พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคกฎหมายใหม่ที่คนไทยต้องรู้
เน้นให้ผู้บริโภค ผู้ประกอบการเท่าเทียมกัน
ผู้บริโภคชาวไทยทุกวันนี้น้อยคนนักที่จะรู้ว่ารัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ….เพื่อให้มีกฎหมายที่ให้ความยุติธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน เนื่องจากผู้บริโภคมักอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบและมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ประกอบการ
กฎหมายดังกล่าวที่ประกาศใช้แล้วถือว่าได้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างมาก และในฉบับนี้เราจะมาทำความรู้จัก พ.ร.บ.หน้าใหม่ดังกล่าว
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เกิดขึ้นจากการที่นายวิรัชลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ยกร่างเสนอโดยอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 142(3) ที่กำหนดให้ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีสิทธิเสนอพ.ร.บ.ต่อรัฐสภา โดยนายวิรัชได้เสนอ พ.ร.บ.ดังกล่าวให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา
จึงถือได้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ศาลยุติธรรมใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญเปิดทางให้เสนอกฎหมายต่อ สนช.
เนื้อหาสาระหลักของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค คือ การพยายามมุ่งเน้นให้ความคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อมีข้อพิพาทเรื่องการใช้สินค้า ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้านั้นๆ โดยการดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้คดีจากเดิมที่ยืนบนพื้นฐานของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งถือว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายมีสถานการณ์ต่อสู้คดีเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ยังยึดหลัก “ผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ” ซึ่งเท่ากับเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคในการหาพยานหลักฐานทางเทคนิค ซึ่งผู้บริโภคมักไม่มีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล จึงเป็นข้อเสียเปรียบในการสู้คดี ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ระบุให้ผู้ประกอบการต้องเป็นฝ่ายนำข้อมูลหลักฐานมาแสดงต่อศาล เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาของตนแทน
นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงกฎหมายฉบับดังกล่าวว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวหลายเรื่องหลักๆ คือ 1. ได้รับความสะดวกทางการฟ้องร้องต่อศาลจากการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เดิมที่มีความเคร่งครัด เพราะผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ที่ด้อยโอกาส สามารถใช้สิทธิทางศาลในการเรียกร้องค่าเสียหายได้ง่ายขึ้น อาจฟ้องศาลด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้
2. รวดเร็ว โดยในกฎหมายระบุว่าให้ศาลนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันโดยไม่เลื่อนคดี แต่หากมีเหตุจำเป็น ศาละจะมีคำสั่งเลื่อนคดีได้ครั้งละไม่เกิน 15 วัน และการพิจารณาคดีมี 2 ชั้นศาล คือ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทำให้คดียุติได้เร็วขึ้น 3. ความเป็นธรรม โดย พ.ร.บ.ระบุให้ผู้ประกอบการซึ่งถือว่ามีอำนาจต่อรองมากกว่าผู้บริโภคา จะต้องเป็นผู้พิสูจน์ข้อกล่าวอ้างนั้น หากไม่เป็นไปตามการฟ้องร้องของผู้บริโภค ก็ถือว่าให้คดีจบไป แต่หากพบว่าเป็นความผิดของผู้ประกอบการจริง จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องคดีทั้งหมด รวมถึงส่วนของผู้บริโภคด้วย
และประโยชน์ข้อสุดท้าย คือ การประหยัด เนื่องจากผู้บริโภคจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม เช่น ค่าขึ้นศาล ค่าป่วยการพยาน ค่าทนายความ ฯลฯ ซึ่งหากผู้บริโภคชนะคดี ผู้ประกอบการต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ยกเว้นกรณีที่ผู้บริโภคฟ้อง โดยไม่มีเหตุอันควรหรือเรียกค่าเสียหายเกินควร
นายพงษ์เดช กล่าวต่อว่า ถึงแม้กฎหมายดังกล่าวจะให้การคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะกฎหมายฉบับนี้ก็ช่วยให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีคุณภาพต้องออกจากตลาดไป เหลือแต่เพียงผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้ามีคุณภาพเท่านั้น
ตัวอย่างของการฟ้องร้องเช่น หากผู้บริโภคให้แชมพูแล้ว บอกว่าเกิดอาการคัน ผมร่วง สันนิษฐานว่าเป็นเพราะสูตรของแชมพูไม่ได้มาตรฐาน ก็สามารถฟ้องร้องให้มีผู้ประกอบการพิสูจน์ว่าส่วนประกอบการที่ใช้ในการผลิตได้คุณภาพหรือไม่
“จุดเด่นของกฎหมายฉบับนี้คือการคุ้มครองและให้ความยุติธรรมกับผู้บริโภคมากกว่ากฎหมายในอดีต และช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงกระวนการยุติธรรมได้ง่ายกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้คดีความได้ข้อยุติรวเร็ว”
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:30-07-51