ฟาร์ม ‘สุข’ ที่บ่อหิน
แบบเรียนชีวิตชุมชน ที่เปลี่ยนความทรุดโทรมของทรัพยากรในบ้านเกิดให้กลับฟื้นคืนชีวิต และทำให้ผู้มาเยือนรู้ถึงคุณค่าของการอนุรักษ์ ไม่เรียกว่าชวนน้ำลายสอ แล้วจะเรียกอะไร…
ปลาเก๋าเนื้อแน่นซุกตัวเหยียดยาวใต้น้ำซอสปรุงรส กระเทียมเจียว และคึ่นฉ่าย สีเหลืองนวลของน้ำแกงแซมเนื้อพริก ผัก ปลาชิ้นโต เอกลักษณ์ของสำรับปักษ์ใต้ หรือกลีบเนื้อปูอวลควันนึ่ง เรียงหน้าสลอนบนจาน มีแนวป่าโกงกางเขียวชะอุ่ม โรยพรายน้ำระยิบระยับไล้ท้องน้ำเป็นฉากประกอบ ทั้งหมด ชวนให้บรรยากาศบนโต๊ะกับข้าวมื้อนี้น่าเจริญอาหารอย่างยิ่ง
อารมณ์แบบนี้ ถือเป็นภาพหนึ่งที่คุ้นตาสำหรับ “บ่อหินฟาร์มสเตย์” ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เพื่อใช้บอกเล่าความผูกพันระหว่างวิถีชุมชน ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ของพวกเขามาโดยตลอด นั่นถือเป็นรูปธรรมอีกอย่างหนึ่งของชาวตำบลบ่อหินหลังจากพวกเขากลับมาเอาใจใส่บ้านเกิดตัวเอง และดอกผลที่ตามมาหลังจากความสมบูรณ์ของท้องถิ่นก็คือรายได้ที่หมุนเวียนอยู่ในชุมชน รวมทั้งรอยยิ้มของชาวบ้านในการเลี้ยงครอบครัว
ต้นทุนเหล่านี้ทำให้ระหว่างมื้ออาหารไม่ขาดเรื่องเล่า ช่วยเติมรสชาติให้ยิ่งกลมกล่อม ทั้งรอให้ข้าวเรียงเม็ด แน่นอนว่า บรรยากาศที่นี่ “ฟิน” ขึ้นอีกเป็นกอง เรื่องนั้นมีอยู่ว่า…
กู้หม้อข้าวคืนให้บ้าน
ฟ้ายังไม่ทันสาง เสียงเครื่องยนต์แหวกท้องน้ำก็แว่วมาให้ได้ยินอยู่เป็นระยะ และหากไล่ตามหาต้นทางเหล่านั้น หน้าทะเลสิเกาจะเต็มไปด้วยเรือประมงพื้นบ้านที่มาวางทุ่นดักสัตว์น้ำตามภูมิปัญญาที่สืบทอดมาตั้งแต่ปู่ย่า
“เราอยู่กันอย่างนี้แหละครับ” รอยยิ้มของ บรรจง นฤพรเมธี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด ต้นคิดเรื่องฟาร์มสเตย์ บอกถึงความอิ่มเอิบของการเกื้อหนุนกันระหว่างคนกับธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนุ่มหาดใหญ่ที่มาลงหลักปักฐานเมื่อหลายปีก่อนด้วยความหลากหลายของพื้นที่ ทั้งที่ราบสูง ภูเขา และชายฝั่งทะเล ทำให้อาชีพของ “คนบก” และ “คนเล” แตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่ตลอด 75,937 ไร่ของพื้นที่ ถึงจะมีปฏิสัมพันธ์แบบเครือญาติไม่ต่างจากชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ แต่หากลงลึกถึงการดำรงชีพก็ยังคงเป็นลักษณะ “ต่างคนต่างอยู่” เสียส่วนใหญ่ เมื่อต่างคนก็ต่างทำ ต่างคนต่างขาย ต่างคนช่วยกันใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น จนลืมไปว่าหากไม่มีการดูแลลักษณะอะไรที่มีก็สามารถหมดได้เหมือนกัน วันหนึ่ง เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนอะไรต่างๆ ก็เปลี่ยนตาม
“10 ปีก่อนทรัพยากรธรรมชาติที่นี่ถูกใช้อย่างไม่รู้คุณค่า จึงทำให้ทรัพยากรที่มีถูกทำลายไปเยอะ และมันมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชุมชนโดยเฉพาะคนที่ทำอาชีพประมง”
วิกฤตโรคระบาดจากคุ้มน้ำเดียวกัน ไปจนถึงสึนามิ และความทรุดโทรมของป่าชายเลนกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้ชาวเลหันหน้ามาคุยกันโดยใช้ “การจัดการ” ผ่านการประชุมกลุ่มย่อยของหมู่บ้าน ไม่นานนัก “กลุ่มเลี้ยงปลากระชัง” ก็เกิดขึ้นและพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนที่แข็งแรงที่สุดกลุ่มหนึ่ง ก่อนจะเดินทางมาสู่ “ฟาร์มสเตย์”
