พื้นที่สุขภาวะ ‘คลองลัดภาชี’

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


พื้นที่สุขภาวะ 'คลองลัดภาชี' thaihealth


ขนาดของ "พื้นที่" ไม่ใช่ข้อจำกัด อีกต่อไปสำหรับ ชุมชนคลองลัดภาชีซึ่งสามารถก้าวข้ามไปสู่การเป็นเกษตรกรเมืองกรุงได้อย่างเห็นผล หลังจากร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ (Healthy Space) บริบทเมืองนำร่องเขตภาษีเจริญ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสยาม


เดิมที ชุมชนคลองลัดภาชีเป็นชุมชนที่ถูกไล่รื้อจากชุมชนสวนมะพร้าวหมู่ 12 แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ และได้รวมตัวกันเป็น "กลุ่มออมทรัพย์" ขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2548 โดยเริ่มหาที่ดินเพื่อสร้างชุมชนใหม่ และได้รับความอนุเคราะห์ที่ดินใหม่จากอาจารย์บุญศรี มุสิกานนท์ อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐารามบอกขายที่ดินในซอยเพชรเกษม 48 แยก 4-7 ซอยร่วมพัฒนา เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน  94 ตารางวาใกล้ที่ดินเดิมในหมู่ 12 แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ


จากนั้นกลุ่มออมทรัพย์ได้จัดตั้งสหกรณ์เคหสถานขึ้น เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 นับแต่วันนั้นสมาชิกชุมชนได้ร่วมทำแผนก่อสร้างบ้าน มีการดูแลซึ่งกันและกัน โดยจัดตั้งกองทุนสวัสดิการวันละ 1 บาท ดูแลตั้งแต่ เกิดจนตาย ทำกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนแก้หนี้นอกระบบจนประสบความสำเร็จ


จากอดีตที่ผ่านมา นับได้ว่าสมาชิกในชุมชนได้ร่วมกันต่อสู้ ต่อรองเพื่อให้มีความมั่นคงอยู่ดีมีกิน แก้ปัญหากันเองเพื่อให้คนรุ่นต่อไปสืบทอดเจตนารมณ์ตามความประสงค์ของบุคคลรุ่นแรกที่เริ่มกระบวนการเป็นชุมชนที่พึ่งพาตนเองไม่เป็นภาระกับสังคม


ด้วยความที่เป็นชุมชนใหม่ สมาชิกชุมชนอยู่ในช่วงของการก่อร่างสร้างตัว การมาอยู่รวมกันภายใต้พื้นที่ที่จำกัด จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบทางสังคม และปรับปรุงพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดที่ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์ ทุกคนต่างลงความเห็นว่าพื้นที่รกร้างเหล่านั้น สมควรได้รับการดัดแปลงให้เป็นพื้นที่เพื่อสุขภาวะของคนในชุมชน พื้นที่สุขภาวะ 'คลองลัดภาชี' thaihealthปรับเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกพืชผักสวนครัว บางพื้นที่รกร้างเต็มไปด้วยขยะที่ถูกทิ้งอย่างไร้ระเบียบ ให้แปรสภาพเป็นโรงเรือนที่ใช้ในการเกษตร อาทิ โรงเพาะเห็ด โรงเรือนปลูกผักลอยฟ้า เป็นต้น และด้วยการหนุนเสริมจาก ศวพช. ม.สยาม สสส.และภาคีเครือข่าย เห็ดได้ยกระดับมีการแปรรูปและดูแลเรื่องคุณภาพความปลอดภัยเพื่อการบริโภคและจำหน่าย


ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม และ เลขาธิการ มูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน  ผู้พัฒนาพื้นที่ชุมชนเขตภาษีเจริญให้เป็นพื้นที่ สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ (Healthy Space) ด้วยการสนับสนุนจากสสส.กล่าวว่า ชุมชนคลองลัดภาชี เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ชุมชนในเขตภาษีเจริญที่อาสานำร่องเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการพื้นที่ที่มีอย่างจำกัด และปล่อยให้รกร้าง ให้กลับกลายเป็นพื้นที่ ใช้ประโยชน์ที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย อาหาร ภูมิทัศน์ที่ปลอดภัยและสานสัมพันธ์ ของคนในพื้นที่ ซึ่งเรียกว่า พื้นที่สุขภาวะ (Healthy Space) หมายถึง การปรับพื้นที่ทุกขภาวะ  ให้เป็นพื้นที่สุขภาวะ พื้นที่แห่งความสุข ของทุกคน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความ เข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน


สำหรับที่คลองลัดภาชีนั้น ผศ.ดร.กุลธิดา เอ่ยถึงความท้าทายว่า อยู่ตรงขนาดของพื้นที่ที่มีอย่างจำกัด และไร้ระเบียบ  ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการปรับใช้ประโยชน์ ให้เกิดกติกาชุมชน และการปลูกเห็ด  การแปรรูปเห็ด


ในวันนี้ บทเรียนสำหรับคนเมืองกรุงจากชุมชนคลองลัดภาชี สามารถบอกได้ว่า ด้วยพื้นที่เพียง 4.5 ตารางวา หากถูกจัดการ จะสามารถปลูกเห็ดเพื่อการบริโภคและจำหน่ายได้ถึง 120 กิโลกรัม และสามารถเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็น น้ำพริกเห็ด เห็ดหยอง ทอดมันเห็ด  และอื่น ๆ อีกมากมาย


อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องคำนึงอยู่เสมอ คือ เมื่อไหร่ที่การพัฒนามุ่งเน้นให้เกิดการ กินดี คือ สร้างเศรษฐกิจเป็นตัวนำ  การอยู่ดี มักจะหายไป คือความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อมจะถูกละเลย ชุมชนคลองลัดภาชี ได้เตรียมการรับมือ ในสิ่งที่จะเกิดขึ้น ด้วยการระดมพลังเยาวชนและสมาชิกในชุมชน จัดตั้ง กลุ่มดูแลสิ่งแวดล้อมขึ้นด้วย พร้อมจัดกติกาชุมชนร่วมดูแลรักษาความสะอาดอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาชุมชนอย่างครบวงจรต้องคำนึงอย่างครบถ้วน  ทั้งด้านกินดี และอยู่ดี กาย ใจ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน


"สำหรับชุมชนคลองลัดภาชี  จะขับเคลื่อนเป็นพื้นที่สุขภาวะต้นแบบด้านการปลูกเห็ดในพื้นที่ที่จำกัด โดยที่นี่จะไม่ใช่เพียงแหล่งผลิตแต่จะเป็นพื้นที่เรียนรู้การจัดการพื้นที่ที่มีข้อจำกัดของคนเมืองกรุงต่อไปด้วย" ผศ.ดร. กุลธิดา กล่าว


สำหรับผู้สนใจ ชาวชุมชนเอ่ยปากชวนให้มาร่วมกันเยี่ยมชมและเรียนรู้เรื่องราวในชุมชนได้ แล้วจะรู้ว่า  ข้อจำกัดมากมายก็ไร้ความหมาย  ถ้าคนในชุมชนร่วมแรงร่วมใจกัน

Shares:
QR Code :
QR Code