ฟิตกิจกรรมทางกาย แข็งแรงสู้โรค
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่า การมี “กิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกถึงร้อยละ 5.5 หรือประมาณ 3.2 ล้านรายต่อปี
‘กิจกรรมทางกาย’ ที่ว่านี้กล่าวง่ายๆ ก็คือ ทุกกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เป็นำคำที่เริ่มรู้จักมากขึ้น จากเดิมการรณรงค์จะเน้นว่าคนเราต้องออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที เริ่มจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะทางวิชาการพบข้อมูลสำคัญว่า การอยู่นิ่งๆ เกิน 2 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการนั่งดูทีวี เรียนหนังสือ หรือทำงาน เป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งทางแพทย์ยังพบว่า เป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งลำไส้อย่างช้ดเจน
แต่โลกยุคปัจจุบัน ประชากรกลับถูกตรึงไว้กับหน้าจอมากขึ้น จนเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยแต่ละวันเราใช้เวลาติดจอ 6-7 ชั่วโมง โดยรวมแล้วมีพฤติกรรมเนือยนิ่งถึงวันละ 13.42 ชั่วโมง
ข้อมูลจาก WHO ยังพบว่า ประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลกประมาณ 1 ใน 4 ยังมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน ก็พบว่าเด็กอายุ 12-13 ปี ยังมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ทำให้แต่ละปีประชากรโลก 35 ล้านคน ต้องเสียชีวิตไปเพราะโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ความดัน มะเร็ง เบาหวาน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเสียงจากพฤติกรรมของเราเอง ทั้งการบริโภคอาหารไม่เหมาะสม ความเครียดสะสม สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ที่สำคัญคือ ขาดการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งมีคำจำกัดความคำว่า ‘กิจกรรมทางกาย’ ว่าคือการเคลื่อนไหวอะไรก็ได้ที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ แบ่งได้ 3 ระดับ
ระดับเบา : การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นระดับการเคลื่อนไหวน้อยมาก เช่น การยืน การนั่ง การเดินระยะทางสั้นๆ
ระดับปานกลาง : การเคลื่อนไหวออกแรงที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มีความหนักและเหนื่อยในระดับเดียวกับการเดินเร็ว ขี่จักรยาน การทำงานบ้าน มีชีพจรเต้น 120-150 ครั้ง ระหว่างที่เล่นยังสามารถพูดเป็นประโยคได้และมีเหงื่อซึมๆ
ระดับหนัก : การเคลื่อนไหวร่างกายที่มีการทำซำและต่อเนื่อง โดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การวิ่ง การเดินขึ้นบันได การออกกำลังกาย มีระดับชีพจร 150 ครั้งขึ้นไป จนทำให้หอบเหนื่อยและพูดเป็นประโยคไม่ได้
เวลาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละวัย เด็ก อายุ 6-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายวันละ 60 นาที หรือ 420 นาทีต่อสัปดาห์ ผู้ใหญ่อายุ 18-64 ปี ควรมีกิจกรรมทางกาย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือกิจกรรมระดับเหนื่อยมาก 75 นาที และผู้สูงอายุอายุเกินกว่า 64 ปี ควรมีกิจกรรมทางกาย 150 นาทีต่อสัปดาห์ควบคู่กับการการฝึกการทรงตัว
เป้าหมายในการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อตัง จึงมีเรื่องการส่งเสริมกิจกรรมทางกายบรรจุอยู่ 1 ใน 9 ประเด็นที่ WHO ได้กำหนดเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ทั้งโลกจะขับเคลื่อนไปร่วมกัน เพื่อให้ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งลงให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี 2025 หรืออีก 9 ปี ซึ่งแต่ละประเทศเริ่มมีนโยบายเรื่องการเพิ่มกิจกรรมทางกายขึ้น
สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีความก้าวหน้าในเรื่องการแพทย์ การสาธารณสุข และการสร้างเสริมสุขภาพที่นานาชาติให้ความชื่นชมและยกย่อง ส่งผลให้สมาพันธ์นานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ (The International Society for Physical Activity and Health-ISPAH) ให้ความไว้วางใจให้ประเทศไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรทางกายและสุขภาพครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ISPAH 2016 Congress) โดยมีกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพร่วม รวมถึงองค์การอนามัยโลกเป็นผู้สนับสนุนสำคัญ ภายใต้หัวข้อ “Activity Living for All : Active People, Active Place, Active Policy” หรือการสร้างเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อทุกคน : ทั้งระดับบุคคล สถานที่และนโยบาย
ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการประชุม บอกว่า นับเป็นวาระสำคัญของประเทศไทยที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ISPAH 2016 Congress ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศในเอเชีย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย. 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม
ความสำคัญในการประชุมครั้งนี้คือ เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยและประเทศสมาชิกจะได้ร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ พร้อมต่อยดนำไปสร้างเสริมหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้อให้ประชากรมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นในทุกช่วงวัย ซึ่งข้อมูลความรู้ต่างๆ เหล่านี้จะได้จากผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายระดับโลกที่เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน จากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก และมีบทคัดย่องานวิจัยส่งเข้าร่วมประกวดกว่า 600 เรื่อง
“องค์ความรู้เหล่านี้จะช่วยสร้างความเข้าใจในสถานการณ์และความสำคัญของกิจกรรมทางกายในระดับโลก ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงทัศนคติ พฤติกรรม ไปจนถึงนโยบายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ขณะเดียวกันประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ยกร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านกิจกรรมทางกายเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทยทุกกลุ่มวัย ผ่านมิติต่างๆ ทั้งระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ระบบคมนาคม ระบบผังเมือง สถานประกอบการ ชุมชน การกีฬามวลชน การสื่อสาร รณรงค์ ระบบฐานข้อมูลและการวิจัย”
การจัดประชุมนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกายจากทั่วโลกเข้าร่วม เป็นการส่งสารออกไปทั่วโลกให้เกิดการตื่นตัวและเข้าใจมิติใหมม่ของกิจกรรมทางกาย เชื่อว่าจะมีผลอย่างมากต่อการผลักดันยุทธศาสตร์ชาติด้านกิจกรรมทางกาย เกิดการขับเคลื่อนในประเทศไทย หลังเห็นตัวอย่างจากเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่ดำเนินการเรื่องนี้แล้ว เพราะการขับเคลื่อนกิจกรรมทางกายต้องอาศัยการมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก จึงจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์
นอกจากนี้ ในการจัดประชุม ISPAH 2016 Congress จะมีการร่วมจัดทำร่างปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ที่จะไปสู่การผลักดันนโยบายสุขภาพโลก ขับเคลื่อนนโยบายระดับสากลด้านส่งเสริมกิจกรรมทางกายผ่านกลไกสมัชชาอนามัยโลกต่อไป
ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่ได้เริ่มกำหนดเป้าหมายการทำงาน และการส่งเสริมให้ประชาชนไทยมีกิจกรรมทางกายตามวาระนี้แล้วเช่นกัน โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. บอกว่า สสส. โดยแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย มียุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญ ด้วยการผลักดันให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยตั้งเป้าหมายร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ของประเทศไทย
ภายในปี 2564 คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ต้องมีกิจกรรมทางกายไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และภายในปี 2562 ลดความชุกของภาวะน้ำหนักตัวเกินแระโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10 “การจะเดินทางไปสู่เป้าหมายจะต้องมีการสอดประสานการทำงานหลายภาคส่วนด้วยกัน เพื่อผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานจะมาร่วมกันขับเคลื่อน ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทยทุกกลุ่มวัย การจะสร้างให้คนมีกิจกรรมทางกายเป็นกิจวัตรประจำวัน ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันทั้งระบบ”
การเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนไทยมาเคลื่อนไหวกายกันมากขึ้น อาจดูเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อใดที่ผู้คนตระหนักว่าสิ่งที่ทำสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับตนเองเพียงใด เป้าหมายที่ตั้งหวังก็คงไม่ไกลเกินจริง