พื้นที่นี้..ดีจัง ณ แพร่งภูธร
ภายใต้แนวคิด ′เล่น เรียนรู้ ริเริ่ม ร่วมทำ แบ่งปัน′
แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือกับชุมชนแพร่งภูธร กลุ่มรักยิ้ม กลุ่มดินสอสี และภาคีพื้นที่สร้าง สรรค์ทั่วไทย จัดงานมหกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ “พื้นที่นี้..ดีจัง ณ แพร่งภูธร” เสาร์-อาทิตย์ที่ 18-19 ธันวาคมนี้ ให้เด็กๆ ครอบครัว และคนรุ่นใหม่ได้ไปอิ่มยิ้มกันที่ย่านสามแพร่ง
จากผลการวิจัยพบว่า เด็กวัย 12-19 ปี ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล สามารถเดินถึงร้านเหล้าได้ใน 7 นาที ไปร้านเกมและแหล่งพนันได้ภายใน 15 นาที เข้าถึงซีดีลามกและสถานบันเทิงได้ใน 30 นาที
“สสย.จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์ให้เกิดพื้นที่ดี และ กิจกรรมสร้างสรรค์ ด้วยแนวคิด ′เล่น เรียนรู้ ริเริ่ม ร่วมทำ แบ่งปัน′ ภายใต้ชื่อปฏิบัติการ ′พื้นที่นี้..ดีจัง′ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนประเทศไทยให้น่าอยู่ จากพื้นที่สร้างสรรค์เล็กๆ ที่เด็กและเยาวชนเป็นเจ้าของ” เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการ สสย. ชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ
ในงานมหกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ “พื้นที่นี้..ดีจัง ณ แพร่งภูธร” ครั้งนี้ เริ่มต้นเวลา 14.00 น. ด้วยกิจกรรม “เดินชุมชน เยือนสามแพร่ง” โดยมีเยาวชนแพร่งภูธรร่วมเป็นไกด์อาสาร่วมกับกลุ่มรักยิ้ม อาสาสมัครนักเรียนมัธยมโรงเรียนรอบๆ ย่านแพร่ง โดยมีวิทยากรจากชมรมสยามทัศน์ มาให้ความรู้ เล่าเรื่องราว ตำนาน ความเป็นมา พร้อมด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสนุกสนานไม่รู้เบื่อ
“สามแพร่ง” อยู่ใกล้เสาชิงช้า ติดกับคลองคูเมือง (คลองหลอด) แต่เดิมเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายยุคกลางรัตนโกสินทร์ แพร่งแรกเรียกว่า แพร่งภูธร อดีตเป็นวังริมสะพานช้างโรงสีเหนือ ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่าวังเหนือ ที่ประทับของ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์”
“แพร่งนรา” เป็นเขตพระราชฐานเก่าของ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์” มีโรงละครปรีดาลัยตั้งอยู่ในตำหนัก ปัจจุบันเป็นอาคารโรงเรียนตะละภัฏศึกษาที่ปิดไปแล้ว แต่ตัวอาคารที่มีลวดลายฉลุงดงามนั้นยังคงอยู่ตามเดิม
“แพร่งสรรพสาสตร์” เป็นที่ประทับของ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพ สาสตร์ศุภกิจ” ปัจจุบันยังเห็นซุ้มประตูวังนี้ได้ที่ริมถนนตะนาว บริเวณโดยรอบของสามแพร่งยังมีสถานที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น ศาลเจ้าพ่อเสือ วัดมหรรณพาราม ฯลฯ
นอกจากนี้ สามแพร่งยังถือว่าเป็นแหล่งของกินที่มีชื่อเสียงมายาวนาน เต็มไปด้วยร้านอาหาร ขนมต้นตำรับ สูตรลับทีเด็ด นับตั้งแต่ ร้านบะหมี่แพร่งภูธร ร้านก๋วย เตี๋ยวเนื้อกิมทอง เกาเหลาสมองหมูไทยทำ ร้านข้าวหมูแดงอุดมโภช นา ขนมเบื้องแพร่งนรา ร้านเดิมสูตรชาววัง สารพัดข้าวเหนียวมูนร้าน ก.พานิช ซ่าหริ่มเลิศรสร้านชูถิ่น ปาท่องโก๋เสวย ร้านไอศกรีมนัฐพร ถือเป็นเส้นทางอร่อยที่นักชิมยกนิ้วให้มาหลายชั่วคน
ในเวลา 4 โมงเย็นแดดร่มลมตก ที่ลานภูธเรศ และถนนโดยรอบจะเนรมิตเป็นลานกิจกรรรมพื้นที่สร้างสรรค์ พบกับซุ้มกิจกรรม “พื้นที่นี้..ดีจัง ทั่วไทย” ให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ใช้เวลาสานสัมพันธ์ครอบครัว แสดงออกซึ่งจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้วิถีชุมชน ภูมิปัญญาพื้นบ้านครบทั้ง 4 ภาค
ภาคเหนือ เป็นซุ้มกิจกรรมธรรมชาติของเด็กๆ ปกาเกอญอจากป่าสนวัดจันทร์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ชวนทำดอกไม้จากลูกและเปลือกสน สายสร้อยจากเมล็ดพันธุ์ เรียนรู้วิถีชนเผ่าที่ผูกพันแนบแน่นกับป่าเขา ภาคใต้เป็นการละเล่นพื้นบ้านสนุกๆ เดินทองโย่ง เดินกะลา กิจกรรมทำมือกับการร้อยลูกปัดโนราหลากสีสัน
