ฟัง สสส. เล่าเรื่องสุขภาวะในครอบครัว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจาก สสส.
ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก ฯลฯ ตอกย้ำสุขภาวะในครอบครัวเกิดขึ้นได้ เริ่มต้นจากครอบครัวต้องจับมือกับบ้านใกล้เรือนเคียงสร้างเครือข่าย
สภาพัฒน์ถอดรหัสพัฒนาครอบครัวอบอุ่นมี 3 องค์ประกอบ 1.สัมพันธภาพ 2.บทบาทหน้าที่ 3.การพึ่งตนเอง ทำอย่างไรให้เจ้าของสถานประกอบการเห็นความสำคัญของครอบครัว ไม่ดึงเวลาลูกน้องเพื่อทำงานให้บริษัท แทบไม่เหลือเวลาให้กับครอบครัว ชื่นชมบริษัท เจเวลรีแพรนด้า จัดให้มีศูนย์เด็กเล็กในที่ทำงาน พนักงานทำงานเต็มเวลา ไม่วิตกกังวล เพราะลูกได้รับการดูแลอย่างดี เชิญชวนครอบครัวและชุมชนร่วมกันสร้างพื้นที่ต้นแบบได้ทำในสิ่งดี ๆ แพทย์หญิงตรีธันว์ ศรีวิเชียร ผู้ช่วย ผอ.ภารกิจด้านการบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านและหมอมองปัญหาสวนทางกัน หมออยากรักษาโรค คนป่วยเครียดกับปัญหาลูกหลานท้องก่อนวัย ติดยา
ณัฐยา บุญภักดี ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเสวนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม "ชุมชนและรัฐร่วมสร้างครอบครัวสุขภาวะได้อย่างไร" ที่ห้อง BB205 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ หน่วยงาน สสส.กำหนดทิศทางเพื่อลงมือทำงานในเรื่องครอบครัวเริ่มตั้งแต่ในบ้าน การสร้างภาคีเครือข่ายศึกษาสถานการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ครอบครัวเป็นพื้นที่สำคัญของการสร้างสุขภาพ เริ่มต้นจากต้นทุนชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เกิดมาเป็นทารกน้อยๆ อยู่ในบ้านมีสุขภาวะ พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพลดน้อยลง ไม่ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาปลายทาง การติดบุหรี่ โรคเอดส์ ถ้าเริ่มต้นอย่างดีในบ้านแล้วจะไม่มีปัญหาเหล่านี้
สสส.เล็งเห็นว่าสุขภาวะเกิดขึ้นได้เมื่อครอบครัวต้องเริ่มจับมือกับบ้านใกล้เรือนเคียง เครือข่ายครอบครัวทำให้เกิดสุขภาวะในครอบครัว การสร้างเครือข่ายครอบครัว ครอบครัวสภาวะชุมชนขับเคลื่อนไปด้วยกัน การสร้างดัชนีครอบครัวอบอุ่น สภาพัฒน์ได้ถอดรหัสพัฒนาครอบครัวอบอุ่นมี 3 องค์ประกอบ 1.สัมพันธภาพ 2.บทบาทหน้าที่ 3.การพึ่งตนเองได้เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ ครอบครัวอยู่รอดได้หรือไม่ ดัชนีชีวิตครอบครัวอบอุ่น เส้นกราฟขยับลงเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดด้วยว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ทุกวันนี้ครอบครัวมีความหลากหลาย เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ผู้สูงวัยมีมากขึ้น คนเกิดใหม่มีน้อยลง
