พื้นที่คุณแม่ เพราะเข้าใจความเป็นหญิง
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ให้สัมภาษณ์โดย คุณจิตติมา ภาณุเตชะ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ สสส.
ข้อมูลประกอบจาก คู่มือ…การจัดมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
ภาพโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
คุณแม่ยุคใหม่หลายคนพยายามเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะต่างรู้ดีว่านมแม่ คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย แต่เมื่อถึงเวลาที่คุณแม่ต้องกลับไปทำงาน ความยากลำบากคือสถานที่ทำงานไม่มีที่ปั๊มน้ำนมให้ คุณแม่บางคนต้องแอบใต้โต๊ะทำงานอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ บ้างก็หลบไปปั๊มในห้องน้ำ ซึ่งในห้องน้ำก็มีเชื้อโรคมากมายเสี่ยงต่อการปนเปื้อน แถมไม่มีความเป็นส่วนตัว
จะดีแค่ไหนถ้าสถานที่ทำงานมี การจัดห้องหรือมุมปั๊มน้ำนม เพื่อให้คุณแม่สามารถนำนมกลับบ้านไปเลี้ยงลูกได้อย่างถูกสุขลักษณะ ดังนั้น เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม ของทุกปี ถือเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะร่วมรณรงค์พัฒนาสิทธิสตรี โดยเฉพาะบทบาทของความเป็นแม่
“คุณจิตติมา ภาณุเตชะ” ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ สสส. ให้ข้อมูลว่า หากสังคมไทยคำนึงถึงสิทธิสตรีอย่างแท้จริง เราจะต้องปรับความคิดใหม่โดยต้องไม่ผลักภาระการเลี้ยงลูกไว้ที่ผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว แต่ทุก ๆ คนในครัวครอบต้องช่วยกันเลี้ยง ส่วนการจัดสถานที่ทำงานให้เอื้อต่อการดูแลเด็กนั้น เรื่องนี้ก็ต้องไม่เป็นการไปกดดันให้ผู้หญิงทำหน้าที่แม่ให้ดีขึ้น ตอกย้ำมายาคติเดิม ๆ ที่มองว่า บทบาทในบ้าน บทบาทดูแลสมาชิกในครอบครัว คือหน้าที่ของผู้หญิงเพียงลำพัง
ดังนั้น เราจะต้องดึงบทบาทการดูแลเด็กออกจากผู้หญิง โดยที่สังคม ชุมชน และครอบครัว ต้องช่วยกันดูแล ซึ่งในกรณีของสถานที่ทำงาน สิ่งที่เราจะช่วยได้ คือทำสภาพแวดล้อมให้เอื้อ เช่น กรณีที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือต้องเอาลูกมาไว้ที่ทำงาน ก็จะต้องมีสถานเลี้ยงเด็ก หรือถ้าอยู่ในช่วงการให้นมบุตร ก็ต้องมีพื้นที่ส่วนตัวเพื่อที่จะปั๊มน้ำนม ซึ่งสถานที่ทำงานควรจะมีบริการให้ หรืออาจจะต้องดูเงื่อนไขชีวิตของผู้หญิง เช่น การมีสวัสดิการพิเศษวันลาวันหยุดในกรณีที่ลูกป่วย
คุณจิตติมา บอกต่อว่า เรื่องมุมนมแม่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะไม่ควรจะเป็นการให้ผู้หญิง ที่อยู่ในภาวะการให้นมบุตร ต้องดิ้นรนไปแอบนั่งอยู่ตามมุมห้องเงียบ ๆ หรือนั่งอยู่ใต้โต๊ะทำงานเพื่อแอบปั๊มน้ำนม หรือคุณแม่บางคน มีเครื่องปั๊มน้ำนมไฟฟ้า ก็ต้องเอาสายพ่วงมาจากบ้านเอง เพราะมุมที่มีปลั๊กไฟกับมุมที่จะปั๊มน้ำนมอยู่คนละที่กัน ซึ่งสถานที่ทำงานควรจะมีพื้นที่รองรับให้
สำหรับสถานที่ทำงานสามารถจัดพื้นที่อำนวยความสะดวก โดยเริ่มจาก
