‘ฟาร์มชุมชนบ้านไม้งาม’ รวมคนรุ่นใหม่หัวใจเกษตรปลอดภัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
"เป็นการทำงานที่สนุกมาก ทุกเย็นหรือวันหยุดจะมาขลุกอยู่ที่ฟาร์ม ชุมชน ยิ่งได้รู้จักกับคนอื่นๆ เป็นเหมือนพี่ เพื่อน น้อง รวมถึงคนในชุมชนที่ให้ความเป็นกันเองเสมอ ก็ยิ่งทำให้อุ่นใจ เหมือนที่นี่เป็นบ้านอีกหลังหนึ่ง บางคืน ถึงกับเข้ามากางเต็นท์นอน ตื่นเช้า ก็ดูแลพืชผักที่ปลูกไว้อย่างหลากหลาย เช่น ผักกาดขาว กวางตุ้ง ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบ ชะอม บวบ ถั่วพู มะเขือ เสาวรส กะเพรา โหระพา ผักชีลาว"
เรื่องเล่าจาก "แก๊ด" คณะศักดิ์ ดวงคำ หนุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ตาก เกี่ยวกับการใช้ชีวิตใน "ฟาร์มชุมชนบ้านไม้งาม" อันเป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือนชุมชนบ้านไม้งาม" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และไม่เพียงแต่ปลูกพืชผักเท่านั้น ฟาร์มแห่งนี้ยังเลี้ยงไก่และเพาะเห็ดด้วย
คณะศักดิ์ เล่าต่อไปว่า ด้วยความที่ฟาร์มชุมชนแห่งนี้อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยมากนัก มีระยะทางห่างกันเพียง 10 กิโลเมตร ประกอบกับไม่ค่อยมีโอกาสได้กลับบ้านที่ อ.อุ้มผาง การที่ได้มาใช้ชีวิตเกษตรกรที่นี่ก็ทำให้คลายความคิดถึงบ้านได้บ้าง เพราะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยในวัยเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีเยาวชน ที่ดูแลฟาร์มแห่งนี้อยู่ประจำ 14 คน บางคนทำงานแล้วแต่บางคนก็ยังเรียนอยู่ และมีสมาชิกหมุนเวียนเป็นคนในชุมชนอีก 20 คน ด้วยต่างที่เริ่มตระหนักว่าอาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าอาหารดีย่อมมีคุณค่า ดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ
ขณะที่ "โย" สริญญา วงษ์เสนสะ เหรัญญิกโครงการฯ กล่าวว่า หลังจาก เริ่มโครงการมาระยะหนึ่ง ชาวบ้านก็เข้ามาดู และนำกล้าพันธุ์ไปปลูกที่บ้านบ้าง บางครั้งถ้าพบว่าในบ้านมีแต่ผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชนก็ไปช่วยกันปลูกให้ แล้วมอบให้เจ้าของบ้านดูแล หรือที่โรงเรียนชุมชนบ้านไม้งาม มีเด็กแค่ 20 กว่าคน ทำให้ค่าหัวอาหารกลางวันไม่เพียงพอ ก็สอนให้ปลูกผัก และตัดผักจากฟาร์มไปทำอาหารกลางวันบ้าง ซึ่งปีหน้าจะขยายผลไปยังโรงเรียนบ้านวังม่วง ที่มีเด็กแค่ 20 กว่าคนเหมือนกัน
จึงเรียกได้ว่า "นอกจากทำให้ชาวบ้านมีวัตถุดิบอาหารปลอดภัยไว้บริโภคแล้ว ยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ของเยาวชนในโครงการกับ ชาวบ้านด้วย" ทั้งนี้เยาวชนที่นี่โชคดี แม้ส่วนหนึ่งจะไม่ใช่คนในพื้นที่ตั้งแต่กำเนิด แต่เมื่อเข้ามาช่วยงานในฟาร์ม คนในหมู่บ้านก็มองเหมือนลูกหลาน เมื่อต้องการอะไรก็จะได้รับความร่วมมือ หรือให้คำปรึกษา "เกิดความร่วมมือกัน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน" ตัวอย่างที่เห็น คือน้องๆ สมาชิกในโครงการอยากเพิ่มทักษะการปลูกผัก ท่านพระครูที่วัดก็พา ไปดูงานที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.บ้านบึง จ.ชลบุรี