“เราใช้กลไกของการท่องเที่ยวมาจัดการดูแลรักษาป่าชายเลน และหญ้าทะเล ทั้งคนจากภายนอก และคนในชุมชน เมื่อเข้ามาแล้วเรามีกิจกรรมที่ทำให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ขึ้นมา ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนเริ่มดีขึ้น ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเมื่อธรรมชาติสมบูรณ์ก็มีทรัพยากรเกี่ยวกับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะการที่เราช่วยกันดูแลป่าที่เหมือนเป็นโรงอนุบาลขนาดใหญ่ ก็ทำให้ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น และมีรายได้มากขึ้น” แน่นอนว่า ส่วนคนที่มาเที่ยวมาพัก ได้ซึมซับสำนึกอนุรักษ์เหล่านี้ไปโดยไม่รู้ตัว
ไม่ต่างจากศูนย์เรียนรู้แม่ปูดำที่ ไชยวัฒน์ หัสไทรทอง ประธานควบตำแหน่งวิทยากรประจำศูนย์ฯ ที่ยืนยันว่า เพราะหม้อข้าวของชุมชนอยู่ที่นี่ ทุกคนจึงต้องช่วยกันรักษา
“เมื่อก่อนมีคำว่า บุญคุณปูดำ เราก็ไม่รู้ว่ามีความหมายว่าอะไร จนได้มาทำศูนย์เรียนรู้ที่นี่ก็ทำให้เห็นว่า ปูดำมันให้อะไรกับเราหลายสิ่งหลายอย่าง ชัดๆ ก็คือ ถ้าป่าอุดมสมบูรณ์ก็ยังปูดำ ถ้ามีปูดำแสดงว่าป่าอุดมสมบูรณ์ คล้องกับสโลแกนที่เราคิดว่า เห็นป่ามันต้องเห็นปู เห็นความสมมบูรณ์ของธรรมชาติ และสามารถใช้สอนเด็กๆ เยาวชนของชุมชนที่มาเดินเล่นที่นี่ไปในตัว”
ยังไม่ต้องถึงขนาดจะให้ต้องมานั่งเฝ้าทำความเข้าใจระบบนิเวศป่าชายเลนทั้งหมด แต่แค่นึกถึงเด็กๆ ที่สามารถลงไปเดินเล่นดูปูดูป่าลุยเลนจนชินตา ต่อไปก็สามารถพัฒนาเป็นมัคคุเทศน์ตัวน้อยให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชุมชนได้ และกลายเป็นความยั่งยืนที่จะถูกถ่ายทอดต่อไป แค่นี้ก็สนุกแล้ว
ของดีมีอยู่
“น่าจะ 4 กิโลได้ครับ” ใครบางคนคะเนปริมาณกุ้งที่อยู่ในถังพลาสติกสีดำใบเขื่องที่วางอยู่ข้างๆ กองตาข่ายดักกุ้ง ท่ามกลางเรือลำอื่นๆ ที่กำลังลอยลำ และอยู่ในอิริยาบถเดียวกัน
ความสมบูรณ์ที่ได้คืนมาจากการจัดการ และการร่วมมือของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม สำนึกอนุรักษ์จากชุมชนฝั่งเดียวก็คงไม่สามารถทำให้ทุกอย่างกลับคืนมาได้อย่างหมดจด หากยังรอมืออีกข้างหนึ่งมาร่วมผสานเสียงเหล่านี้ให้ผ่านหัวใจชาวบ่อหินอีกด้วย
…เล่ากันว่า มีบ่อน้ำอยู่แห่งหนึ่งที่เมื่อยามคลื่นซัดน้ำทะเลเข้าหาฝั่ง ความแรงของคลื่นทำให้น้ำทะเลนั้นลงไปในบ่อซึ่งเป็นบ่อน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ที่น่าแปลกใจคือ เมื่อนำน้ำในบ่อไปใช้ ปรากฏว่าน้ำในบ่อดังกล่าวกลายเป็นน้ำจืดและสามารถนำมาบริโภคได้ตลอดทั้งปี ชาวบ้านจึงเรียกบ่อน้ำดังกล่าวว่า‘บ่อหิน’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งยังปรากฏหลักฐานอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านพรุจูด จนถึงปัจจุบัน…
ตำนานเล่าขานถึงชื่อบ่อหิน วันนี้เป็นชุมชนอีกแห่งที่มีความหลากหลาย และยิ่งระยะทางกับภูมิศาสตร์ท้องถิ่นที่ดูเหมือนอยู่ “คนละตำบล” จึงกลายมาเป็นโจทย์คำถามถึงแนวคิดการบริหารจัดการเพื่อให้ครอบคลุมและทั่วถึงของท้องถิ่น จนกลายเป็นที่มาของแนวคิด “การแบ่งการปกครองหมู่บ้านตามระบบเขตบ้าน”
