ภัยดื่มสุรา สร้างภาระสุขภาพ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของปัญหามากมาย โดยเฉพาะความพิการหรือเสียชีวิต จากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ รวมไปถึงยังสร้างปัญหาต่อสุขภาพร่างกาย และภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจ
คนตายจากแอลกอฮอล์ประมาณ 3 ล้านคนต่อปีทั่วโลก อุบัติเหตุและบาดเจ็บ 9 แสนคน เมาแล้วขับเกิดอุบัติรถชนกว่า 3.7 ล้านคน ไม่รวมดื่มแล้วทำร้ายตัวเองก่อคดีฆาตกรรม ผลจากพิษน้ำเมาต่อสุขภาพร่างกายยังก่อโรคมะเร็งกว่า 4 แสนคน ถัดมาโรคทางเดินอาหารและภาวะตับแข็ง นอกจากนี้ นักดื่มป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคเส้นเลือดและอีกนับแสนที่เสียชีวิตจากภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ
แต่การตายไม่ใช่ปัญหาเดียวของแอลกอฮอล์ น้ำเมาเหล้าเบียร์สร้างภาระทางสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต และสังคมไทยอย่างรุนแรง เหตุนี้ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จัดประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ปีที่ 11 ภายใต้หัวข้อ "ก้าวสู่ทศวรรษที่สองของนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย" ระหว่างวันที่ 25-26 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมแมนดาริน พระราม 4 เพื่อแสวงหานโยบาย มาตรการ กฎหมาย กลไกการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิผล และสะท้อนความรุนแรงของปัญหาจากสุรา
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาหลายมิตินอกจากมิติสุขภาพ ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อคนในสังคม จากผลสำรวจสถานการณ์บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2544-2560 การดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 32.6 ในปี 2544 มาเป็นร้อยละ 30.0 ในปี 2550 และในปี 2560 ลดลงอีก เป็นร้อยละ 28.4 สะท้อนให้เห็นว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีการดื่มลดลง สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายดื่มน้ำเมาลดลง ต่อเนื่องจาก 151,607 ล้านบาท ปี 2548 เป็น 142,230 ล้าน ในปี 2560
"สสส. ยังคงมุ่งเน้นการทำงานเพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้ความสำคัญกับการทำงานที่อาศัยความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของทุกภาคส่วน มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ ควบคู่การขับเคลื่อนภาคประชาสังคมและภาคนโยบาย รวมถึงต่อยอดการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบุญประเพณีปลอดเหล้า การร่วมใจงดเหล้าเข้าพรรษาต่อเนื่องทุกปี และสร้างความร่วมมือให้ทุกจังหวัดร่วมจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้า ทุกภาคส่วนทำงานเข้มแข็ง" ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ กล่าว
ส่วนประเด็นร้อนภาระสุขภาพ ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า รูปแบบและปริมาณการดื่มส่งผลกระทบ เพราะพิษจากแอลกอฮอล์มีผลต่อระบบประสาท มีการมึนเมาและเป็นสารเสพติด เกิดภาระทางสุขภาพ ผู้ดื่มเจ็บป่วยเรื้อรังด้วยโรคมะเร็งโรคตับ ถ้าฉับพลันทำให้เส้นเลือดสมองแตก ภาระทางสังคมก่อเกิดอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ สร้างปัญหาสังคมเรื้อรัง เช่น การตั้งกลุ่มเสพแอลกอฮอล์ มีพฤติกรรมระรานผู้อื่น รัฐจึงมีความชอบธรรมในการควบคุม เพราะแอลกอฮอล์กระทบวงกว้าง
"ปัญหาใหญ่ที่สุดของแอลกอฮอล์ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั้งจากอุบัติเหตุและโรคต่างๆ ซึ่งสังคมเสียโอกาสและเป็นต้นทุนค่ารักษาพยาบาล ความเสียหายต่อทรัพย์สินทางอ้อมต้นทุนจากการตายก่อนวัย อีกทั้งสังคมชุมชนที่ไม่เข้มแข็งหรือไม่มีระเบียบ มีความหนาแน่นของจุดขายแอลกอฮอล์ เช่น ร้านมีที่นั่งดื่มจะดึงดูดกลุ่มเสี่ยง มีการจี้ปล้น ขณะที่ร้านไม่มีที่นั่งดื่มจะพบการดื่มในที่สาธารณะ สร้างปัญหาจราจร มาตรการลดผลกระทบรัฐธุรกิจและประชาชนต้องร่วมมือกัน" ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
