้งเตือน ถึงชื่อบัญชีปลายทางของการโอนเงิน เพื่อให้แน่ใจว่าโอนเงินถูกต้อง หรือมีบทลงโทษสำหรับผู้รับเปิดบัญชีม้าที่โทษถูกสุด ให้หมดสิทธิ์การทำธุรกรรมการเงิน แต่สิ่งเหล่านี้เทียบไม่ได้กับการป้องกันตนเอง เพราะ มิจจี้จะใช้จุดอ่อนของเหยื่อ โดยผู้สูงอายุ มีจุดอ่อน 3 ประการ คือ ใจอ่อน, เหงา ขาดรัก, ต้องการความมั่นคงทางการเงิน

                    “ความใจอ่อนของผู้สูงอายุ เห็นได้จากการโอนเงินช่วยเหลือ เพื่อน ญาติที่เดือดร้อน ขอแค่เอ่ยปาก หรือว้าเหว่เหงา กลายเป็นเหยื่อโรแมนซ์สแกม รู้ว่าโดนหลอกแต่ก็เต็มใจให้หลอกเพราะต้องการความรัก และหากเป็นผู้สูงอายุที่มีเงินเก็บ ก็อยากลงทุนเพิ่ม เพื่อบั้นปลายชีวิตจะได้มีกินใช้ไม่ขัดสน ทั้งนี้ทางแก้สำคัญ ต้องเท่าทันข่าวสาร และรับรู้กลโกงให้เร็วที่สุด” นายภิญโญ กล่าว

ถูกหลอกไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม

                    สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญไม่แพ้กัน คือ ทัศนคติของเหยื่อ เมื่อถูกหลอก นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อรู้ตัวว่ากลายเป็นเหยื่อของการหลอกลวง ส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องของเวรกรรมแต่ชาติปางก่อน ชาตินี้จึงถูกหลอกให้เสียเงิน เลยทำให้ไม่ติดใจ คิดแต่จะให้อภัย ไม่ติดใจเอาความ ทั้งความจริงแล้วในหลักพุทธศาสนา เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตั้งอยู่แล้วดับไป แต่หลักพุทธศาสนา สอนให้ใช้สติไตร่ตรอง ใคร่ครวญ แต่เมื่อเจอผู้หลอกมากกว่า 1 คน และมารวมตัวกัน ต่างคิดฟูมฟายว่า ตอกย้ำว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้แก้ไขได้ ด้วยกลไกอำนาจรัฐช่วยคุ้มครอง ช่วยเหลือ

                    “การถูกหลอกไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม หรือ บุญกรรม ทำเวร ตัวระบบกลไกของภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยเหลือ แก้ไขและเยียวยา เมื่อมีเหยื่อมากกว่า 1 คน และจำนวนหลายคน ควรตระหนักและประกาศเป็นวิกฤตของชาติในการแก้ไขปัญหา ในการทำธุรกรรมการเงิน ให้รัดกุมมากขึ้น เพราะอยู่ดีๆ เงินไหลออกจากระบบจำนวนมากจะกลายเป็นเรื่องล้มเหลวของภาครัฐ” นายอิฐบูรณ์ กล่าว

คาถากันโจร

                    พลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมกรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า ขณะที่รูปแบบการหลอกลวงของมิจจี้ ที่ก้าวล้ำไปมาก แต่วิธีการป้องกันตัวเองง่าย ๆ 3 อย่า คือ 1.“อย่ารับโทรศัพท์เบอร์แปลก” เพื่อให้ไตร่ตรอง สำคัญจริงเดี๋ยวโทรมาใหม่ 2.“อย่า กดลิ๊งก์” จาก SMS สมัยนี้ไม่มีใคร หน่วยงานไหนส่งกัน และ 3. อย่ากดรับเพื่อนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ “อ้างรู้จัก” “ตีสนิท” เพราะสุดท้ายกลายเป็นเหยื่อโรแมนซ์สแกม

                    “คาถาง่าย ๆ แบบนี้ช่วยได้ หรือเพียงแค่อย่ารู้ว่าเบอร์ที่โทรหาเราเป็นใคร ลองกดเงินโอนไปในเบอร์แปลกแค่ 1 บาท หากเป็นพร้อมเพย์ต้องดูว่าชื่อปลายทางเป็นใคร แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือโรแมนซ์สแกม เพราะการถูกหลอกให้รัก มักแฝงมากับการหลอกให้ลงทุน และสุดท้ายเหยื่อจะไม่กล้ายอมรับว่าตัวเองถูกหลอก ไม่กล้าบอกใคร เพราะมันเจ็บในใจ” พลอากาศตรีอมร กล่าว

                    พลอากาศตรีอมร กล่าวอีกว่า รูปแบบการหลอกลวงในปัจจุบันมีหลายแบบ ทั้งหลอกให้กลัวอ้างเป็นตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ เข้ามาตรวจสอบข้อมูล หลอกด้วยความโลภให้ลงทุนเพียงนิดเดียวแต่ได้ค่าตอบแทนมหาศาล หากสงสัยต้องการยุติกลับถูกหลอกซ้ำว่า ทุกอย่างที่ทำไปก่อนหน้าจะสูญเปล่า ทำให้ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนเงินที่มากขึ้นไปอีก หรือหลอกด้วยความรักเกินจริง และในรูปแบบใหม่ คือการใช้อินฟูลเอนเซอร์ที่น่าเชื่อถือ เข้ามาชักชวน ขายฝันให้ลงทุน หรือใช้เทคโนโลยีลวงให้เปิดเว็บไซด์ เพื่อขยายฐานการรับรู้ข้อมูลลวงหรือเป็นเท็จ

                    สารพัดวิธีลวงหลอก ทำให้รู้ว่า มิจจี้ พัฒนา ไม่หยุดนิ่ง เหมือนเชื้อโรคที่ไม่ยอมตาย ฉะนั้นยาดี ที่รักษาและป้องกัน คือ เตือนตัวเอง ไม่เข้าใกล้ไม่สัมผัสกลโกงที่แฝงมากับเทคโนโลยี ไม่กด ไม่รับ ไม่แชร์ ไม่เชื่อ อะไรโดยง่าย ไตร่ตรองเสมอ ก่อนทำธุรกรรม

Shares:
QR Code :
QR Code