ซุ้มธารศิลป์ถิ่นเพชรของกลุ่มลูกหว้าจากจ.เพชรบุรี เป็นกลุ่มนักเรียนที่เรียนรู้จากครูช่างสิบหมู่ของท้องถิ่น นำมาสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมศิลปะแบบมีส่วนร่วมที่ให้ทั้งความเพลิดเพลิน ความรู้ และผลงานสวยงามติดไม้ติดมือกลับบ้านไป มีกิจกรรมที่น่าสนใจ สนุกได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก คือ มหัศจรรย์พวงมโหตร ตอกกระดาษลาย 12 นักษัตร ใบตาลสานสนุก ลูกยอดหลากสี จิตรกรรมไทยบนแผ่นกระดาษ
ภาคอีสาน มีกลุ่มเยาวชนจากบ้านดงบัง จังหวัดมหาสารคาม นำฮูปแต้ม (ภาพผนังโบสถ์) เรื่องสินไซ มาให้เด็กๆ ตอกตัวหนัง ทำพวงกุญแจ
จากภูมิภาคมาถึงซุ้มของเด็กเมืองหลวง เริ่มจากตุ๊กตาต้นไม้ จากใจเยาวชนแพร่งภูธร กระเป๋าดินสอใส่รัก สมุดทำมือสื่อหัวใจ เข็มกลัดแบบเดียวในโลก โดยกลุ่มรักยิ้ม ที่โดดเด่นแปลกใหม่ไม่ธรรมดา ได้แก่ fotomo ถ่ายภาพกับโมเดลชุมชน
อาจารย์กรินทร์ กลิ่นขจร เจ้าของไอเดียจากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทค โนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาด กระบัง ให้รายละเอียดว่า โฟโตโม (fotomo = foto + model) คือการทำแบบจำลองด้วยภาพถ่าย โดยเป็นการนำเอาภาพถ่ายของฉากในโลกความจริงมาตัด จัดวางและประกอบเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นภาพตัดแปะสามมิติ
โดยเทคนิคนี้ คิมิโอะ อิโตซากิ (kimio itozaki) นักถ่ายภาพชาวญี่ปุ่นผู้มีมุมมองอันเป็นเอกลักษณ์ ว่าด้วยชีวิตและศิลปะเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของแบบฝึกหัดเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการสัมผัสชีวิตผู้คนและสถาปัตยกรรมในย่านต่างๆ มองให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนในชีวิตประจำวัน เก็บข้อมูล เรียนรู้ และถ่ายทอดออกมาให้ผู้คนเข้าใจได้
นอกจากกิจกรรมในซุ้มต่างๆ ยังมีการแสดงหรรษาสำหรับทุกวัย โดยวันเสาร์จะรวมการแสดงหุ่นเกือบทุกประเภทในเมืองไทยมาไว้ที่แพร่งภูธร ได้แก่ หุ่นมือของคณะแต้มฝัน หุ่นสายสื่อผสมเรื่อง วาวา เด็กหญิงเมล็ดข้าว โดยพระจันทร์เสี้ยวการละคร หุ่นคนโดยคณะแม่เพทายจากเพชรบุรี หุ่นละครเล็กคณะคำนาย บ้านศิลปินคลองบางหลวง และหุ่นเงาหนังบักตื้อตะลุงอีสาน ฝีมือการแสดงประกอบหมอลำของเด็กๆ คณะเพชรอีสาน
ส่วนอาทิตย์ มีการอ่านนิทาน 3 ดี ประกอบการแสดง 3 แบบ โดย น้ำผึ้ง-ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ พอล-ภัทรพล ศิลปาจารย์ ทราย-อินทิรา เจริญปุระ ละครนิทานยายกับตาปลูกถั่วปลูกงา โดยกลุ่มกะปุ๊กลุก ละครชาตรีเรื่องสังข์ทองจากเด็กๆ บ้านบางแก้ว เพชรบุรี สนุกทั้ง 2 วัน
ขณะที่ผู้รักในเสียงดนตรีก็มีบทเพลงสร้างสรรค์จากศิลปินที่ชื่นชอบมาบรรเลงให้ฟังในบรรยากาศอบอุ่น ล้อมวงฟังเป็นกันเอง ไม่ว่าจะเป็น โฮปแฟมิลี่ พร้อมบทเพลง “ยิ้มของแผ่นดิน” เพลงประจำโครงการพื้นที่นี้..ดีจัง ช่วงเวลาพิเศษ “คิดถึงสองวัย” กับฟุตปาธแฟมิลี่ เตหน่า และมิตร โดยศิลปินจากขุนเขา ชิ สุวิชาน เจี๊ยบ-วรรธนา วีรยะวรรธน เจ้าของบทเพลง “เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม” มากับมินิคอนเสิร์ต “วัน เดือน ปี ดีจัง” อะคูสติก กลางแจ้งลานแพร่งภูธรครั้งแรกของ ธีร์ ไชยเดช และเต็มวงกับ paradox
เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบสำหรับคนทุกวัยที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เสาร์อาทิตย์ที่ 18-19 ธ.ค.นี้ “พื้นที่นี้..ดีจัง” ที่ลานกลางแจ้งแพร่งภูธร ใกล้เสาชิงช้า จอดรถได้ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ผู้สนใจเดินชุมชน เยือนสามแพร่ง กรุณาติดต่อลงทะเบียนล่วงหน้าเพราะรับจำนวนจำกัด หรือสนใจสอบถามรายละเอียดการเดินทางและกำหนดการเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มดินสอสี โทร. 0-2623-2838-9 หรือเฟซบุ๊ก (facebook) พื้นที่นี้…ดีจัง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update:08-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่