“พิบัติภัย” ธรรมชาติสอนธรรมะ

 


จากภัยธรรมชาติแผ่นดินไหว-สึนามิที่ญี่ปุ่น ถึงแผ่นดินไหวในพม่า ล้วนส่งผลต่อประเทศไทย-คนไทยด้วย น้อยบ้างมากบ้าง…สุดแท้แต่ ซึ่ง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ก็ได้สะท้อนไว้ว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นนี้เป็น “บทเรียนสำคัญ” ที่ประเทศไทยควรจะตระหนัก เตรียมรับมือให้ดีพอ ซึ่งเมื่อเกิดภัยธรรมชาติในรูปแบบน้ำท่วมในภาคใต้ของไทย ล่าสุดรัฐบาล-ภาครัฐก็เริ่มขยับปาก-ขยับตัวในเรื่องการ “รับมือภัยธรรมชาติ” มากขึ้นอีกระดับ ซึ่งก็หวังว่าจากนี้จะ “เป็นรูปธรรม” มากขึ้นกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นภัย น้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินไหว สึนามิ พายุ ฯลฯ


หวังว่าจากนี้จะมิใช่แค่พูดให้ดูดี…ได้แต่พูด? หรือแค่เตือนได้…ที่เอาเข้าจริงก็ได้แต่เตือน? ขณะเดียวกันก็น่าจะทำให้เห็นถึง “สัจธรรม” น่าจะทำให้คนไทยทุกๆ ส่วน “มีสติ-สำนึกรู้”


ทั้งนี้ “ธรรมชาติ” ยามที่เกิดเป็น ภัย”นั้น ลึกๆ แล้วก็สะท้อนในเชิง ธรรมะ”ด้วย ซึ่งกับเรื่องนี้ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือท่าน ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย แสดงทรรศนะไว้ว่า…บ่อยครั้งที่เกิดวิกฤติต่างๆ มนุษย์ได้รับความวิบัติวอดวายมากมาย ทั้งๆ ที่มีหลายสิ่งหลายอย่างเคยเกิดขึ้นแล้ว แต่มนุษย์ก็ดูเหมือนไม่รู้จักสรุปบทเรียน เพราะลึกๆ แล้วมนุษย์เชื่อมั่นว่าตนเองสามารถบริหารจัดการโลกใบนี้ได้ ซึ่ง…เป็นฐานคิดแห่งความประมาท เป็นทรรศนะที่ผิด


มนุษย์เชื่อกันว่าตัวเองเป็นนาย ผู้ถืออาญาสิทธิ์เหนือโลกและสิ่งแวดล้อม มนุษย์เชื่อกันว่ามีสิทธิที่จะช่วงใช้โลกนี้อย่างไรก็ได้ตามใจฉัน มนุษย์หลงตัวเองเชื่อมั่นว่าจะสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ซึ่งเรียกว่า มิจฉาทิฐิต่อโลก และส่งผลให้เกิด มิจฉาปฏิบัติ คือ อยู่กับโลกด้วยท่าทีที่เป็นศัตรู มองว่าโลกนี้ รวมทั้งทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ และประมาท เชื่อว่าสามารถจัดการกับธรรมชาติได้ เชื่อว่าสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติได้โดยสิ่งหนึ่งที่ตามมาจากความเชื่อมั่นผิดๆ ก็คือ อหังการจากผลลัพธ์ที่ยับเยินหลังเผชิญภัยธรรมชาติ ซึ่งมีบทเรียนสำคัญเกิดขึ้นให้เห็นชัดเจนมากมายในระยะนี้ ทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย


ท่าน ว.วชิรเมธี ระบุว่า…ถามว่าเราในฐานะของมนุษย์นั้นควรจะเรียนรู้อย่างไร? คำตอบคือ…จริยธรรมสำหรับปฏิบัติ ซึ่งที่ดีที่สุดคือ “การไม่ประมาท” อันได้แก่…


1. อย่าประมาทว่าชีวิตจะยืนยาว แท้ที่จริงแล้วชีวิตมนุษย์ไม่ได้ยืนยาว ชีวิตมนุษย์กินเวลาสั้นมาก เหมือนน้ำค้าง เหมือนฟ้าแลบเหมือนพยับแดด อย่าเชื่อว่า ฉันยังหนุ่ม ฉันยังสาว อายุฉันเพียงแค่เริ่มต้น