รศ.นพ.หม่อมหลวงทยา กิติยากร อาจารย์สาขาวิชาโรค ทางเดินอาหารและตับ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล เปิดเผยว่า มีรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ.2557 พบว่า แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุปีที่เสียไปจากการตายก่อนวัยอันควรหรือพิการ 132.6 ล้านปีสุขภาวะ DALYs ต่อปีทั่วโลกเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ ผลเกิด มากกับประชาชนที่อายุไม่มากอัตราการตายพบในชายมากกว่าหญิง มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งรองลงมาบาดเจ็บอุบัติเหตุและความผิดปกติทางจิต
มีรายงานในปี 56 มีผู้ป่วยตับแข็งกว่าหมื่นคนนอนรักษาตัวใน รพ. ซึ่งแอลกอฮอล์เป็นเหตุถึง 41% ตาย 10% ค่าใช้จ่าย ประมาณหมื่นกว่าบ้านต่อครั้งที่เข้ารักษา ส่วนทั้งปีการดูแลผู้ป่วยตับแข็งจากการดื่ม 379 ล้าน ค่าใช้จ่ายในการบริโภคน้ำเมาในหนึ่งปี 156,105 ล้าน เราทำอะไรได้กับเงินนี้ ตนร่วมกับภาคีเครือข่ายหาวิธีหยุดสุราในผู้ป่วยตับ เมื่อเกิดภาวะโรคแล้ว หากหยุดดื่ม มีงานวิจัยชัดเจน อัตราเสียชีวิตลดลงเทียบกับดื่มต่อ
เจ็บป่วยทางจิตผลจากพฤติกรรมดื่มอีกประเด็นร้อนในเวที ศ.พญ.สุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า ภาวะเจ็บป่วยทางจิตสัมพันธ์กับการดื่มสุรา ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ปี 2019 ทั่วโลกมีคนดื่มสุรามากว่า 2 ล้านล้านคน คิดเป็น 43% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มในช่วง1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะยุโรปมีคนดื่มมากกว่าถึงร้อยละ 59% ความชุกติดสุราพบชายมากกว่าหญิง 5.4 เท่า
"ดื่มแล้วทำให้ป่วยทางจิต และคนป่วยทางจิตดื่มมากขึ้น เพราะเชื่อที่ผิดว่า ดื่มแล้วคลายเศร้า ดับทุกข์ ดื่มมากเป็นประจำ นำมาสู่สมองฝ่อ ดื่มนาน 5 ปี ทำงานได้ไม่ดี เรียนหนังสือได้ไม่ดี บุคลิกภาพเปลี่ยนไป แก้ปัญหาไม่ได้ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ขาดแรงจูงใจใฝ่สำนึก เราพบว่า คนดื่มเหล้ามีปัจจัยเสี่ยง โรควิตกกังวลสูงถึง 2 เท่า มีการศึกษาทำให้เกิดโรคซึมเศร้า 1.9 เท่า รวมถึงอารมณ์แปรปรวนนำสู่การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เกิดหนี้ ทำร้ายตัวเองมากกว่า 8.6%
ที่น่าวิตกการดื่มหนักสัมพันธ์ฆ่าตัวตายมาก แม้คนไทยปริมาณการดื่มลดลง แต่ดื่มประจำยังมี จำนวนมาก ส่วนอายุที่ดื่มมากเป็นวัยทำงาน 36% ส่วนนักดื่มที่เข้าถึงการรักษาพยาบาลมีเพียง 6.13%" ศ.นพ.สุวรรณา ย้ำภาวะเจ็บป่วย มาจากติดสุรา ขาดเหล้า ตามด้วยโรคจิตเวช ไม่ควรเกี่ยวข้องหรือหยิบยื่นแอลกอฮอล์ให้คนที่เรารัก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
ส่วนมาตรการกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่ม ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล คณะนิติศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ เสนอว่า การดื่มสุราเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ต้องไม่กระทบสิทธิผู้อื่น พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่สำคัญมากในชีวิตประจำวัน ควรกำหนดนิยามพื้นที่สาธารณะให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์แต่ละพื้นที่ กำหนดบทคุ้มครองผู้ดื่มในพื้นที่สาธารณะตามรัฐธรรมนูญ กำหนดกรอบควบคุมและให้อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานระดับท้องถิ่น ในการพิจารณาส่วนหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายจริงจังเพิ่มบทลงโทษ