ฟื้นนาร้างที่ ‘แว้ง’ ได้มากกว่าข้าว

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา


ฟื้นนาร้างที่ 'แว้ง' ได้มากกว่าข้าว thaihealth


แม้ที่ชุมชนบ้านละหา อ.แว้ง จ.นราธิวาส จะเริ่มก่อตั้งโรงเรียนชาวนา และฟื้นนาร้างมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2549 แต่ที่ผ่านมา การชักชวน ชาวชุมชนให้หันกลับมาทำนาอีกครั้ง หลังจากที่ทิ้งไปนานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ราคายาง กิโลกรัมละ 80-90 บาท


วันนี้ เมื่อราคายางตกต่ำเหลือเพียง 5 กิโลกรัมขาย 100 บาท ครั้งนี้จึงถือเป็นวิกฤติที่สร้างโอกาสทำให้ชาวชุมชนเริ่มหันมาให้ความสนใจการฟื้นนาร้างที่ทิ้ง มานานกว่า 20 ปี เพื่อสร้างแหล่งอาหาร  ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลงไปได้


มูฮำหมัด บิง ผู้อำนวยการโรงเรียน ชาวนาบ้านละหา ต.แว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส เล่าว่า เมื่อปี 2548 ดือเลาะ สะอะ ผู้อาวุโสในหมู่บ้านมีความกังวล หลังจากที่เห็นพื้นที่นาลดลงอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้าน ทิ้งนาทำสวนยาง และในปี 2547 มีปัญหาเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ ทำให้เป็นห่วงว่าลูกหลานจะขาดแคลนอาหารเหมือนในอดีตที่รัฐบาลเคยจำกัดการซื้อขายข้าวในพื้นที่ให้ครอบครัวละ 5 กิโล เพราะเกรงกลัวปัญหาคอมมิวนิสต์


"ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน พูดคุยกัน หลายครั้ง ทั้งหลังการละหมาด วงน้ำชาถึงปัญหาพื้นที่นาร้าง และเตือนชาวชุมชนเสมอๆว่า 'ยางคือลูกเลี้ยง ข้าวคือลูกแท้' จนในที่สุดเห็นว่าควรจะต้องฟื้นนาร้างกลับมา จึงเริ่มชักชวนชาวนาในหมู่บ้านประมาณ 7-8 คนฟื้นนาร้างที่มีอยู่เกือบ 200 ไร่"


การเริ่มต้นทำนาครั้งแรกจึงเกิดขึ้น ในปี 2549 ซึ่งครั้งนั้นก็ถือเป็นความร่วมมือระหว่างชาวชุมชนและภาครัฐคือเกษตรอำเภอ หน่วยงานเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 35 และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ให้มาทำโรงเรียนชาวนา สร้างโรงสีข้าวและอุปกรณ์ใน การทำนา


ถึงจะเป็นเรื่องยากในการชักชวน ชาวนาที่ปล่อยนาร้างทิ้งให้กลับมาฟื้นฟูนาใหม่ แต่โรงเรียนชาวนาก็สามารถสร้างการเรียนรู้ จนเพิ่มสมาชิกชาวนาจากเดิม 7-8 ครัวเรือนมาเป็น 13 ครัวเรือนในหนึ่งปี และในปัจจุบันมีสมาชิกชาวนาเพิ่ม มากขึ้น 35 ครอบครัว


ฟื้นนาร้างที่ 'แว้ง' ได้มากกว่าข้าว thaihealth


"การสร้างอาหารในชุมชนถือเป็นความมั่นคงที่ยั่งยืน วันนี้ราคายางพาราตกต่ำให้ชาวชุมชนหันมาสนใจที่จะฟื้น นาร้างมากขึ้น" โดย มูฮำหมัด บอกว่า จากเดิมที่ฟื้นนาร้างแค่ชุมชนละหาน  ตอนนี้ขยายร่วมกัน 6 ตำบล ประกอบด้วย ต.โล๊ะจูด อ.แว้ง ต.เอราวัณ ต.ฆอเลาะ ต.แม่ดง ต.กายูคละ เป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่อำเภอแว้ง ตั้งมั่น ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความมั่นคงทางอาหาร โดยจะร่วมกันฟื้นนาร้าง 200 ไร่ร่วมกัน


นอกจากนี้เพื่อสร้างอาหารปลอดภัย หลังจากตรวจพบชาวชุมชนมีสารเคมี ในเลือดตกค้างจำนวนมาก จึงได้ตั้ง เป้าหมายร่วมกันในการทำเกษตร อินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี ทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ร่วมกัน


