เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : กิจกรรม เดือนการฟังแห่งชาติ – National Month of Listening
ภาพโดย พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“คุณเคยรู้สึกเหงาในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนไหม?”
แม้ว่าเราจะอยู่ท่ามกลางผู้คนที่พูดคุย หัวเราะ หรือส่งเสียงดัง แต่บางครั้งเรากลับรู้สึกว่างเปล่าและโดดเดี่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถประสบได้และ กลายเป็นประสบการณ์ร่วมที่หลายคนไม่กล้าพูดถึง เนื่องจากสังคมปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับสื่อออนไลน์และมีชีวิตเร่งรีบมากขึ้น ทำให้ขาดทักษะการรับฟัง การสื่อสารกับคนรอบข้างน้อยลง
“ซึ่งความเหงาเป็นภาวะที่เรารู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีคนที่สามารถเข้าใจหรือรับฟังเราได้อย่างแท้จริง จากงานวิจัย โดย J. Holt-Lunstad และคณะ ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ PLOS Medicine ระบุว่า ภัยจากความเหงา และความโดดเดี่ยวนั้นอาจนำสู่พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอันตรายจากการหาความสุขเทียม เท่ากับการดื่มแอลกอฮอล์ 6 แก้ว หรือการสูบบุหรี่ 15 มวน กระทบต่อสุขภาพจิต ให้เกิดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า สมองเสื่อม อาการวิตกกังวลได้”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว ในโอกาสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ธนาคารจิตอาสา และภาคีเครือข่าย สานพลังจัดกิจกรรม ตลอดเดือน พ.ย. 67 เป็น “เดือนการฟังแห่งชาติ – National Month of Listening” ครั้งแรกของไทยและของโลก เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2567 ที่ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ
ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการดูแลความสัมพันธ์ด้วย “การฟัง” หวังเยียวยาปัญหาจิตใจที่เกิดจากภัยความเหงา และรู้สึกโดดเดี่ยว
ขานรับจาก ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา ยืนยันข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีเพียง 1.3 ล้านคน เป็น 2.9 ล้านคนในปี 2566 หรือเทียบเป็นอัตราส่วนได้ 1:25 คน
โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่เสี่ยงซึมเศร้ามากถึงร้อยละ 17.20 เผชิญความเครียดร้อยละ 15.48 และเสี่ยงจบชีวิตตัวเองที่ร้อยละ 10.63 โดยปัญหาต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับช่วงวัย เช่น คนสูงวัยมักเผชิญปัญหาความโดดเดี่ยว และในวัยทำงาน ที่มักเผชิญปัญหาความเครียดจากการขาดการทำกิจกรรมต่าง ๆ และสิ่งที่เด็กอยากได้จากผู้ใหญ่ คือ การรับฟัง และความเข้าใจ
ดังนั้น การจัดกิจกรรมตลอดเดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นเดือนการฟังแห่งชาติ เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง ได้เข้าใจชีวิต และเข้าใจตนเอง โดยมีกิจกรรมที่สามารถเข้าร่วมได้ถึง 2 รูปแบบ คือ เปิดพื้นที่รับฟังของผู้หญิง พื้นที่รับฟังของวัยทำงาน ที่มีทั้งกลุ่มหลากหลายทางเพศ โดยทีมงานอาสารับฟังใกล้ชิด
“รวมไปถึงการเวิร์กช็อปการฟังด้วยหัวใจ ที่สอนทักษะการฟังเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเหมาะกับผู้ต้องการเพิ่มทักษะการฟังอีกด้วย” ดร.สรยุทธ กล่าว
นายเลิศศักดิ์ แจ่มคล้าย ผู้ช่วยผู้อำนายการฝ่ายปกครอง โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ เป็นครูมาแล้ว 19 ปี ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ กล่าวว่า ตนเองสนใจในเรื่องของการรับฟัง เชื่อว่าการฟังเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งทางโรงเรียนให้ความสำคัญกับการฟังจากเด็ก ๆ โดยเชื่อเสมอว่าเด็กจะต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้เด็กได้เล่าเรื่องราวและปัญหาต่าง ๆ ได้ โดยครูจะต้องเป็นพื้นที่รับฟังที่ไม่ตัดสินใคร แต่ต้องวิเคราะห์ปัญหา และใช้เหตุผล
“แล้วสุดท้ายตัวเด็กจะรู้สึกดีขึ้น และสามารถรู้แนวทางจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ ทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียนได้อีกด้วย” นายเลิศศักดิ์ กล่าวด้วยรอยยิ้มที่บ่งบอกถึงความสุขเมื่อพูดถึงเรื่องราวของเด็ก ๆ ในหลายเรื่องราว
ด้าน คุณนที เอกวิจิตร หรือ อุ๋ย บุดด้าเบลส ศิลปินชื่อดัง ได้แบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับการฟังด้วยใจว่า…
“การฟังด้วยหัวใจ ไม่ได้ใช้แค่หูเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องใช้ใจ ต้องตอบสนองต่อความรู้สึกซึ่งกันและกัน คือ มองหน้ากัน มีปฏิกิริยารับรู้ เช่น พยักหน้าตาม ให้อีกฝ่ายได้รับรู้ว่าเรากำลังฟังอยู่จริง ๆ หรือสามารถสรุปได้ว่าสิ่งที่เราฟังคือเรื่องอะไร
ถ้าหากว่าเรามีความทุกข์ อยากให้ลองเป็นผู้ฟังความทุกข์ของคนอื่นบ้าง จะทำให้รู้ว่ายังมีคนอื่นที่เป็นทุกข์มากกว่าเรา และเราเองก็ยังได้รับรู้ถึงการมีคุณค่าในการทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้อีกด้วย หรือหากเราเป็นผู้ระบายความทุกข์ เราเองก็ได้ให้โอกาสให้ผู้อื่นได้เป็นผู้รับฟังได้เช่นกัน” คุณนที กล่าว
ผลกระทบของความเหงาและความโดดเดี่ยว อาจไม่ใช่แค่ความรู้สึก แต่คือ สัญญาณเตือนถึงภัยร้ายที่สามารถทำลายอนาคตคนได้ การไม่ใส่ใจสัญญาณนี้ อาจนำเราไปสู่เส้นทางที่ไม่ปลอดภัยทั้งสุขภาพจิตและร่างกายได้
“สสส.มุ่งมั่นแนวทางสร้างความสุขที่แท้จริง การมีใครสักคนรับฟังเราอย่างแท้จริง เป็นยาที่ทรงพลังที่สุด เพราะการรับฟังไม่เพียงช่วยให้เราได้ระบายความรู้สึก แต่ยังช่วยสร้างความเชื่อมโยงใหม่ ๆ ให้รับรู้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว การสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัยในใจ’ สามารถป้องกันเราจากพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดจากความเหงา จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากการพึ่งพาความสุขเทียม ไปสู่การสร้างความสุขที่แท้จริงจากภายใน”