พื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติด สร้างได้โดยชุมชนบำบัด
เรื่องโดย: อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก: สัมมนาแกนนำเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อออกแบบแนวทางการปฏิบัติการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยใช้ชุมชนเป็นฐานราก และการนำเสนอผลการศึกษาพื้นที่ต้นแบบการสร้างพื้นที่ปลอดภัย
ณ ห้องประชุมค็อกพิท โรงแรมอมารี
ภาพโดย ภัณฑิรา แสวงดี Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“…ตั้งแต่ปี 2558 สสส. สนับสนุนโครงการเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมขับเคลื่อนงานป้องกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะในระดับพื้นที่หมู่บ้านชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง 25 แห่ง ใน 48 จังหวัด สามารถปกป้องลูกหลานไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวงจรยาเสพติดทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบได้อย่างเป็นรูปธรรม 25 แห่ง ใน 48 จังหวัด…”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานประชุมสัมมนาแกนนำเครือข่ายภาคประชาชน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ขยายความอีกว่า สิ่งที่ชุมชนทำ คือ ร่วมออกแบบแนวทางการปฏิบัติการป้องกัน ไม่ใช่การจับขัง ทำโทษ แต่เป็นชุมชนบำบัด ให้โอกาส ดูแล แนะนำให้กำลังใจผู้ป่วยต่อสู้กับการเลิกยา หาวิธีทำผู้ติดยาเสพติดมองเห็นคุณค่าในตัวเอง สามารถทำสิ่งดี ๆ ให้กับสังคม ด้วยการปรับปรุงแก้ไขไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอีก
แม้เป็นเรื่องที่ยาก แต่จากการใช้ชุมชมเป็นฐานปฏิบัติการดังกล่าว ผู้ป่วยเองจะมีมุมคิดเชิงบวก สามารถช่วยให้กลับมาเป็นพลังของชุมชนปลอดยาเสพติดในอนาคต
จากประสบการณ์และบทเรียนการทำงานในพื้นที่ของแกนนำต่าง ๆ ทั้งระดับชุมชนหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ภูมิภาค และแกนนำเครือข่าย 5 ภูมิภาค จำนวน 2,683 คน พบว่าเครือข่ายภาคประชาชนเป็นกลไกการขับเคลื่อนนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้การจัดการปัญหายาเสพติดไปขยายผลสู่พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ ได้
จากปัญหายาเสพติดในปัจจุบันเพิ่มขึ้น มีจำนวน ประมาณ 1.9 ล้านคน ล้วนต้องมีกระบวนการเข้าไปช่วยลดปัญหา ไม่เช่นนั้นจะกลายมาเป็นผู้ป่วยจิตเวช หรือกลายเป็นคนก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง ครอบครัวแตกแยก ก่ออาชญากรรมต่าง ๆ สาเหตุความอยากรู้อยากลอง ถูกเพื่อนชักชวนและปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
จึงเป็นที่มาของงานประชุมสัมมนา เพื่อร่วมถอดบทเรียนและออกแบบแนวทางการปฏิบัติการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อนำไปใช้ขยายผลการทำงานและนำข้อมูลวิชาการ มาพัฒนาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติต่อไป
ขณะที่ ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ประธานมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาสิ่งเสพติด คือ การเปลี่ยนกรอบความคิดของชุมชนที่มีต่อสิ่งเสพติด มีเป้าหมายการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนในรูปแบบที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้างสรรค์ เปิดใจพูดคุย
รวมถึงการใช้กลไกและอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพในการติดตามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการยกระดับการเรียนรู้และสร้างพื้นที่ปลอดภัยควบคู่กันไป
ดร.สมคิด แก้วทิพย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวย้อนอดีตแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจะเป็นลักษณะ “การใช้อำนาจบังคับ” กล่าวคือ ผู้มีอำนาจทางกฎหมายในการสั่งการ ตรวจเจอแล้วจับ ขณะที่ชุมชนมองว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องปัจเจก ที่หากจะแก้ไขต้องแก้ที่บุคคล หรือเรียกว่า “ตัวใครตัวมัน”
“…สอดรับกับแนวทางการทำงานของ สสส. ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ให้ความสำคัญการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ที่ให้ทุกคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหายาเสพ โดยยกต้นแบบที่เห็นภาพความสำเร็จชัดเจน คือ ที่สะเมิง จ.เชียงใหม่ ที่ใช้ศิลปะหรือเรียกว่า “ศิลปะสื่อสุข” ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย สามารถป้องกันเด็กได้ 40 คน ป้องกันกลุ่มเสี่ยงได้ 30 คน และเปลี่ยนจากผู้เสพให้เลิกได้ 6 คน”
ขณะที่ นายจิรวัฒน์ ครองยุติ หรือ แต้ม ผู้ประสานงานโครงการปลูกศิลป์ หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบการขับเคลื่อนงานสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติด กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กและเยาวชนใน ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่เดียวในอำเภอที่มีโรงเรียนมัธยมต้น-มัธยมปลาย ทำให้เด็ก ๆ จากทุกตำบลมารวมกันที่นี่
และอีกหนึ่งเหตุผล คือ สะเมิง เป็นพื้นที่ที่มีประชากรแอบแฝงค่อนข้างมาก ยังคงพบเป็นปัญหาอยู่มากในปัจจุบันทำให้การตรวจนับหรือสำรวจการติดยาเสพติดยังตกหล่น
คุณแต้มเล่าว่า ได้มีการสำรวจของมูลผู้ติดยาเสพติดจากผู้ใหญ่บ้าน และทำวิจัยก่อนเข้าไปทำโครงการฯ กับเด็ก ๆ ภายในโรงเรียน โดยใช้กระบวนการแนวความคิดแบบศิลปะ คือ ให้อิสระทางความคิด แต่ไม่ได้สอนให้เด็กคิดนอกกรอบ เน้นขยายกรอบความคิด ค้นคว้าหาข้อมูล รับฟัง ไม่ตัดสิน ไม่ตีตรา ทำความเข้าใจกับสิ่งนั้น ๆ และมอบโอกาสก่อนลงมือทำ เพราะหากเราเข้าใจเราจะทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างดีและมีความสุข
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยส่งต่อการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย มีปัจจัยบวก 3 ประการ คือ ผู้นำชุมชน ความตื่นกลัว และ การมีส่วนร่วมของชุมชน จะเลือกใช้วิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับภูมิสังคมและวิถีของประชาชนนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม Safe Zone for All สสส. และภาคีเครือข่าย พร้อมพัฒนาองค์ความรู้ สร้างพื้นที่ตัวแบบจากการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติด และวิธีการป้องกันที่สร้างสรรค์ให้กับสังคมไทย เพื่อลดปัญหายาเสพติดในอนาคตอย่างยั่งยืน