นคร ทาปิน อดีตผู้ใหญ่บ้านไม้งาม และเป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าถึง ที่มาของฟาร์มชุมชนบ้านไม้งาม ว่า เริ่มต้นจากโครงการ 9101 ทำให้ชาวบ้าน ประชุมหาพื้นที่ทำกิจกรรม และพบว่าส่วนใหญ่ถูกทุนต่างถิ่นกว้านซื้อที่ดิน ทำกินไปเกือบหมดแล้ว แต่ขณะนั้น เล่าถึง ตนเองมีที่รกร้าง 2 ไร่เศษในหมู่บ้าน พอดีจึงขอยกที่ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ถึงกระนั้นก็พบปัญหา "ในหมู่บ้านไม่มี เกษตรกร ชาวบ้านมีอาชีพรับจ้างรายวัน และค้าขาย" พืชผักต่างๆ ที่นำมาปรุงอาหารก็ซื้อจากตลาดทั้งสิ้น
อีกทั้ง "เมื่อย้อนกลับไปดูต้นทางก็พบว่าเต็มไปด้วยสารเคมี ส่งผล ให้คนในชุมชนเจ็บไข้ได้ป่วย" บางคนป่วยโดยไม่รู้สาเหตุ ดังนั้นน่าจะมีครัวชุมชนในหมู่บ้าน จะได้บริโภคผักปลอดภัย ซึ่งเมื่อใช้วิธีบริหารจัดการแบบฟาร์มชุมชน ทำให้ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลโดยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่ม-สาวในชุมชน รวมถึงนักศึกษาที่เรียนอยู่ใน มทร. ล้านนา ตาก เพราะ นักศึกษา กลุ่มนี้มักจะ มีบ้านอยู่บนดอย แถบ อ.อุ้มผาง พบพระ แม่ระมาด จึงมีความถนัดในการปลูกผัก อยู่แล้ว การดึงมาร่วมลงมือลงแรงให้เกิดผล เป็นรูปธรรม
"เราได้โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือน โดย สสส. มา ต่อยอด ช่วยยกระดับฟาร์มชุมชน ให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ และกระตุ้น ชาวบ้านให้เห็นความสำคัญของการ ปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคเองในครัวเรือน จนเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้นตอนนี้ พบว่าประมาณ 50 ครัวเรือน จาก 100 ครัวเรือน ที่ปลูกผักในที่ว่างของบริเวณบ้านไว้กินเอง และเชื่อว่าการที่เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมแล้วกลับไปบอกต่อในครัวเรือน จะทำให้มีครัวเรือนสนใจเข้า ร่วมกิจกรรมเพิ่มตามเป้าหมาย ที่วางไว้ 70 หลังคาเรือน" นคร กล่าว
ปัจจุบันฟาร์มชุมชนบ้านไม้งาม หมู่ 4 ต.ไม้งาม อ.เมือง จ.ตาก ได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนภายใต้ชื่อ "บ้านไร่ไอละมุน" แต่คุณค่าที่สำคัญกว่านั้น คือคนในชุมชนเริ่มทำกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย เช่น ปลาส้ม หมูส้ม บางกลุ่มก็ขอพื้นที่ส่วนหนึ่งเลี้ยงหมู พฤติกรรมซื้อทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป มีการผลิตด้วยตนเองมากขึ้น
ตนเองมากขึ้น ทำให้เกิดความมั่นใจว่าปลอด สารเคมี ปลอดภัยต่อสุขภาพอย่างแน่นอน!!!