พื้นที่ไม่เยอะ ทุนไม่แยะ แต่สร้างสุขได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
พื้นที่ภาษาเจริญ ชุมชนตัวอย่างสุขภาวะ เปลี่ยนพื้นที่ขยะให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์
“ที่จริงพื้นที กทม.ไม่ได้จำกัดเลย แต่เราไม่ได้จัดการต่างหาก เราไปจำนนกับมันว่าไม่มีพื้นที่ เพราะเห็นว่า "ใต้สะพานบางขี้แก้ง" เป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่ได้ทำอะไร ชาวชุมชน"เลิศสุขสม" แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ จึงนำมาปรับปรุงเป็นพื้นที่ส่วนกลางสร้างกิจกรรมสุขภาวะของชุมชน” ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการ ศวพช. มหาวิทยาลัยสยาม และเลขาธิการมูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน กล่าว
ใต้สะพานเป็นพื้นที่ที่มักได้รับการเพิกเฉย เช่นพื้นที่ใต้สะพานแห่งนี้ เดิมเป็นที่นั่งกินเหล้าของคนในชุมชน พื้นที่เต็มไปด้วยขยะจนไม่สามารถสัญจรได้ด้วยซ้ำ แต่หลังปรับปรุงพื้นที่ ส่วนหนึ่งถูกแบ่งให้เป็นทั้งโรงเพาะเห็ด ปลูกผักเพื่อรับประทานซึ่งจะนำไปแจกจ่ายและจำหน่ายให้กับสมาชิกในชุมชนและนอกพื้นที่ ขณะจัดสรรอีกส่วนเป็นศูนย์เรียนรู้งานหัตกรรมและผลิตภัณฑ์จากเตย ที่ว่างที่เหลือคือพื้นที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน
"ผักนี่เราเริ่มปลูกตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนแรกปลูกเล่นๆ พอโตก็แจกเพื่อนบ้าน ตอนหลังเห็นว่าดีก็มาช่วยกันปลูกเยอะขึ้น ตอนนี้เลยเริ่มมีการนำไปจำหน่ายที่ตลาดวังหลังสร้างรายได้กลับคืนชุมชน"กรกิจ พวงมาลี บอกเล่าขณะกำลังตั้งใจก้มหน้าตัดยอดอ่อนต้นทานตะวันและผักบุ้งในกะบะดินมาจัดวางใส่ถุงพลาสติกใสเพื่อนำไปขาย
กรกิจ เป็นเจ้าหน้าที่อีกคนที่ปักหลักดูแลพื้นที่ใต้สะพานแห่งนี้ โดยเขาได้รับการว่าจ้างผ่านทางมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ที่ส่งเสริมให้เอกชนสนับสนุนผู้พิการทำงานพัฒนาสาธารณะประโยชน์ในพื้นที่ โดยจากการมองเห็นกระแสรักสุขภาพกำลังมาแรง เขาจึงศึกษาวิธีการปลูกผักปลอดสารพิษจาก You Tube แล้วนำมาทดลองปรับให้เข้ากับพื้นที่ โดยมีน้องๆ ในชุมชนมาช่วยลงมือเพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
"เดิมเรามีตั้งโรงเพาะเห็ดและปลูกผักชุมชนตรงที่อื่น พอน้ำท่วมหนีกันออกไปอยู่ที่อื่นก็แยกทำที่บ้าน และมาเริ่มคิดกันใหม่ โดยย้ายมาอยู่ใต้สะพานให้หมด เพราะเราทำเป็นห้องปิดมิดชิด กันสุนัขหรือแมวมารบกวน ส่วนเห็ดที่ได้นอกจากกินกันเอง ที่เหลือก็นำไปขาย นำเงินเข้ากองทุนชุมชน อีกส่วนปันให้คนที่มาช่วยกัน"
เขาเล่าว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่มีงานทำ ดังนั้นใครมีเวลาว่างก็เข้ามาร่วมกัน ร้อยละแปดถึงเก้าสิบจึงเป็นผู้สูงอายุที่ ลูกออกไปทำงานอยู่บ้านเฉยๆ ซึ่งพื้นที่นี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้งานฝีมือต่างๆ ทั้งร้อยพวงมาลัย ดอกไม้ประดิษฐ์จากใบเตย กระทงใบเตย หรือช่อดอกไม้ เป็นต้น ที่จะทำให้ผู้สูงวัยเหล่านี้เพลิดเพลินไม่น้อย
โดยล่าสุดยังได้รับความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยสยาม ที่ส่งนักศึกษาลงพื้นที่ชุมชน เนรมิตใต้สะพาน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ระหว่างชุมชนและฝ่ายวิชาการ
"เราสอนเขา เขาสอนเรา เขาให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาการเทคโนโลยีกับเรา เช่น เทคนิคการทำกระดาษจากใบเตย ที่เรากำลังต่อยอดไปเป็นการทำดอกไม้จันตอนนี้"
