ฟื้นศักยภาพให้โอกาสผู้ป่วยจิตเวช
กรมสุขภาพจิต วอนสังคมอย่าอคติหรือตีตราผู้ป่วยด้วยความกลัว ความเกลียดชัง ควรให้โอกาสผู้ป่วยจิตเวชได้มีที่ยืนในสังคม และได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามีศักดิ์ความเป็นมนุษย์
แฟ้มภาพ
นพ.เจษฏา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สังคมในปัจจุบันยังคงมีอคติกับผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุรุนแรงปรากฏเป็นข่าวครึกโครมยิ่งทำให้สังคมเกิดความกลัว ความหวาดระแวง และความเกลียดชัง ตอกย้ำ ตราบาป (stigma) ลดคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาให้น้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งในความเป็นจริงผู้ป่วยทางจิตมีเพียงจำนวนน้อยที่ก่อเหตุรุนแรงขึ้นในสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับการกระทำความผิดจากบุคคลที่สภาพจิตปกติ
ทั้งนี้ จากการสำรวจสุขภาพจิตของคนไทยครั้งล่าสุด คาดว่ามีผู้ป่วยโรคจิตประมาณ 5 แสนคนมีผู้ป่วยทางจิต 172 รายที่ก่อคดี ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 1 ขณะที่ความผิดร้ายแรงฐานฆ่า/พยายามฆ่า มีประมาณ 1 ใน 5 ส่วนที่เหลือเป็นความผิดคดีอื่นๆ เช่น ทำร้ายร่างกาย บุกรุก ยาเสพติด วางเพลิง ฯลฯ โดยผู้ป่วยเหล่านี้จะเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา ฟื้นฟู และติดตามอย่างต่อเนื่องด้วยมาตรฐานเดียวกัน ป้องกันไม่ให้เกิดการก่อคดีซ้ำได้รับการรักษาให้หายและกลับคืนสู่สังคมสามารถประกอบอาชีพใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป จึงขอให้สังคมอย่าอคติและตีตราผู้ป่วยแต่ควรให้โอกาสผู้ป่วยได้มีที่ยืนในสังคม
อย่างไรก็ตาม การดูแลผู้ป่วยจิตเวชนั้น แตกต่างจากการบำบัดรักษาโรคอื่น ที่ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน จึงจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า ส่วนที่หนึ่ง คือการดูแลรักษาตามหลักวิชาการแพทย์ ส่วนที่สอง คือ ครอบครัว ที่จะให้การสนับสนุน ให้กำลังใจผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และ ส่วนที่สาม คือ สังคม ที่จะให้โอกาสผู้ป่วยในการดำเนินชีวิตให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ รวมทั้งจำเป็นต้องใช้กลไกทั้งทางกฏหมาย ชุมชนและสังคม เช่น การมีกฏหมายด้านสุขภาพจิต พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองปกป้องสิทธิของผู้ป่วยจิตเวช มุ่งเน้นส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู เพราะการดูแลผู้ป่วยไม่ใช้เพียงแค่การรักษา
แต่เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว ต้องดูแลครอบคลุมไปถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถกลับมาใชชีวิตในสังคมได้เหมือนคนทั่วไป การมีระบบการส่งเสริมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยในชุมชน เช่น การใช้นวัตกรรมการบริหารสุขภาพจิตชุมชนระบบ "ใกล้บ้านใกล้ใจ" ที่ช่วยให้ประชาชนและชุมชนได้รับการดูแลสามารถเข้าถึงบริการ ด้วยการลดอคติของชุมชนได้รับการดูแลสามารถสร้างเข้าถึงบริการ ด้วยการลดอคติของชุมชนที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวช สร้างแกนนำที่สามารถช่วยดูแลผู้ป่วย การสร้างสมรรถนะและศักยภาพของผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่เกิดอาการกำเริบจนต้องกลับมารักษาซ้ำ และสามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ ดูแลตนเองและทำกิจวัตรประจำวันตลอดจนสามารถประกอบอาชีพที่พึ่งพาตนเองได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและย้ำว่า โรคทางจิตเวชสามารถรักษาได้ เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ยิ่งเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆยิ่งดี เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยต้องกินยา หรือฉีดยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ตามปกติ ทั้งนี้เรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ปัญหาการขาดยา หรือการลดยา รวมถึงการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางจิตขั้นรุนแรง หากพบว่าผู้ป่วยนอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ ก้าวร้าว วิตกกังวล หวาดกลัว ฉุนเฉียวง่าย ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือโทร.ปรึกษา สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝึกอาชีพมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ป่วยจิตเวชเนื่องจากพยาธิสภาพของโรคที่มีผลต่อกระบวนการคิด การรับรู้ อารมณ์ และพฤติกรรมของผู้ป่วยอย่างรุนแรง ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการใช้ชีวิตในสังคม ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนว่างงาน จึงมักได้งานที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพและความสนใจ หรืองานอาจส่งผลกระทบต่อความเจ็บปวดของตนเนื่องจากผู้ป่วยมักไม่สามารถแข่งขันกับบุคคลทั่วไปในตลาดแรงงานได้จึงมัก ถูกเลือกปฏิบัติและบางครั้งผู้ป่วยถูกปฏิเสธให้เข้าทำงาน อันเป็นผลมาจากความเชื่อ และทัศนคติในแง่ลบที่สังคมมีต่อผู้ปวยจิตเวชด้วยขาดความรู้ความเข้าใจ สภาพการณ์ด้านอาชีพเหล่านี้ นำมาซึ่งความรู้สึกด้อยคุณค่า ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลงจนอาจกลายเป็นภาระของครอบครัวและสังคมในที่สุด
ที่ผ่านมาหน่วยบริการต่างๆ ได้จัดบริการให้การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านสังคมจิตใจและอาชีพควบคู่ไปกับการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้เช่นเดียวกับบุคคลปกติทั่วไป อีกทั้งยังมุ่งหวังให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าที่ควร แต่การทำให้ผู้ป่วยกลับไปสร้างชีวิตของตนเองเช่นเดียวกันบุคคลทั่วไปยังไม่บรรลุผล ทั้งนี้เนื่องจากการฝึกฝนอาชีพให้กับผู้ป่วยมีข้อจำกัดหลายประการทั้งด้านประเภทงานที่เหมาะสมกับบริบทสังคมเมือง บุคลากรทางสาธารณสุขและงบประมาณ เพื่อให้ผู้ป่วยมีที่ยืนในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี และมีคุณค่าจำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับความร่วมมือจากครอบครัว ชุมชน และสังคมที่ควรเอื้อโอกาสด้านอาชีพให้แก่ผู้ป่วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์