โมเดลการทำงานในชุมชน คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำงานในที่ทำงาน สถานประกอบการ ยุทธศาสตร์ระดับชาติมีคณะกรรมการพัฒนาครอบครัวแห่งชาติเป็นแผนปฏิบัติการ ครอบครัวอบอุ่นอยู่ในสังคมไทย การทำงานในชุมชนให้น้ำหนักค่อนข้างมาก การทำงานใน 7 จังหวัดต้นแบบภาคเหนือ ลำปาง พะเยา ภาคอีสาน เลย กาฬสินธุ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ภาคใต้ ตรัง ครอบครัวสุขภาวะ ครอบครัวอบอุ่น การทำงานในชุมชนจัดการความรู้ระดับชุมชนผ่านกลไก 3 แบบ ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน คณะทำงาน คนในชุมชนเป็นจิตอาสา อสม. คนในชุมชนชวนจิตอาสาเข้ามาทำงานเพื่อดูแลชุมชนของตัวเอง เน้นให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ สำรวจครอบครัวแต่ละบ้านมีใครบ้าง นำข้อมูลกำหนดวิเคราะห์เป็นแผนดำเนินงาน คนทำงานเกี่ยวกับครอบครัวต้องมีความรู้ เริ่มต้นด้วยการมีใจ มีการฝึกฝนให้เกิดทักษะในการทำงานด้วย ทางด้านเศรษฐกิจฝึกให้มีการทำบัญชีครัวเรือน บันทึกรายรับรายจ่าย ตัดรายจ่ายที่จะเป็นการทำลายสุขภาพ เพิ่มรายได้ ครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่น การคบเพื่อน มีการใช้สื่อลามกหรือไม่ การดูแลผู้สูงอายุที่มีความต้องการเป็นพิเศษ การดูแลคนพิการเป็นหลักสูตรย่อย มีเรื่องราวดี ๆ เกิดขึ้น การสร้างกิจกรรมทำให้ครอบครัวมีความสุข มีสัมพันธภาพที่ดีขึ้น เกิดการพึ่งพาตัวเองได้ มีนโยบายเอื้อต่อกลไกในการทำงาน การรวมตัวกันตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัว รวมจิตอาสา มีการถอดบทเรียนให้เหมาะสมกับแต่ละชุมชน
ทำอย่างไรให้เจ้าของสถานประกอบการเห็นความสำคัญของครอบครัว ไม่ดึงเวลาลูกน้องเพื่อทำงานให้บริษัทจนไม่เหลือเวลาให้กับครอบครัว การสร้างพื้นที่ต้นแบบได้ทำในสิ่งดี ๆ ให้คนต้นแบบถ่ายทอดบอกเล่าบอกต่อทำให้คนที่มีความฝันอยากเห็นสังคมที่ดี ทำอย่างไรเพื่อนำไปประยุกต์ปรับให้กระจายต้นแบบดี ๆ ออกไปครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศไทยด้วย
"ขอฟันธงว่าสิ่งที่เราอยากเห็นสุขภาวะในครอบครัวเป็นเรื่องยากมาก คนที่มีสถานะเป็นลูกจ้างแรงงานในระบบจะต้องลางานเพื่อพาพ่อแม่ไปหาหมอ ในขณะที่ลูกเล็กก็ไม่สบาย ใครที่เป็นเจ้าของสถานประกอบการเป็นเรื่องโชคดีที่สามารถหยุดไปทำธุระส่วนตัวได้ แต่คนส่วนใหญ่ยังมีสถานะเป็นลูกจ้าง ถ้าหากหน่วยงานที่เป็นนายจ้างไม่เข้ามามองเห็นการทำ Workplace Worklife Policy ผู้บริหารองค์กร เจ้าของธุรกิจดูแลคนเป็นพันเป็นหมื่นมีนโยบายเกื้อกูลคนทำงานดูแลครอบครัวได้หรือไม่ ทำไมจึงเป็นเรื่องลำบากยากเย็นด้วยหนทางยังอีกยาวไกลมาก เราต้องไม่ลืมผู้ที่สวมบทบาทเป็นนายจ้าง ในประเทศญี่ปุ่นบริษัทให้พนักงานหญิงลาคลอด 2 ปีเพื่อดูแลลูก พ่อลางานเพื่อไปช่วยครอบครัวได้ด้วย เพราะถือว่าเด็กเป็นต้นทุนทรัพยากรทางสังคม เรื่องนี้มีการพูดกันมาก แต่พลังขับเคลื่อนมีน้อยมาก ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างได้"
