พื้นที่สีเขียวคนกรุง กว้างกว่ากางแขน (นิดเดียว!)
ชาวเมืองใหญ่ทุกวันนี้ต่างใช้ชีวิตอย่างดิ้นรน อย่างแรกพวกเราดิ้นรนทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อถึงเวลาพักก็ต้องดิ้นรนเดินทางหาธรรมชาติหาพื้นที่สีเขียวในต่างจังหวัดเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ ผ่อนคลายสายตาและจิตใจ เพราะจากผลสำรวจดัชนีพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เราได้เพียงคนละ 3.3 ตารางเมตร (ตรม.) เท่านั้น กว้างกว่ากางแขนแล้วหมุนตัวนิดหนึ่ง หรือใหญ่เท่าคนลงไปนอนดิ้นตายเท่านั้นเอง
เชื่อว่าใครเห็นตัวเลขผลสำรวจนี้ก็ตกใจกันทั้งนั้น เพราะมันจะเป็นไปได้อย่างไร แค่เดินไปที่สวนสาธารณะเราก็มีพื้นที่ให้เดินเป็นไร่ หรือสวนหน้าบ้านเรายังกว้างกว่านี้เสียด้วยซ้ำ แต่ความเป็นจริงการมองพื้นที่สีเขียวในภาพรวมของทั้งกรุงเทพฯ นั้น ไม่ว่าสวนในบ้านคุณจะใหญ่แค่ไหนก็ถูกนำมารวมกับพื้นที่อื่นๆ แล้วหารด้วยจำนวนคนอีกประมาณ 6 ล้านคนเป็นอย่างน้อย ไม่นับรวมแรงงานต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาทำงานอยู่อาศัยอีกเท่าตัว
ตัวเลข คือ ตัวเลขดัชนีพื้นที่สีเขียวนี้ได้มาจากการศึกษาดัชนีวัดความเป็นเมืองสีเขียวในทวีปเอเชีย โดยหน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์ (economist intelligence uniteiu) และความร่วมมือของบริษัท ซีเมนส์ใน 22 เมืองหลักของทวีปเอเชียในปี ….. อย่างเช่น มหานครปักกิ่ง กรุงนิวเดลี กวางเจา จาการ์ต้า กัวลาลัมเปอร์ นานจิง เซียงไฮ้ และหวู่ฮั่น โดยมีประเทศสิงคโปร์ได้อันดับ 1 มีพื้นที่สีเขียวสูงถึง 66 ตรม.ต่อคน ในขณะที่ประเทศของเขานั้นมีพื้นที่เล็กที่สุด และคะแนนด้านอื่นก็สูงกว่าประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
ส่วนประเทศที่ได้พื้นที่สีเขียวต่อคนมากที่สุดต้องยกให้เมืองกวางโจว ประเทศจีน ที่ได้ถึง 166 ตรม.ต่อคน แต่คะแนนด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ของเขาก็ไม่ได้ดีไปกว่าเราเท่าไหร่นัก ซึ่งองค์การอนามัยโลก (who) ใช้ออกเกณฑ์ด้านพื้นที่สีเขียวว่า ในแต่ละเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตรม.ต่อคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กรุงเทพจะด้อยเสียจนน่าใจหายนะครับ เพราะอย่างเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นก็ยังมากกว่าเราอยู่ที่ 4.5 ตรม.ต่อคน แต่คะแนนด้านการขนส่งและอื่นๆ เราต่ำกว่าเกณฑ์เขาทุกด้าน
3.3 ตารางเมตรส่งผลอย่างไร
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า ผลของการที่ประชาชนขาดพื้นที่สีเขียวก็คือเกิดวิกฤตด้านสุขภาพ จากการขาดกิจกรรมทางกายแต่มีพื้นที่มากมายสำหรับกิจกรรมการกินตามศูนย์การค้า ตอนนี้คนไทย 1 ใน 4 มีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน ความดัน ฯลฯ เพราะการขาดพื้นที่ในการทำกิจกรรมการออกกำลังกายมีน้อยเกินไป
ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คนหนึ่งคนควรจะมีพื้นที่สีเขียวประมาณคนละ 9 ตารางเมตร แต่คนในกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพียงคนละ 3.3 ตารางเมตร ในขณะที่ประเทศมาเลเซียคนละ 44 ตารางเมตร และควรมีสวนสาธารณะเฉลี่ยคิดเป็นพื้นที่คนละ 15 ตารางเมตร แต่กรุงเทพฯ มีพื้นที่สวนสาธารณะเพียงคนละ 0.7 ตารางเมตรเท่านั้น ในความเป็นจริง ประเทศไทยมีสวนสาธารณะครบทุกจังหวัด แต่มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีการใช้ประโยชน์จริง
“ทางแก้ปัญหานี้เบื้องต้น คือ เราอาจไม่จำเป็นต้องใช้สนามกีฬา ฟิตเนส หรือสถานที่ที่คนต้องมีค่าใช้จ่ายหรือเข้าถึงยาก เราอาจใช้พื้นที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเองไม่ว่าจะเป็นทางเท้าที่ปลอดภัย สามารถเดินจากบ้านไปที่ต่างๆ ได้อย่างสบายใจ ใช้พื้นที่ในโรงเรียนให้เด็กนักเรียนสามารถเคลื่อนไหวร่างกาย หรือพื้นที่ต่างๆ ที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกายหลากหลายรูปแบบ จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศการมีพื้นที่สร้างสรรค์นั้นทำได้ง่ายๆ เช่น การนำดอกไม้ไปวางในห้องพักผู้ป่วยนั้น พบว่าผู้ป่วยหายป่วยรวดเร็วเป็นต้น” วิลาสินี ให้คำแนะนำง่ายๆ ในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ของตัวเองขึ้นมาทดแทน
สู่พื้นที่สร้างสรรค์ของ กทม.