ย้อนกลับไปกว่าสามสิบปีก่อน เลิศสุขสม เป็นชุมชนที่ชาวบ้านนิยมปลูกเตย ทำสวนดอกไม้เพื่อนำไปส่งขายที่ปากคลองตลาด โดยการสัญจรยังต้องอาศัยแต่เส้นทางเรือเท่านั้น แต่ใครจะคาดคิดว่า ไม่กี่ปีหลังชุมชนถูกพัฒนาความเป็นเมือง ซึ่งเริ่มตั้งแต่มีถนนตัดผ่านกลางพื้นที่ไร่สวนของคนในชุมชน แม้จะสร้างความสะดวกการสัญจรมากขึ้น แต่ก็ส่งผลให้วิถีชีวิตชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลง
"คนก็ขายที่ตัดทำถนน จากสวนเตยหายไปหมดเลยเหลือแค่ไม่กี่ราย เพียงสองสามหมู่บ้าน แต่เราไม่อยากทิ้งมรดกชุมชน ในอดีต จึงคิดรื้อฟื้นส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกเตยในชุมชน" จากจุดแข็งการพัฒนาด้วยการมีผู้นำ
อารมณ์ ยมทอง ประธานชุมชนเลิศสุขสมที่มีความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน วันนี้ เลิศสุขสมจึงถูกยกเป็น 1 ใน 10 ชุมชนต้นแบบพื้นที่สุขภาวะของเขตภาษีเจริญ ซึ่งเกิดจากการพัฒนา ร่วมกันระหว่างชาวชุมชนเลิศสุขสม และศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ (Healthy Space) ในพื้นที่เขตภาษีเจริญ เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่สร้างสุขให้กับชุมชน รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์แวดล้อมชุมชนให้มีความน่าอยู่มากขึ้น
ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ กล่าวย้ำว่า "ที่จริงพื้นที่ กทม.ไม่ได้จำกัดเลย แต่เราไม่ได้จัดการต่างหาก เราไปจำนนกับมันว่าไม่มีพื้นที่"
ปัจจุบันใต้สะพานหลายแห่ง ยังกลายเป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชน และชุมชนกับชุมชน บางชุมชนเริ่มมีการรวมตัวกันเองอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งผู้อำนวยการ ศวพช. เอ่ยว่ากระบวนการดังกล่าว ต้องเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจจากชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ
"ที่ผ่านมาเราใช้ทั้งกระบวนการสื่อสาร แลกเปลี่ยนระหว่างกัน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราได้เห็นการมีส่วนร่วมชุมชนเกิดขึ้น โดยที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับเขา แต่กลับมีการขยายชุมชนพื้นที่สุขภาวะในเขตนี้และขยายไปสู่เขตอื่นๆ ต่อเนื่อง
"สำหรับในการดำเนินงานในปีที่ 4 เรามองว่า หลายชุมชนที่ทำงานกับเรา เขาควรต้องก้าวเป็นพื้นที่ต้นแบบได้แล้วซึ่งก้าวต่อไป ก็ต้องเตรียมพร้อมพื้นที่ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยตอนนี้มีชุมชนที่อาสาจะเข้าร่วม 10 พื้นที่" ผศ.ดร.กุลธิดาเอ่ยว่า ชุมชนต้องบอกความต้องการของตัวเอง เขาจะเป็นคนออออกแบบพื้นที่ของตัวเอง ฐานคิดที่มาจากชุมชน ทำให้มีศักยภาพ ขณะเดียวกันในกระบวนการเหล่านี้ยังเป็นการปรับวิธีคิดของเขาไปในตัวด้วย
"ตอนเราเข้าไปชี้แจงว่าพื้นที่สุขภาวะคืออะไร เขายังบอกว่า เขาไม่มีพื้นที่ ทุกวันนี้ต่างคนต่างอยู่ ทุกคนพูดแต่คำว่า เป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เราพยายามพูดคือ คำว่า "กินดี อยู่ดี" คือมีอาหารปลอดภัย มีรายได้ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เราต้องเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วม การถามความต้องการชาวบ้าน ต้องเปลี่ยนให้เขาเป็นคนลุกขึ้นมาทำเอง สร้างวิธีคิดให้เขา การติดแบรนด์ว่าเป็นต้นแบบ คือการสร้างคุณภาพมาตรฐานที่จะทำให้เขารู้สึกละอาย ถ้าหากมีคนเดินเข้าไป ในชุมชนแล้วเจอขยะ"