ด้วยกลไกชุมชน กระทรวงมหาดไทยตอบโจทย์ชุมชนเข้าไปช่วยทางวิชาการ การถอดบทเรียนเป็นนวัตกรรมต้นแบบในการแก้ไขปัญหา เป็นโครงสร้างการทำงาน ต่อความรู้ สสส.เข้าไปช่วยเติม คนวัยแรงงานอยู่ในสถานประกอบการ มีการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งาน ทำให้เกิดสุขภาวะในครอบครัว สถานประกอบการบางแห่งทำศูนย์เด็กเล็กนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้ ปกติแล้วสถานประกอบการจะให้ลาคลอดได้ 90 วัน แต่ทางปฏิบัติส่วนใหญ่ลาเพียง 45 วัน เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้เด็กอ่อนถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม สสส.ขอเชิญชวนสถานประกอบการที่สมัครใจทำงานในสเกลเล็ก ๆ ถ้าขาดงบประมาณ สสส.นำร่องด้วยการหยอดเงินเริ่มต้น ทำให้พนักงานมีกำลังใจ การมีศูนย์เด็กเล็กในที่ทำงานทำให้พนักงานทำงานเต็มเวลาไม่ต้องกังวล เพราะลูกได้รับการดูแลอย่างดีที่ศูนย์เด็กเล็ก ขณะนี้บริษัท เจเวลรีแพรนด้า ทำได้ประสบความสำเร็จ
เรื่องระบบการศึกษา ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ก็ทำได้ดี มีการทำเป็น Community Center ในละแวกที่มีบ้าน คอนโดมิเนียม คนในชุมชนมีภูมิปัญญาชาวบ้านเปิดเป็น workshop ให้คนทุกวัยเข้ามาใช้บริการ เป็นนโยบายที่รัฐบาลสนับสนุนแม้จะไม่ได้ให้เป็นตัวเงิน แต่เป็นการกระตุ้นให้ชุมชนเห็นความสำคัญของระบบการศึกษาที่ดี ขณะนี้ในประเทศสิงคโปร์ยกเลิกการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ประถม 3 ประถม 4 แล้ว
แพทย์หญิงตรีธันว์ ศรีวิเชียร ผู้ช่วยผอ.ภารกิจด้านการบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ได้รับเชิญให้มานั่งรับฟัง แต่รู้ตัวว่าจะต้องขึ้นเวทีพูดสด ๆ ร้อน ๆ เป็นวิทยากรเนื่องจากมีแพทย์สองท่านติดภารกิจ ในฐานะที่มีประสบการณ์ทำงานกับชุมชนเป็นเวลากว่า 10 ปี เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมอง คำว่าสุขภาวะฟังแล้วดีมาก การมีความสุขของคนคนหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องสุขภาพไม่ได้เป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ แต่โดยรูปการณ์ถูกโยนมาให้สาธารณสุขมีหน้าที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี สมัยที่เรียนหนังสืออาจารย์หมอบอกว่าถ้าเห็นคนไข้ต้องมองให้ทะลุคนไข้ด้วยว่าเขาน่าจะเป็นโรคอะไร ดูจากท่าทางการเดินกะเผลก ในเวชศาสตร์ครอบครัวถูกสอนว่าคนไข้มีองค์ประกอบทางกาย จิต สังคม จิตวิญญาณต้องมีความสมดุล
ความสำคัญอันดับต้น ๆ เป็นเรื่องปากท้อง ทั้ง ๆ ที่เรื่องสุขภาพควรจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ คนให้บริการและคนรับการบริการจึงไม่ได้เจอกันอย่างสมดุล เพราะเขาไม่ได้รับการตอบสนองโจทย์ที่เขามี คนรวยหรือคนจน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร การมีความสุขในสถานที่ตัวเองเป็นอยู่ตามองค์การอนามัยโลก บางคนอาจป่วยมาก แต่ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข มีคำถามเกิดขึ้นว่าทำไมหมอไม่แก้ไขปัญหาชุมชน ทั้ง ๆ ที่หมอก็ทำงานเต็มที่แล้วในชุมชน ในเขตเมือง ยังไม่ตอบโจทย์ชุมชนอีกหรือ ชาวบ้านกลับมองปัญหาลูกหลานในชุมชนติดยา ท้องในวัยเรียน