ฟักทองดี ดูอย่างไร
ที่มา : SOOK Magazine No.72
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ฟักทองเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ไฟเบอร์ เบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย ที่สำคัญยังให้พลังงานต่ำ ไขมันน้อย หากเลือกถูกวิธี เก็บรักษาถูกต้อง จะช่วยให้รสชาติดีและได้ประโยชน์จากฟักทองอย่างเต็มที่
ขั้นตอนเลือกฟักทองลูกอร่อย
ฟักทองที่เนื้อมัน เหนียว หนีบ ปรุงสุกแล้วเนื้อไม่เละ ต้องมีเนื้อแก่พอดี การเลือกที่ถูกต้อง มีขั้นตอนดังนี้
– สำรวจลักษณะภายนอก ฟักทองแก่จะมีรูปทรงกลมค่อนข้างแบน ผิวของเปลือกมีสีเข้มและขรุขระ หัวจุกของฟักทองมีร่องลึกและรอยปุ่ม ภายในผลฟักทองเนื้อแน่นควรมีน้ำหนักไม่เกิน 3-5 กิโลกรัม
– สังเกตสี ฟักทองต้องมีสีเหลืองอมเขียวและสีเขียวขี้ม้ากลมกลืนแทบจะเป็นสีเดียวกันไปทั้งผลจนถึงขั้วจุก
– ฟังเสียง เคาะเปลือกฟักทองเพื่อฟังเสียงถ้าดังแบบเปาะ ๆ แสดงว่าเนื้อข้างในยังอ่อนอยู่ แต่ถ้าฟักทองแก่แล้วจะมีเสียงทึบ ๆ ตัน ๆ เพราะเนื้อฟักทองแน่น
เคล็ดลับเก็บฟักทองให้ได้นาน
การเก็บฟักทองให้ได้นาน ไม่เน่าเสีย และไม่เสียคุณค่าทางโภชนาการทำได้ 2 วิธี
– นำเนื้อฟักทองที่เหลือจากการปรุงอาหารไปต้มให้สุกพอประมาณแล้วเก็บใส่ช่องแช่แข็ง
– นำปูนแดงที่กินคู่กับหมากพลูมาทาบริเวณเนื้อฟักทองที่ผ่าแล้วให้ทั่วจะช่วยป้องกันเชื้อรา แมลงตอม และรักษารสชาติเนื้อฟักทอง สามารถวางไว้ในอุณหภูมิห้องได้เลย เมื่อจะนำไปปรุงอาหารก็เพียงฝานส่วนที่ทาปูนแดงทิ้งไป
ฟักทองเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากให้พลังงานต่ำ มีกากใยสูง ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น แต่เนื่องจากฟักทองมีฤทธิ์อุ่น หากกินมากเกินไปอาจทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นแผลในช่องปาก เหงือกบวม จะทำให้รู้สึกกระหายน้ำบ่อย หิวง่าย เพราะฟักทองจะไปกระตุ้นให้ร่างกายร้อนขึ้นนั่นเอง