พิษน้ำท่วมโรคฉี่หนูระบาด
ที่มา : สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.
แฟ้มภาพ
สคร.9 แนะวิธีป้องกันและรักษาโรคที่มากับน้ำท่วม ห่วงโรคฉี่หนู พบผู้ป่วย 153 ราย ตายแล้ว 7 ราย
นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่าโรคที่มากับน้ำท่วม จะพบอยู่ 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู โรคตาแดง โรคอุจจาระร่วง และโรคที่ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย ทั้งนี้โรคที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู เนื่องจากการลุยน้ำสกปรกในช่วงน้ำท่วม ขณะที่ร่างกายมีบาดแผล มีอัตราเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้มาก จากสถิติของ สคร.9 ซึ่งดูแลพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบไปด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ พบว่าปีนี้มีอัตราผู้ป่วยเป็นโรคฉี่หนู มากถึง 153 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 7 ราย โดยจังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วยมากที่สุดถึง 82 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยธรรมชาติของโรคฉี่หนูนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง เข้าสู่ร่างกายจากทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือไชเข้าผิวหนังที่แช่น้ำนาน จนอ่อนนุ่ม
นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อโดยการกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะของหนูด้วย เมื่อติดเชื้อโรคฉี่หนูแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บกล้ามเนื้อที่โคนขาและน่อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ตาแดง บางรายมีเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และอาจจะทำให้ตับวาย ไตวาย เสียชีวิตได้ ดังนั้นแนวทางการป้องกัน 1.สวมรองเท้า หรือรองเท้าบู้ท หากต้องลุยน้ำย่ำโคลน หรือเดินบนพื้นที่ชื้นแฉะ สามารถป้องกันน้ำและเชื้อโรคได้ 2.เมื่อเสร็จภารกิจ ต้องรีบอาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาด 3.สวมถุงมือยางในการเก็บกวาดบ้านเรือน ถนนและสิ่งสาธารณะประโยชน์ 4.เก็บกวาดขยะใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูและสัตว์อื่น และ 5.หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยแพทย์ที่ออกมาให้บริการในพื้นที่