หมอก็จะคอยถามแต่เรื่องความดันโลหิต เบาหวาน ที่เจ้าตัวไม่รู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหา เพราะเขาเผชิญปัญหาลูกหลานที่หนักกว่าเรื่องป่วยไข้ของตัวเอง ดังนั้นแท่งปัญหาของหมอและชาวบ้านเป็นเรื่องคนละแท่ง ดังนั้นทั้งครอบครัวและชุมชนต้องตระหนักในเรื่องเดียวกันด้วย ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ คนที่เป็นเจ้าของสุขภาวะคือประชาชน
จ.พระนครศรีอยุธยา มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก คนไข้มีโรคจากการทำงาน ยืนทำงานนาน หกล้มกระดูกหัก กระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นโรคซ้ำ ๆ ปัญหาก็คือคนงานออกจากไลน์ไม่ได้ เพราะเป็นสายพานต้องยืนคุมอยู่อย่างนั้น ถ้าออกมากระบวนการทำต่อไม่ได้ เมื่อกลั้นปัสสาวะนาน ๆ ก็จะป่วย ตลอดเวลาทำงานกว่า 10 ปีเจอปัญหานี้ตลอด รู้สึกสงสารคนกลุ่มนี้ แม้แต่สภาวะธรรมชาติยังไม่ได้รับสิทธิของตัวเองเพื่อให้สุขสบายขึ้น นายจ้างควรรับรู้ปัญหาเหล่านี้ด้วย เข้าใจชีวิตเพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้น การที่บริษัทเอกชนมุ่งทำกิจกรรม CSR เพื่อสังคมเป็นงานไฟไหม้ฟางไม่นานก็หมดไป นายจ้างควรมองสุขภาวะเป็นตัวตั้งกำหนดแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับภาคส่วนอื่น ๆ ไม่ให้ขัดแย้งกัน เกิดตกผลึกทางความคิดเป็นรูปธรรม ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขกว่าที่เป็นอยู่ เครื่องมือในการทำงานของหมอคือการเยี่ยมบ้านมองเห็นความจริงของคนคนหนึ่งและครอบครัวของเขาด้วย คนไข้ที่มีปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนที่ซุกซ่อนอยู่ในสังคม เราจะต้องช่วยกันให้เห็นภาพเหล่านี้ด้วย เราเข้าใจปัญหาไม่ต่างกัน
ในช่วงท้ายเปิดโอกาสให้ผู้เข้าสัมมนาแสดงความเห็น กุลยา ตันติผลาชีวะ นักเขียนและนักพูด กล่าวแสดงความเห็นว่า ทำอย่างไรให้มนุษย์มีปัญญา ให้รู้ภาษาและมีความรู้ คนไทยกลุ่มหนึ่งชอบดู เล่นไลน์ Hello สวัสดี วันนี้วันศุกร์ ทำไมไม่สื่อความรู้ลงไปในไลน์ facebook คนไทยอีกกลุ่มหนึ่งชอบเดินไปศูนย์การเรียนรู้ รพ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ใช่ปล่อยให้ ผอ.ผูกคอตาย ว้าว มา รพ.นี้ดูแลตัวเองอย่างไร สาธารณสุขชอบพูดให้คนงงงวย โรค NCD โรคไม่ติดต่อ (โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง) แทนที่จะพูดว่าโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของตัวเอง ป่านนี้ยังไม่พูด
พท.สมบัติ ไตรศรีศิลป์ ปัญญาไทคลินิกการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า นักธุรกิจมีโรคเต็มตัวส่วนใหญ่ไปรักษาที่ รพ.เอกชน เจ้าของธุรกิจไม่มีเวลาสำหรับครอบครัวตัวเอง มีปัญหา Work Life Balance ตัวเขาเองยังเอาตัวไม่รอด เพราะบริหารเวลาให้ลงตัวไม่ได้ สภาแพทย์แผนไทยอยากให้ครอบครัวสร้างความรักในครอบครัว พ่อแม่กอดลูก การสัมผัส การปลูกพืชผักสมุนไพรในบ้านเป็นยาได้ทั้งหมด ใช้การนวดคลายกล้ามเนื้อ.