พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรา”ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

เพื่อลดการดื่ม และลดผลกระทบ ของแอลกอฮอล์ต่อเยาวชน

 

พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรา”ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”            ร่างพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. … เป็น พ.ร.บ. ที่ผ่านการพิจารณาหลายเวทีตั้งแต่ 26 พ.ค.2548 ผ่านการรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 4 ภูมิภาค ผ่านการแก้ไข 11 ครั้ง ผ่านครม.จนเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 28-29 มี.ค.2550 โดยมติที่ประชุมรับหลักการด้วยคะแนนเห็นด้วย 98 เสียง ไม่เห็นด้วย 34 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง และให้ตั้งคณะกรรมมาธิการวิสามัญ 31 คน

 

            ในพ.ร.บ.ฉบับนี้มาตราที่สำคัญ และมีความเห็นต่างกันมาก คือ มาตรา 31-34 ว่าด้วยการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งร่างเดิมที่ผ่านการรับหลักการ ห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิง

 

            แต่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญเห็นต่างกัน จึงตั้งคณะอนุกรรมาธิการรวม 9 คน มาพิจารณา ซึ่งประชุม 5 ครั้ง แต่ยังเห็นต่างกัน ส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับร่างเดิม คือห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิงเพื่อปกป้องเยาวชน โดยเห็นว่าควรให้โฆษณาได้ในสถานที่ที่จัดไว้ โดยเฉพาะที่ห้ามเด็กต่ำกว่า 20 ปีเข้า เช่น สถานบริการ ส่วนเสียงข้างมากในคณะอนุฯ เห็นควรผ่อนผันให้โฆษณาได้ทุกสื่อแบบมีเงื่อนไข เช่น สื่อป้ายกลางแจ้ง ห้ามไม่ให้แสดงภาพผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจำกัดขนาดของป้าย แต่ให้โฆษณาได้ทุกที่แม้ใกล้โรงเรียนในรัศมี 500 เมตร ซึ่งปัจจุบันมีการห้ามอยู่ โดยให้เหตุผลว่าหากร่าง พ.ร.บ.นี้เข้มเกินไป คือ ห้ามหมด เมื่อเสนอกลับเข้าไปใน สนช. อีกครั้งจะไม่ผ่านความเห็นชอบ

 

            เมื่อมาตราเกี่ยวกับการห้ามโฆษณา เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีการอภิปรายให้เหตุผลต่างๆ กันมากขึ้น แต่ประเด็นที่ว่า หากห้ามโฆษณาเข้มเกินไป ร่าง พ.ร.บ.อาจไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ (สภาใหญ่) ยังเป็นประเด็นที่ต้องร่วมอยู่ในเหตุผลตลอด ทำให้ผลออกมา ดังนี้

 

            – สื่อสิ่งพิมพ์ ให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ โดยห้ามปกหน้าปกหลัง และสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับเยาวชนและที่ใช้ในสถานศึกษา ยกเว้นการศึกษาในหลักสูตรเกี่ยวข้องกับการผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

            – สื่อป้ายกลางแจ้ง ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

            – สื่อโทรทัศน์ ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 05.00-24.00 น.

 

            ส่วนในมาตรา 34 จะพิจารณาวันศุกร์ที่ 14 ก.ย.นี้ ซึ่งเกี่ยวกับการโฆษณาชื่อบริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ (ผู้ผลิตเบียร์ช้าง เบียร์อาชา แสงโสม แม่โขง เป็นต้น) บริษัทสิงห์คอร์เปเรชั่น (ผู้ผลิตเบียร์สิงห์ เบียร์ลีโอ) ซึ่งตามร่างเดิมห้ามโฆษณา หากคณะกรรมาธิการให้โฆษณาได้ในมาตรา 34 นี้ จะเกิดผลให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถโฆษณาชื่อบริษัทได้ในทุกสื่อตลอดเวลา (24 ชั่วโมง) เช่น โทรทัศน์จะมีการโฆษณาบริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ สิงห์คอร์เปเรชั่น ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันตามมติคณะรัฐมนตรี 2546 ห้ามอยู่ หรือ ป้ายกลางแจ้งที่คณะกรรมาธิการไม่ให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะสามารถโฆษณาบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างอิสระ

 

            สิ่งที่น่าสังเกต คือ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เกิดขึ้นภายใต้เจตนารมณ์เพื่อลด การดื่ม ลดผลกระทบ ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดผลกระทบทุกด้านมากมาย ที่สำคัญเพื่อปกป้องลูกหลานของไทย

 

            โดย พ.ร.บ.นี้ มีประชากรกว่า 13 ล้านเสียงสนับสนุน มีนักวิชาการลงชื่อสนับสนุนกว่า 300 ท่าน มีนักวิชาการสายนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์อีกกว่า 160 ท่าน ลงชื่อสนับสนุน มีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศมากมาย พบว่าการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลทำให้เยาวชนดื่มมากขึ้น เกิดผลกระทบมากขึ้น และโฆษณาทำให้เกิดค่านิยมว่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้สนุก มีเพื่อน เท่ห์ ที่สำคัญไทยมีบทเรียนที่มีคุณค่าจากบุหรี่ ที่ห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิงทุกสื่อตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ปี 2532 (18 ปี) จำนวนนักสูบหน้าใหม่ (เยาวชน) ลดจำนวนลงเห็นได้ชัด รวมถึงค่านิยมทุกวันนี้คนสูบบุหรี่ไม่ได้เท่ห์เหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

 

            เหตุผลข้างต้น เห็นได้ว่า การห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิง ส่งผลดีต่อการลดการบริโภคและผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เหตุใดผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ จึงออกมาอ่อนลงและเหตุผลต่างๆ ที่ใช้ประกอบดูบิดเบี้ยวไปหมด เช่น สื่อโทรทัศน์ เป็นสื่อที่มีอิทธิพลที่สุดในการทำให้เยาวชนรู้จักเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรเป็นสื่อที่ถูกควบคุมเข้มก่อนสื่ออื่นๆ ดังเช่น 33 ประเทศทั่วโลก ที่ควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโทรทัศน์ตลอด 24 ชั่วโมง

 

            มติคณะกรรมาธิการกลับปล่อยให้มีการโฆษณาได้ทางสื่อโทรทัศน์ ขณะที่คุมเข้มป้ายกลางแจ้งซึ่งมีผลต่อเด็กน้อยกว่า ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้ธุรกิจสุรามีทางออกในการโฆษณาบ้าง ด้วยเกรงว่าหากมาตรการห้ามโฆษณาเข้มมากจะทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้พ่ายแพ้และตกไปในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

 

            จึงเชิญชวนประชาชนให้กำลังใจ สนช.ใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรม พิจารณามาตรการห้ามโฆษณาอย่างเข้มข้นตามร่างเดิม ห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิงตามแบบบุหรี่ที่สำเร็จมาแล้ว ในไทยนี้เอง หากต้องการให้ธุรกิจสุราโฆษณาได้ ก็ควรให้โฆษณาในสถานบริการและสถานจำหน่ายสุราเป็นการเฉพาะ เนื่องจากบุคคลที่เข้าสถานที่เหล่านี้ เป็นบุคคลที่ต้องการเข้าไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสถานที่เหล่านี้ก็ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าตามกฎหมาย

 

            “กล้าตัดสินใจออกพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับเพื่อปกป้องเยาวชนอย่างแท้จริงเถอะครับ”

 

            สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-22980500 ต่อ 1222

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update 25-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code