2. อย่าประมาทในวัยว่ายังหนุ่มยังสาว ยังไม่ต้องรีบทำอะไรที่เป็นแก่นเป็นสาร กินก่อน เที่ยวก่อน เล่นก่อน ก็ได้


3. อย่าประมาทในสุขภาพ อย่าคิดว่าสุขภาพเรายังแข็งแรงยังทำอะไรได้อีกนาน จนใช้ชีวิตด้วยความสุ่มเสี่ยง ติดอบายมุข


4. อย่าประมาทในเวลา ว่าวันเวลาในชีวิตยังอีกยาวนาน ยังไม่เข้ามัชฌิมวัย ฉันจะอยู่ไปถึงปัจฉิมวัย คนบางคนเกิดมาหลุดจากท้องแม่มาถูกทำแท้งก็มี ยังไม่ทันนับปฐมวัยด้วยซ้ำ ฉะนั้นอย่าประมาท


5. อย่าประมาทในธรรมะ อะไรดีๆ ที่จะต้องทำกลับผัดวันประกันพรุ่ง อย่าประมาท สิ่งใดที่ดีที่ควรทำ ก็ควรที่จะลุกขึ้นมาทำให้ดีที่สุดทันที


6. อย่าประมาทในธรรมชาติ ว่ามนุษย์สามารถบริหารจัดการได้ เพราะธรรมชาติเท่าที่เรารู้จักนั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของธรรมชาติที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น โลกนี้ เอกภพนี้ จักรวาลนี้ มีอะไรมากมายเหลือเกินที่เราไม่ดูไม่รู้ไม่เห็น การมานั่งดูว่าจะจัดการธรรมชาติได้ยังไง นั่นคือประมาทอย่างยิ่ง


และ 7. อย่าประมาทในศักยภาพตนเอง จนเป็นเหตุให้ไม่รู้จักใช้ปัญญาของตนเองเลย ไม่คิดเอง ไม่พูดเอง ไม่ทำเอง พึ่งคนอื่นตลอดเวลา ถ้ามนุษย์ไม่ประมาทในศักยภาพของตนเอง มนุษย์ก็จะสามารถพัฒนาไปเป็นสัมมาพุทธะได้ ทุกคนมีศักยภาพพุทธะอยู่ในตัว ถ้าเราไม่ประมาทเราก็จะกลายเป็นยอดคนได้ในที่สุด



ทั้งนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี ยังเตือนสติไว้อีกว่า…จากบทเรียนจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นมากมายนั้น มนุษย์เรา คนไทยเรา ควรคำนึงถึงคุณธรรมที่ควรจะทำที่สุดในตอนนี้ ซึ่งกล่าวโดยสรุปมี 3 เรื่องหลักๆ คือ


1. รู้เท่าทันธรรมดาของโลกและสิ่งแวดล้อม ว่ามีแง่ดีแง่งามอย่างไร มีคุณอย่างไรและมีโทษอย่างไร 


2. รู้เท่าทันทรรศนะที่ผิดที่มนุษย์มีต่อโลกและธรรมชาติ และปรับเปลี่ยนทรรศนะมาปฏิบัติต่อโลกและธรรมชาติอย่างถูกต้อง 


3. ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท เมื่อดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท เมื่อภัยธรรมชาติมาถึง แม้เสียหาย ก็จะเสียหายน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เตรียมตัว ต้องเตรียมรับมืออยู่เสมอ อย่าคิดว่ามนุษย์สามารถบริหารจัดการธรรมชาติได้ เพราะแท้ที่จริงธรรมชาติมีความลึกลับซับซ้อนมากกว่าที่มนุษย์รู้จักมากมายนัก


อย่าเผชิญกับสถานการณ์เพียงแค่แสดงความเสียใจ” “ตื่นสักที หนึ่งคนตายก็ต้องให้ล้านคนตื่น นอกจากจะเสียใจแล้ว ต้องทำความเข้าใจ เมื่อเราทำความเข้าใจแล้ว เราจะได้เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา และนั่นคือทางออกที่เราควรประพฤติปฏิบัติในเวลานี้”…ท่าน ว.วชิรเมธี ระบุทิ้งท้ายไว้


“ภัยธรรมชาติพิโรธ”…ก็หวังว่าคนไทยโดยรวมจะตื่น มิใช่แค่ตื่นภัย…แต่เข้าใจธรรมชาติ “ตื่นด้วยธรรม!!”


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code