โดยหลักการของการแบ่งการปกครองหมู่บ้านตามระบบเขตบ้านก็คือ การกระจายอำนาจในการบริหารลงไปถึงระดับหมู่บ้าน มีสภาองค์กรชุมชนทำงานควบคู่ไปกับสภา อบต.บ่อหิน โดยในหมู่ที่ 4 นี้ ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 7 เขต โดยให้ชาวบ้านมีอิสระในการเลือกเขตสังกัดที่สะดวก โดยแต่ละเขตจะประกอบด้วยประชากรประมาณ 20-30 ครัวเรือน จากนั้นชาวบ้านจึงเลือกหัวหน้าเขต กรรมการบริหารเขต ตามกติกาที่ชาวบ้านเห็นชอบ เพื่อเข้ามาทำงานเหมือนเป็นรัฐบาลในหมู่บ้าน มีวาระ 2 ปี
“ผู้ใหญ่ กำนัน อบต เป็นที่ปรึกษา แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของหัวหน้าเขตเหล่านี้เหมือนกัน” ชูศักดิ์ แซ่เลี้ยว สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหินบอก และกระแสอนุรักษ์ที่มาจากการประชาคมพูดคุยภายในเขตบ้านนั้นก็กลายเป็นอีกแรงมือที่มาผสานเชื่อมระหว่างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกับชุมชนให้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง
“ปกติชาวบ้านก็ดูแลทรัพยากรของท้องถิ่นอยู่ อาทิ ป่าโกงกาง เพราะชาวบ้านก็หากินอยู่แถวนี้ เมื่อท้องถิ่นเข้ามาช่วยดูแล ว่าชาวบ้านวันนี้หาของเพิ่มขึ้น วันหนึ่งก็คงจะหมด ก็ช่วยกันดูแลเพิ่มขึ้น เหมือนแรงผลัก 2 แรงที่ทำให้ป่าโกงกางเยอะขึ้น และความอุดมสมบูรณ์ก็มากขึ้น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ทำให้ธรรมชาติฟื้นความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น สัตว์น้ำก็หาได้มากขึ้น”
สิ่งเหล่านี้ ฝ่ายบริหารชุมชนอย่างเขาถือว่าเป็นภาพที่มองเห็นได้ทันที หากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมองเห็นความสำคัญของชุมชนประสิทธิภาพในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้น “นี่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ และควรจะทำทุกๆ พื้นที่” ชูศักดิ์ให้ความเห็นต่อท้าย
นอกจากการอนุรักษ์ที่เกิดผลก็ยังนำไปสู่การพัฒนาชุมชนในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธนาคารโรงเรียนที่บ้านดุหุนเพื่อปลูกฝังนิสัยการออมให้กับเด็กๆ และสถาบันการเงินชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้านต้นไสวา หรือการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งขึ้นของกลุ่มแปรรูปอาหารทะเล (ปลาเค็มกางมุ้ง) และกลุ่มจักสานเตยปาหนัน ที่เป็นรายได้อีกทางให้กับผู้คนในชุมชน
ขณะที่โมเดลการแบ่งเขตการปกครองหมู่บ้านตามระบบเขตบ้านก็กำลังพัฒนาสู่ระบบ “สภาชาวบ้าน” เพื่อให้การทำงานแบบมีส่วนร่วมมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดรับกับการขึ้นเป็นแม่ข่ายตำบลสุขภาวะ โดยการสนับสนุนของสำนักสนับ สนุนสภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“เขาเรียกว่า แบ่งเขตไม่แบ่งใจครับ” ใครบางคนเอ่ยด้วยน้ำเสียงสดใส
ตั้งแต่การหันกลับมามองเห็นคุณค่า และช่วยกันรักษาความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ สิ่งที่ย้อนกลับมาหาชุมชน นอกจากจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทำให้เป็นหลักประกันว่า หม้อข้าวใบนี้เปิดมาก็จะมีข้าวกินให้อิ่มท้อง แล้วยังสามารถนำมาแบ่งขายสร้างรายได้ให้ครอบครัว และชุมชนแล้ว “วงเล่า” นี้ยังทำให้เห็นว่า ไม่ต้องมองไปไหนไกล ความสุขและความสมบูรณ์ก็เกิด และอยู่คู่กับคนในบ้านนั่นเอง
เหมือนอย่างที่ใครเคยบอกว่า ขอแค่ได้กินอิ่ม นอนหลับ ใครจะอยากจากบ้านไปไกลๆ
ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์