พิการกาย แต่ใจสู้
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ภาพประกอบข่าวจากแฟ้มภาพ
การจ้างงาน คืนคุณค่าความเป็นคนให้กับผู้พิการ คนพิการใช่ว่าจะไร้ความสามารถหรือไร้สมรรถภาพเสมอไป แค่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมประจำวันบางอย่าง แต่บางกิจกรรมพวกเขาเหล่านี้ก็มีศักยภาพที่เหนือกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) พบว่า คนพิการที่มีงานทำส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ประมง และป่าไม้ และมีธุรกิจเป็นของตนเอง ทว่าส่วนใหญ่ยังมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าคนทั่วไป ขณะที่คนพิการ วัยแรงงานที่มีศักยภาพอีกกว่า 3 แสนคน ยังไม่มีงานทำ และมีรายได้จากเบี้ยยังชีพเดือนละ 800 บาทเท่านั้น
อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการที่วางเป้าหมายในการจ้างงานให้ได้ถึง 1 หมื่นอัตรา ในปี 2559 นี้ ว่า
"สถานการณ์เป็นอย่างนี้คือเอกชนอยู่ภายใต้กฎหมายที่ต้องจ้างคนพิการตามที่กำหนดไว้คือ พนักงาน 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน ปัญหาที่ผ่านมาคือสถานประกอบการพยายามที่จะจ้างคนพิการในบริษัทหรือในโรงงานของตัวเอง แต่หาจ้างได้ไม่ครบ เพราะทั้งระบบมีอัตราจ้าง 5.5 หมื่นคน แต่มาจ้างได้จริง ส่งเสริมอาชีพได้จริงแค่ 3.5 หมื่นอัตรา กฎหมายบอกว่าถ้าจ้างไม่ได้ก็ต้องส่งเงินเข้ากองทุน หัวละ 109,500 บาท เพราะฉะนั้นทุกปีภาคธุรกิจจ้างไม่ได้ 2 หมื่นอัตรา รวมกันเท่ากับมีเงินส่งเข้ากองทุน 2,000 กว่าล้านบาท ในขณะเดียวกันคนพิการ 2 หมื่นกว่าคนก็พลาดโอกาสที่จะมีงานทำ"
พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 (มีการแก้ไขเพิ่มเมื่อ พ.ศ. 2556) มาตรา 33 ระบุให้สถานประกอบการจ้างคนพิการเข้าทำงานตามอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยกฎกระทรวงแรงงานได้มีการกำหนดอัตราส่วนคนพิการ 1 คน/พนักงาน 100 คน ซึ่งนายจ้างที่ทำตามวิธีนี้มีสิทธินำค่าจ้างคนพิการมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของ ค่าใช้จ่ายจริง
มาตรา 34 ระบุว่า หากไม่มีการจ้างคนพิการก็ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแทน ซึ่งหากเลือกวิธีนี้ก็เท่ากับนายจ้างจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนวันละ 300 บาท หรือคิดเป็น 109,500 บาท/ลูกจ้างคนพิการ 1 คน/ปี และถ้าจ่ายช้าก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ของจำนวนเงินที่ไม่ได้ส่งเข้ากองทุน แต่ข้อดีก็คือสามารถนำเงินที่จ่ายเข้า กองทุนฯ มาหักเป็นรายจ่ายได้ 1 เท่าของ ค่าใช้จ่ายจริง
มาตรา 35 มีไว้สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการจ้างคนพิการเข้าทำงานและไม่ประสงค์จะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ก็สามารถใช้วิธีให้สัมปทานแทน ด้วยการจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน จ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้ โดยมีระยะเวลาการให้สัมปทานไม่น้อยกว่า 1 ปี แต่วิธีนี้จะไม่ได้รับการยกเว้นทางภาษี
มาตรา 36 เป็นการบังคับให้นายจ้างต้องเลือกสักวิธีใน 3 มาตราแรก หากไม่ยอมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ มีสิทธิอายัดทรัพย์สินของนายจ้างจำนวนเท่ากับที่ค้างส่งกองทุนฯ
มาตรา 37 เป็นการจูงใจให้นายจ้างจัดสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงให้แก่คนพิการ เช่น การสร้างอาคาร หรือยานพาหนะ ถ้าทำก็มีสิทธินำค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปลดหย่อนภาษีในปีนั้นๆ ได้
มาตรา 38 ระบุว่า นายจ้างที่จ้างคนพิการเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของพนักงาน ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน มีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีในปีนั้น หรือไม่ก็สามารถนำค่าจ้างคนพิการมาหักเป็นรายจ่ายได้ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง
ผลพวงกฎหมายฉบับนี้ ทำให้มีการตื่นตัวในการจ้างงานผู้พิการในสังคมไทยมากขึ้น ซึ่ง อภิชาติ บอกถึงข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ว่า