แม้ว่าความหวังในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ จะมีไม่มากนักซึ่งเราจะไปโทษทางผู้ว่ากรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เสียทีเดียวเพราะพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ล้วนแต่มีเจ้าของแทบทุกตารางนิ้ว แต่ล่าสุด สถาบันสื่อสร้างสุขภาพเยาวชน (สสย.) จัดงาน เปิดกบาลสานสร้าง สื่อสร้างสรรค์เมืองสุขภาวะ เพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สร้างสรรค์ขึ้นมาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป
พื้นที่สร้างสรรค์คืออะไรงานนี้ เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อสร้างสุขภาพเยาวชน มองว่าพื้นที่สร้างสรรค์คือพื้นที่ทำงานที่สำคัญในการพัฒนาเยาวชน การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์จะมีลักษณะหลากหลาย และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน นับแต่เปิดโครงการนี้เมื่อปี พ.ศ. 2555 วันนี้มีพื้นที่ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยทำงานพื้นที่สร้างสรรค์เข้ามาร่วมมากมาย พื้นที่สร้างสรรค์เป็นงานที่กำลังมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่น้อยไปกว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ต้องพัฒนาไปคู่กัน พื้นที่สร้างสรรค์จึงเป็นแหล่งรวมการนำจินตนาการความคิดสร้างสรรค์มาเป็นภาพใหญ่ที่มีพลัง มีความชัดเจน และสามารถปฏิบัติได้จริง
หลายคนอาจจะสับสนว่าพื้นที่สร้างสรรค์จริงๆ แล้วคืออะไร ลองนึกภาพในแต่ละย่านของกรุงเทพฯ ให้ดี เริ่มจากพื้นที่สวนจตุจักรและสยามสแควร์ เป็นพื้นที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ และนักออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสร้างสรรค์ขนาดย่อม และเป็นแหล่งที่ช็อปปิ้งของทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ผลงานการออกแบบสินค้าอินเทรนด์ใหม่ๆ ก็ล้วนมากจากพื้นที่นี้ทั้งสิ้น
ไปที่ย่านทาวน์อินทาวน์และอาร์ซีเอ พระราม 9 ก็เป็นที่รวมของกลุ่มคนทำงานในวงจรธุรกิจสร้างสรรค์ โดยธุรกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่มีลักษณะเป็นห่วงโซ่สนับสนุนกันและมีการทำงานที่เป็นเครือข่ายในพื้นที่เดียวกัน ใครต้องการจัดหาบริษัทรับออกแบบ เอเจนซี่โฆษณา รายการโทรทัศน์ ย่านนี้ก็มีครบหมด หรือจะเป็นพื้นที่ทองหล่อเป็นแหล่งรวมกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์และกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ มีพื้นที่เพื่อการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์โชว์อย่างเป็นรูปธรรม
หน้ามาบุญครองก็เป็นพื้นที่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาปล่อยของ ใครมีดีอะไรอยากทำอะไรก็มาต่อคิวโชว์กันได้อย่างเต็มที่ หรือจะเป็นใต้สะพานพระราม 8 ก็เป็นพื้นที่รวมตัวของเด็กแนวมาซ้อมมาโชว์กันที่นี่ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างพื้นที่สร้างสรรค์นั่นเอง
ดังนั้นแม้กรุงเทพฯ เราจะมีพื้นที่สีเขียวเท่าเรากางแขนแล้วหมุนรอบตัว แต่เราก็สามารถสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเองในสถานที่ต่างๆ ได้ เวลานี้หลายๆ มหาวิทยาลัยก็พยายามเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงออกกันทุกสัปดาห์ ศูนย์การค้าหลายๆ แห่งก็เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้ออกกำลังกายเต้นแอโรบิก และทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
เรานี่ล่ะที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ หรือพื้นที่บ้านของเราให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์