1. ออกเป็นนโยบาย เพื่อสร้างสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
2. จัดพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัว เก้าอี้ โต๊ะที่เหมาะสมและเต้าเสียบไฟฟ้าสำหรับเชื่อมต่อตัวปั๊มนมแม่ หรืออาจจะจัดสถานที่อยู่ในห้องพยาบาล ก็สามารถทำได้ เพราะมีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม และมีพยาบาลคอยให้ความช่วยเหลือ
3. มีกิจกรรมในเชิงสนับสนุนการให้นมบุตรควบคู่ไปกับการทำงาน และสร้างความเข้าใจกับสมาชิกในที่ทำงาน เช่น การอนุญาตให้พักไปปั๊มน้ำนมหรือให้นมลูก ส่วนถ้าสถานที่ทำงานใดมีพื้นที่มากพอสำหรับเลี้ยงเด็ก ก็ควรจะต้องมีพี่เลี้ยงคอยช่วยดูแลด้วย
“เราจะได้พนักงานที่มีความสุขในชีวิต เพราะเขาสามารถทำหน้าที่บทบาทของแม่ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลมาถึงคุณภาพของงานที่ทำออกมาดีขึ้น ขณะเดียวกันยามที่ธุรกิจประสบกับปัญหา เขาก็พร้อมจะลุยไปด้วยกันไม่ทิ้งองค์กร เพราะเขาได้รับความจริงใจในการดูแลคุณภาพชีวิต” คุณจิตติมา กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานที่ทำงาน นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ทั้งในด้านสุขภาพและสวัสดิการของแรงงาน เพราะส่งผลดีต่อกิจการโดยตรง ดังนี้
> ลดการลาหยุดงานของพนักงาน เพราะเด็กที่กินนมแม่จะป่วยน้อย แม่ไม่ต้องลางานบ่อย ๆ
> ลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาลของบุตรพนักงาน
> ช่วยรักษาพนักงานที่มีทักษะและประสบการณ์ไว้ เพราะพนักงานสามารถทำงานไปพร้อม ๆ กับทำหน้าที่แม่ได้ ทำให้ลดรายจ่ายในการคัดเลือกและฝึกอบรมพนักงานใหม่
> พนักงานมีความสุขในการทำงาน มีความเครียดลดลง เพราะค่าใช้จ่ายในครัวเรือนน้อยลง
> เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้านายและพนักงาน พนักงานมีขวัญกำลังใจ ส่งผลต่อการทำงานที่ดีของพนักงาน
สำหรับ “มุมนมแม่” คือ สถานที่สำหรับให้แม่ได้ใช้ในการบีบหรือปั๊มนมระหว่างวัน เพื่อเก็บน้ำนมในที่ทำงาน ซึ่งมุมนมแม่ช่วยให้แม่ที่ทำงานนอกบ้านเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเสียงานและช่วยให้เด็กได้กินนมแม่นานขึ้น ตัวอย่างพื้นที่มุมนมแม่ ดังนี้
พื้นที่ขนาดเล็ก
- เก้าอี้นั่ง โต๊ะวางอุปกรณ์
- ปลั๊กไฟ
พื้นที่ขนาดกลาง
- เก้าอี้นั่ง โต๊ะวางอุปกรณ์
- ปลั๊กไฟ
- ตู้เย็นสำหรับเก็บน้ำนม
- ตู้เก็บของ
- ถังขยะ
พื้นที่ขนาดใหญ่
- เก้าอี้นั่ง โต๊ะวางอุปกรณ์
- ปลั๊กไฟ
- อ่างล้างมือ
- ตู้เย็นสำหรับเก็บนม
- ตู้เก็บของ
- ถังขยะ
- บอร์ดสำหรับให้ข้อมูลความรู้
- หนังสือ และสื่อความรู้ต่าง ๆ
- รูปภาพลูกๆ ของพนักงานที่ได้มาใช้มุมนมแม่
เป็นที่น่ายินดีที่ในหลาย ๆ สถานที่ทำงานเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จัดให้มีห้องหรือสถานที่ดังกล่าว แต่อาจยังมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งการสร้างสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นับเป็นการให้ความสำคัญและเคารพสิทธิสตรี สสส. ร่วมรณรงค์สนับสนุนพัฒนาศักยภาพสตรีไทย เพื่อสร้างสังคมให้น่าอยู่