"การกลับมาฟื้นนาร้าง ไม่ใช่แค่ การปลูกข้าวจะได้แค่ข้าว มันได้มากกว่านั้น หลังจากเราฟื้นนาร้าง เราได้เพื่อน ได้สุขภาพที่ดีกลับมา ได้วิถีดั้งเดิมเพราะในนามีปลาให้จับมากินเป็นอาหารเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นการทำนาที่ได้มากกว่าข้าว" มูฮำหมัดบอก


ทั้งนี้ความร่วมมือของชาวชุมชนทั้ง 6 ตำบลใน อ.แว้ง ไม่ใช่เพียงแค่ชุมนเท่านั้นที่ร่วมมือเดินหน้าฟื้นนาร้าง แต่ยัง ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย


จุฑามณี หามะ นายกองค์ การบริหารส่วนตำบลแว้ง กล่าวว่า  การปฏิญญาร่วมกันในการฟื้นนาร้างของชาวชุมชน 6 ตำบล ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีเพราะชุมชนหันกลับมาสร้างแหล่งอาหารของตัวเอง จากเดิมที่เคยเป็นวิถีเก่าๆ  ซึ่งในอดีตเคยมีทุ่งนากว้างขวางตอนนี้กลายเป็นสวนยาง ชาวนาส่วนใหญ่ ก็ซื้อข้าวกิน การกลับมาทำนาใหม่ โดยเฉพาะการทำนาอินทรีย์จะช่วยลด ค่าใช้จ่ายของชาวชุมชนลงมา ในภาวะที่ราคายางไม่ได้สูงเหมือนเดิม เป็นการพึ่งพาตัวเองแบบพอเพียงแบบหนึ่ง


ขณะที่ในระดับจังหวัด สุรพล พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมาร่วมเกี่ยวข้าวลงแขกกับชาวนา  ก็บอกช่นกันว่าจะสนับสนุนและกำหนดให้เป็นนโยบายของจังหวัดในการฟื้น นาร้าง โดยขยายไปในเขตอำเภออื่นๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป้าหมายในเรื่อง การทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ เพราะว่า การหันกลับมาทำนาจะช่วยลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของชุมชน โดยเฉพาะ ในช่วงที่ราคายางตกต่ำเช่นนี้


สำหรับปฏิญญาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่อำเภอแว้ง  ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่ ความมั่นคงทางอาหาร ประกาศ ร่วมกัน มีเนื้อหาดังนี้คือ จะขอน้อมนำศาสตร์ พระราชาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เข้าใจ  เข้าถึง พัฒนา" "ระเบิดจากข้างใน"  และ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" มากำหนดทิศทางการพัฒนา มาพัฒนาวิธีการและขั้นตอน มาออกแบบกระบวนการ สู่การสร้างความมั่นคง ทางอาหาร ให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์  4 ประการ ดังนี้


ประการที่หนึ่งร่วมกันทบทวนปฏิบัติการตนเอง จนเป็นวิถีชุมชนเพื่อบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ 2 เรื่องขจัด ความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนอันสอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทยและสอดคล้องกับเป้าหมายที่สังคมโลกได้ตกลงกันไว้


ประการที่สองการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวท้องถิ่น โดยในปัจจุบันได้อนุรักษ์และดำเนินการส่งเสริมการเพาะปลูกพันธุกรรมข้าวท้องถิ่น 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ซือรีบูกันตัง และพันธุ์มะจานู และจะดำเนินการรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวท้องถิ่นเพิ่มเติม อันส่งผลให้เกษตรกรมีความรัก ความหวงแหน ในบ้านเกิด มีธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชที่มีการจัดการที่ดี


ประการที่สามขับเคลื่อนให้เกิดการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปัจจุบันมีครัวเรือนเกษตรกร ที่ทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม จำนวน 60 ครัวเรือน  จำนวนกว่า 200 ไร่


ประการที่สี่ แสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการค้นหา และกระตุ้นให้เกิด "โรงเรียนชาวนา" ในตำบลและอำเภอในจังหวัดนราธิวาส เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสานเครือข่ายและให้เกษตรกรที่สนใจได้ใช้ประโยชน์เพื่อ การเรียนรู้


นำไปสู่การทำนาได้จริง และ ทำนาได้มากกว่าข้าว

Shares:
QR Code :
QR Code