พื้นที่ชายแดน ระวังไข้มาลาเรีย
นายแพทย์ศิริชัย ลีวรรณนภาใส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า พื้นที่อำเภอชายแดนของจังหวัดสงขลา ประชาชนในพื้นที่ยังมีความเสี่ยงต่อโรคไข้มาลาเรีย เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่าเขา และอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของยุงก้นปล่อง โดยผู้มีอาการสงสัยเป็นไข้มาลาเรีย ขอให้รีบเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อและต้องป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดซ้ำ
สำหรับปัญหาโรคไข้มาลาเรียของจังหวัดสงขลา ยังพบมีการรายงานผู้ป่วยในพื้นที่อำเภอชายแดน ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียของจังหวัดสงขลา พบผู้ป่วยจำนวน 435 ราย ในอำเภอสะบ้าย้อย นาทวี สะเดา จำนวน 203,132,65 รายตามลำดับ ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต (ข้อมูล ณ 1 ตุลาคม 2556 – 18 เมษายน 2557) โดยโรคไข้มาลาเรียแพร่ระบาดโดยยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำเชื้อโรคจากคนสู่คน
โดยแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง พบมากในพื้นที่ที่มีบริเวณภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งถ้าถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัด และปล่อยเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด หลังจากนั้น 10-14 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวให้สงสัยว่าเป็นโรคมาลาเรีย ขอให้รีบไปตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้ทราบด้วย เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว เพราะหากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ อาจทำให้เสียชีวิตได้
ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต