พาลูกไปโรงเรียนแบบไหนช่วยลดเสี่ยงฝุ่น
ที่มา : MGR Online
แฟ้มภาพ
สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แม้ค่าฝุ่นจะยังขึ้นๆ ลงๆ ในแต่ละวัน โดยบางจุดก็สูงลิ่ว บางจุดก็ปกติ แต่ประเด็นสำคัญ คือ ค่าฝุ่นมักสูงปรี๊ดในช่วงเช้าตรู่ แล้วเหล่าหนูๆ ที่ต้องไปโรงเรียน เพราะราชการระบุว่า ยังไม่วิกฤตถึงขั้นต้องปิดโรงเรียน พ่อแม่ก็ต้องกัดฟันพาลูกฝ่ามรสุมฝุ่นไปเรียน
คำถาม คือ แล้วจะพาลูกไปเรียนอย่างไรให้ปลอดหรือลดความเสี่ยงในการสัมผัสฝุ่น เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพของลูกน้อย ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังไม่แข็งแรงเท่าบุคคลทั่วๆ ไป
ประเด็นนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย มีคำตอบ โดยระบุว่า ช่วงนี้อยู่ระหว่างการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง รวมไปถึงโรงเรียน เพื่อให้รับมือกับสถานการร์ฝุ่นได้อย่างถูกต้อง ลดผลกระทบทางสุขภาพให้ได้มากที่สุด ซึ่งมีข้อแนะนำ ดังนี้
1.เช็กค่าฝุ่นละอองในทุกเช้า
ในทุกเช้าก่อนพาลูกไปโรงเรียนหรือให้ลูกไปโรงเรียนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองควรเช็กสภาพอากาศว่า พื้นที่ที่เราอาศัย พื้นที่ของโรงเรียน และเส้นทางในการเดินทาง ค่าฝุ่นละอองอยุ่ในดับใด เกินค่ามาตรฐานหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากกรมควบคุมมลพิษ เช่น แอปพลิเคชัน Air4Thai เป็นต้น
2.งดกิจกรรมนอกสถานที่
หากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน คือ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม) หรือเป็นพื้นที่สีส้ม และหากเกิน 90 มคก./ลบ.ม. หรือเป็นพื้นที่สีแดง ควรงดกิจกรรมภายนอกสถานที่หรือกิจกรรมกลางแจ้ง จนกว่าค่าฝุ่นจะเป็นปกติ
3.ลดเวลาหรือใช้อุปกรณ์ป้องกัน
หากจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปโรงเรียนโดยผ่านพื้นที่ที่มีฝุ่นสูง อาจเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัย เส้นทางระหว่างเดินทาง หรือโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ค่าฝุ่นสูง อาจลดระยะเวลาการสัมผัสฝุ่นลง เช่น จากเดิมเดินไปโรงเรียนที่ใช้เวลานาน อาจปรับมาเป็นใช้รถสาธารณะที่มีความรวดเร็วในการเดินทางเพิ่มขึ้น เพื่อลดเวลาในการสัมผัสฝุ่น
นอกจากนี้ ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน ซึ่งหลักๆ คือ หน้ากากชนิด N95 ซึ่งสามารถสวมใส่ระหว่างเดินทางไปโรงเรียนได้ เพราะใช้เวลาไม่นาน โดยหน้ากาก N95 ก็มีไซส์เล็กสำหรับเด็กด้วย แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กมากจะไม่สามารถสวมหน้ากาก N95 ได้ สามารถเลือกใช้หน้ากากอนามัยธรรมดา แต่ต้องคาดสายรัดให้แน่นมากขึ้น เพื่อให้กระชับ ลดการสัมผัสฝุ่นละออง ซึ่งการสวมทับสองชั้นก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน และเมื่อเดินทางถึงโรงเรียนอยู่ภายในอาคารปิด ก็สามารถถอดออกได้
เช่นเดียวกัน ในช่วงเวลากลับบ้านก็อาศัยหลักเดียวกัน คือ ลดเวลาในการอยู่กลางแจ้ง และกลับถึงบ้านโดยเร็วที่สุด พร้อมสวมอุปกรณ์ป้องกัน
แม้ผู้ปกครองจะมีมาตรการช่วยให้ลูกๆ ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แต่จะลดการสัมผัสฝุ่นให้ได้นั้น พญ.พรรณพิมล ระบุว่า โรงเรียนหรือสถานศึกษาจำเป็นที่จะต้องเข้าใจและมีส่วนร่วมในการช่วยให้เด็กลดการสัมผัสฝุ่นละอองด้วย
โรงเรียนจะต้องมีการตรวจสอบค่าฝุ่นละออง PM2.5 ด้วย หากพบว่า ค่าเกินมาตรฐาน อาจปรับกิจกรรมต่างๆ ของการเรียนการสอน เพื่อไม่ให้เด็กต้องออกมาเผชิญกับฝุ่นกลางแจ้ง เช่น อาจปรับเปลี่ยนการเรียนอยู่ภายในห้องแทน หรือเปลี่ยนการเข้าแถมเคารพธงชาติมาเป้นหน้าห้อง วึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละโรงเรียนด้วย ส่วนโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ก็อาจดำเนินการเรียนการสอนไปตามปกติได้
ชขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอว่า หากค่าฝุ่นละอองในตอนเช้าสูงมากจริงๆ และสูงเกินกว่ามาตรฐาน โรงเรียนอาจพิจารณาปรับเลื่อนเวลาในการเข้าเรียน เป็นช่วงที่ค่าฝุ่นลดลงจนไม่เกินค่ามาตรฐานหรือไม่ เพื่อเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นละออง ซึ่งหากโรงเรียนมีมาตรการและคำสั่งชัดเจน ผู้ปกครองและนักเรียนก็พร้อมปรับตัวรับมือตาม แต่หากโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละอองสูง แต่ไม่ดำเนินการทำอะไร เด็กและผู้ปกครองก็ต้องมาโรงเรียนในช่วงเวลาที่ต้องเจอฝุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำได้แค่เพียงป้องกันตัวเองโดยการใช้อุปกรณ์ป้องกัน