“พิษสุนัขบ้า” ทะลุ 20 ราย เหตุถูกกัดข่วนเลียไม่ฉีดวัคซีน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์



แฟ้มภาพ


          กรมควบคุมโรคย้ำ คนตายจาก "พิษสุนัขบ้า" ยังเป็นแค่ 15 ราย เผยสูงกว่าปีที่ผ่านๆ มา หวั่นผู้ป่วยทะลุเกิน 20 รายในปีนี้ เหตุคนขาดความตระหนัก ถูกกัดข่วนเลีย ไม่ไปฉีดวัคซีน เผยพื้นที่เสี่ยงพบเพิ่มขึ้นในโซนอีสานกลาง ภาคกลางตอนล่าง ใต้ตอนบนและล่าง และแหล่งท่องเที่ยว เปิดตัวแอปพลิเคชันทำทะเบียนสัตว์เลี้ยงนำร่องพื้นที่ กทม. ปริมณฑล ใช้วางแผนลดจำนวนสัตว์-คนป่วย


          กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การบูรณาการการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า พื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่รอยต่อ” ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี


          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในคน ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 4 ส.ค. 2561 มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และจากข้อมูลใน Thairabies.net วันที่ 31 ก.ค. 2561 ทั่วประเทศพบสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า 1,180 ตัว พบในสุนัขมากที่สุด 1,034 ตัว รองลงมาเป็น โค 85 ตัว แมว 46 ตัว ควาย 6 ตัว ควายเนื้อ 4 ตัว แพะ 2 ตัว กวาง ม้า และหมู อย่างละ 1 ตัว จะเห็นได้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าเกิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ได้เช่นกัน การควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าใน กทม.และปริมณฑล ต้องร่วมกันหลายภาคส่วน ทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยปี 2561 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง คร. ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และสำนักอนามัย กทม.พัฒนาแอปพลิเคชัน "Stop Rabies" ในการทำทะเบียนสัตว์เลี้ยงใน กทม.และปริมณฑล ทำให้ทราบจำนวนสัตว์เลี้ยง จำนวนสัตว์ที่ได้รับวัคซีน และการทำหมันที่ใกล้เคียงความจริง นำข้อมูลมาวางแผนดำเนินการ เพื่อลดจำนวนสัตว์ป่วย และคนป่วย


          นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ปัญหาของผู้เสียชีวิต คือ ไม่ไปฉีดวัคซีน เพราะยังขาดความตระหนัก และจากข้อมูลพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งเป็นสัตว์มีเจ้าของ ทำให้ประมาท และเข้าใจว่าไม่เป็นไร ทั้งที่ไม่ใช่ แม้แต่ลูกหมาลูกแมวล้วนมีเชื้อได้ ส่วนการติดตามผู้สัมผัสโรคอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกกัด เลีย อย่างกรณี อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ขณะนี้ได้ฉีดวัคซีนในคนเพื่อป้องกันโรคกว่า 80% ของคนที่สัมผัส ทั้งนี้ย้ำว่า การติดเชื้อส่วนสำคัญคือ ตอนชำแหละ ตอนปรุงอาหาร กับตอนกิน ซึ่งอาจไม่สุก โดยไม่แนะนำให้รับประทานเนื้อสัตว์ที่ตายโดยไม่รู้สาเหตุเด็ดขาด ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิต 15 ราย ซึ่งยังไม่ครบปี ถือว่าสูงกว่าปีที่ผ่านๆ มา สิ่งสำคัญคือต้อสร้างความตระหนัก หากถูกกัดข่วนเลีย ควรล้างแผล ใส่ยา แล้วไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนทันที จะช่วยลดการตายได้ มิเช่นนั้นอาจพบผู้เสียชีวิตเพิ่มถึง 20 รายภายในปี 2561


      นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า พื้นที่เสี่ยงยังเป็นแบบเดิม หากพิจารณา 2 ปีก่อนจะพบพื้นที่ระบาดในตะวันออก รอบๆ กทม. และอีสานใต้ แต่สถานการณ์ปีนี้เปลี่ยนไปพบในอีสานกลาง อย่างร้อยเอ็ด บางส่วนของภาคกลางตอนล่าง เช่น ประจวบคีรีขันธ์ และพบส่วนของแหล่งท่องเที่ยว อย่างภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการควบคุมโรคคุมเข้ม แต่ที่กังวลมีภาคตะวันออก และอีสานใต้ อย่างล่าสุดอ.กาบเชิง ก็เป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังมากเช่นกัน


          เมื่อถามถึงกรณีข้อกังวลวัคซีนป้องกันในคนไม่เพียงพอ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า อย.ได้หารือกับทางผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจากการประมาณการณ์ยืนยันว่ามีวัคซีนเพียงพอ เพียงแต่อาจมีข่าวจากแหล่งผู้ผลิตบางแห่งที่มีปัญหาวัคซีน แต่เมื่อหารือแล้วกับทางผู้ประสานงานก็ยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาวัคซีนป้องกันในคน ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องกังวล หากสัมผัสโรคขอให้รีบพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนทันที


          นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า กทม.ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า แต่มีสัตว์ติดเชื้อ ปีนี้พบ 15 หัวสุนัข เช่น เขตบางซื่อ บางเขน จตุจักร ลาดกระบัง เป็นต้น ซึ่งเป้นพื้นที่เดิมๆ ที่เคยพบ ทั้งนี้ แต่ละปี กทม.มีการตั้งงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนสำหรับสัตว์ประมาณ 3-4 แสนโดส และมีการฉีดวัคซีนสุนัข 2 รอบ ช่วง มี.ค. และ ก.ย. รอบละ 10 วัน อย่างไรก็ตาม หากประชาชนสามารถรวมตัวกันและมีสุนัขประมาณ 30-40 ตัว ก็สามารถแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปฉีดวัคซีนเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ สุนัขใน กทม.แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ สุนัขมีเจ้าของ มีประมาณ 6 แสนตัว ส่วนสุนัขชุมชน ไม่มีเจ้าของแต่มีคนเลี้ยง และสุนัขจร รวมประมาณ 1 แสนตัว และเร็วๆ นี้เตรียมจะสำรวจสุนัขใน กทม.เพิ่มเติม


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code