ฟื้น “คีรีวงกต” ค่ายกลรวมใจ”บ้านคำกลาง”

ฟื้น “คีรีวงกต” ค่ายกลรวมใจ”บ้านคำกลาง” 

            พูดถึง “คีรีวงกต” ประเพณีโบร่ำโบราณของคนอีสานที่สืบทอดมาร่วม 200 ปี และหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยรู้จักกัน ประเพณีนี้เป็นกิจกรรมในรูปแบบที่คนในชุมชนมาร่วมมือร่วมใจกันจัดในช่วงงานบุญออกพรรษา มีการทำบุญที่วัดชาวบ้านจะช่วยกันคนละไม้ละมือ สร้างค่ายกลจำลองเหมือนเขาวงกตที่ลดเลี้ยว โดยการนำไม้ไผ่มากั้นทางเดินเป็นวงเวียน เพื่อให้คนเดินเข้าไปถวายดอกไม้ธูปเทียนบูชาที่ร้านประทีปที่จัดทำขึ้น

         

นายพรณรง ปั้นทอง แกนนำเครือข่าย บ้านคำกลาง ต.โนนหนามแท่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ บอกว่า จุดเริ่มต้นการทำคีรีวงกต มาจากโครงการลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยมีหลายหน่วยงานให้การสนับสนุนทั้ง มูลนิธิเพื่อนหญิง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และโครงการครอบครัวเข้มแข็งโดยชุมชน สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยแกนนำได้เห็นรูปแบบการทำคีรีวงกตของบ้านวัดดอนมดแดง ที่อาศัยความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชนมาใช้เป็นเครื่องมือดึงคนเข้าวัด จึงคิดนำมาพัฒนาที่หมู่บ้านคำกลาง โดยจัดกิจกรรมฟื้นฟูวัฒนธรรม คีรีวงกตขึ้น

           

ผลตอบรับจากการจัดกิจกรรมคีรีวงกตในงานออกพรรษาปีที่แล้วค่อนข้างดี ในปีนี้ชาวบ้านในหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือแม้คนต่างหมู่บ้านต่างอยากเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เมื่อวันที่ 21-23 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดกิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคีรีวงกตเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเด็กๆ ทำให้เกิดความอยากรู้อยากลอง” พรณรงให้ภาพการจัดกิจกรรมในปีนี้

 

          สำหรับในปีหน้า ชาวบ้านจะมีการจัดงานคีรีวงกตเพิ่มแบบเต็มรูปแบบ 12 วง เพิ่มวงให้ใหญ่กว่าเดิมแสดงให้เห็นว่า หมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะหมายถึงมีทรัพยากรในการนำมาทำมาก โดยเฉพาะไม้ไผ่ ผนวกกับความเชื่อและความศรัทธาที่ว่า หากนำเอาดอกข้าวมาบูชา จะทำให้การทำนาของชาวบ้านได้ผลผลิตสูง เพราะได้พรจากเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

 

          ขั้นตอนการทำคีรีวงกต จะมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบช่วยกันคนละไม้คนละมือ โดยใช้เวลาในการเตรียมงานทำคีรีวงกตประมาณ 20 วัน พอถึงวันทำกิจกรรม ซึ่งเป็นวันก่อนออกพรรษา 2 วัน และวันออกพรรษา 1 วัน รวม 3 วัน กิจกรรมแต่ละวัน ก็จะมีการทำพิธีกรรมทางศาสนา การละเล่นพื้นเมือง เช่น ปีนเสาน้ำมัน ชิงมะพร้าว ฟื้นฟูการทำพลุ ตะไล ส่วนตอนเย็นของทั้ง 3 วัน จึงจะออกมานำเอาดอกข้าว ดอกไม้ ธูปเทียน มาบูชาตามวงเวียนคีรีวงกตที่ได้ทำไว้

 

วัฒนธรรมคีรีวงกตนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วม ที่ก่อให้เกิดความสามัคคี ความเพียร ความอดทน การเสียสละของผู้นำ บวกกับวิถีของคนที่จะร่วมพิธีในวัด จะต้องทำตัวให้สะอาดบริสุทธิ์ ลด ละ เลิกเหล้า ปลอดจากอบายมุข ต้องอาบน้ำอาบท่า แต่งตัวสวยงามก่อนมาร่วมกิจกรรม และเมื่อเดินเข้าไปในคีรีวงกต ก็ต้องมีสติไม่เช่นนั้นอาจหลงทางเหมือนติดในเขาวงกตได้ ถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ทำให้คนประพฤติดี เป็นเครื่องมือที่จะช่วยดึงคนเข้าวัด โดยเชื่อว่า จะทำให้คนที่เข้าร่วมงานทุกปีมีคุณธรรมจริยธรรม มากกว่าหมู่บ้านที่ปล่อยไปตามยุคสมัย โดยไม่ทำอะไรเลย นอกจากนี้ การทำคีรีวงกต ยังจะทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยการถ่ายทอดให้พวกเขาเป็นผู้สืบสานและร่วมอนุรักษ์ต่อไปอีกด้วย

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

Update : 23-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code