"ถ้าเรามาดูกันจริงๆ ว่าคนพิการในเมืองไทยมีตั้งเยอะแยะ ทำไมหามาจ้างงานไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่คนพิการ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากเกือบ 90% ของคนพิการมีข้อจำกัดในเรื่องโอกาสทางการศึกษา จะจบเพียงชั้นประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ซึ่งการจะเข้าไปทำงานในสถานประกอบการต่างๆ ก็ยาก ในขณะเดียวกันคนพิการส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดหรือชนบท ซึ่งอยู่นอกเขตเมือง ไม่ใช่แหล่งงาน ซึ่ง 90% ของคนพิการเป็นแบบนั้น สถานการณ์จึงเป็นคนพิการจำนวนมากอยากมีงานทำ แต่บริษัทจ้างไม่ได้เพราะว่ามีคุณสมบัติไม่ตรงกัน ทางมูลนิธินวัตกรรมเพื่อสังคมก็เลยเสนอแนวทางใหม่ว่า เมื่อสถานการณ์ของผู้พิการในเมืองไทยเป็นเช่นนี้ แทนที่จะทำตามความต้องการของผู้ประกอบการหรือผู้จ้างงาน ไหนๆ จ้างเข้ามาไม่ได้เพราะคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการ ต้องนำเงินเข้ากองทุนอยู่แล้ว ก็มีการเสนอว่าเอาเงินก้อนเดียวกันนี้มาชวนให้บริษัทไปจ้างคนพิการที่อยู่ในภูมิลำเนาไหนให้ทำงานตามภูมิลำเนาของตัวเอง แต่เป็นงานที่เป็นประโยชน์กับสังคม เช่น ไปทำงานให้กับโรงพยาบาลตำบล โรงเรียน อบต. ซึ่งเขามีการศึกษาชั้นประถมฯ ก็ทำได้ เป็นแรงงานไร้ฝีมืออย่างเป็น เจ้าหน้าที่ช่วยวัดความดันในโรงพยาบาลตำบล ซึ่งทำได้อยู่แล้ว เป็นเจ้าหน้าที่ต้อนรับ คอยไปดูภูมิทัศน์โดยรอบอาคาร ช่วยดูแลเรื่องความสะอาด ไปเป็นผู้ช่วยครู ไปเป็นช่าง แล้วแต่เขามีทักษะด้านอะไร ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้การศึกษาที่สูง แล้วไม่ต้องเดินทางจากภูมิลำเนาเพราะทำงานในชุมชนตัวเอง
"เพราะฉะนั้น หน่วยงานที่มีประโยชน์สาธารณะอยู่ทั่วประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสาธารณสุขและการศึกษา เพียงแต่ว่าพอเข้าไปทำงานเหล่านี้แล้วก็ต้องมีคนจ่ายเงินค่าจ้าง ก็มีการเชิญชวนบริษัทมาจ่ายเงินค่าจ้างให้ก็แล้วกัน ไหนๆ เป็นเงินก้อนเดียวกัน จ้างงานตามอัตราปกติไม่ได้ก็มาจ้างแบบนี้ แทนที่จะเอาเงินใส่กองทุน ก็นำมาจ้างคนพิการโดยตรงเลย ให้มาทำงานที่เป็นประโยชน์สาธารณะในชุมชน นี่คือที่มาของการที่จะมาจ้างงานเป็น 1 หมื่นอัตรา เพราะคนพิการได้ทำงานอยู่ในภูมิลำเนาเขา"
เมื่อการจ้างเกิดขึ้นแล้วตามเป้า 1 หมื่นอัตรา ในปี 2559 ช่วงปี 2560 อภิชาติ บอกถึงแผนงานอนาคตว่า จะมีการพัฒนายกระดับคนพิการที่ได้โอกาสได้ทำประโยชน์ได้เต็มที่มากขึ้น ช่วยเสริมศักยภาพของผู้พิการในพื้นที่
"จะช่วยเปลี่ยนสังคมได้เยอะ ซึ่งคนพิการจะเป็นกำลังสำคัญในส่วนนี้ได้ ช่วยยกระดับคนพิการในชุมชนหรือพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องในอนาคต หาทางให้เขาเอาศักยภาพที่มีออกมาส่งผลให้เต็มที่กับสังคม ทำให้เกิดความภูมิใจว่าเขาเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของสังคมและพึ่งพาตัวเองได้ด้วย เมืองไทยเป็นสังคมชนบทเยอะ แต่ถ้าพูดถึงประเทศขนาดใหญ่ด้วยกันในอาเซียน คิดว่าทั้งกฎหมายคนพิการ การจ้างงานคนพิการ บ้านเรามีความก้าวหน้าและล้ำหน้ากว่าคนอื่นมาก ยิ่งเรื่องการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม การส่งเสริมอาชีพคนพิการเชิงสังคมขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง พูดง่ายๆ ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในเรื่องการเปิดโอกาสให้คนพิการสามารถพึ่งพาตัวเองได้มาก สามารถเป็นต้นแบบให้หลายๆ ประเทศได้ศึกษาและดูว่าจะนำไปปรับใช้ในประเทศของเขาได้บ้าง"
ความคาดหวังที่อภิชาติมีต่อผู้พิการก็คือ ไม่อยากให้คนพิการในเมืองไทยนิ่งนอนใจ เมื่อโอกาสมาถึงและเปิดกว้างแล้วให้รีบไขว่คว้าไว้และพัฒนาตัวเองในการทำงานให้ดีที่สุด
"สำหรับคนพิการในเมืองไทย คิดว่าตอนนี้โอกาสและการสนับสนุนกำลังมาถึงแล้ว เพราะฉะนั้นคนพิการมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตัวเองเพื่อรับโอกาสนี้ในการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ในขณะเดียวกันในภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจที่ทำจุดนี้ให้เกิดขึ้นเพราะกฎหมายบังคับให้ปฏิบัติ แต่ว่าปีหน้าจังหวะจะก้าวเลยไปจากนี้ เพราะจะก้าวพ้นไปจากการที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำแล้ว ซึ่งภาคธุรกิจจะรู้สึกว่าการทำอย่างนี้มีประโยชน์มีคุณค่ากับสังคม ซึ่งจะไปไกลกว่า กลายเป็นความเอื้ออาทรต่อกันในสังคมไทยที่เห็นว่าคนพิการต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อให้มีที่อยู่ที่ยืน มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับคนทั่วไปในสังคม"