พาน้องดำน้ำศึกษาโลกใต้ทะเล

สร้างความเข้าใจสู่ความหวงแหน

 

พาน้องดำน้ำศึกษาโลกใต้ทะเล

          นับเป็นปีที่ 8 แล้ว ที่แต่ละปีจะมีเยาวชนประมาณ 30 คนจากทั่วประเทศได้รับการคัดเลือกจากการประกวดเขียนเรียงความเกี่ยวกับทะเล ผ่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการเยาวชนสัมผัสชีวิตใต้ท้องทะเลไทย เพื่อเรียนรู้วิธีการดำน้ำลึก (scuba) ซึ่งจะเป็นบันไดสำคัญให้เยาวชนกลุ่มนี้มีโอกาสเดินทางไปสัมผัสกับโลกใต้ทะเลอย่างใกล้ชิด และในปีนี้ได้จัดสอนการดำน้ำแก่เยาวชน ที่ชนะการประกวด ณ เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี

 

          “ศรันต์ กิตติวัณณะกุล” ประธานมูลนิธิเพื่อทะเล บอกว่า การเรียนรู้วิธีดำน้ำลึก ถือเป็นกิจกรรมหลักของโครงการ แต่วัตถุประสงค์แท้จริงคือต้องการให้เยาวชนเรียนรู้และเข้าใจ “ทะเล” มากขึ้น การให้ความรู้เสริมจึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ตั้งแต่ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารใต้ทะเล ปลาและสัตว์ทะเลต่าง ๆ ไปจนถึงปัญหาจากเงื้อมมือมนุษย์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทะเลในทุกวันนี้ โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน

 

          ใครจะรู้บ้างว่าการทำประมงโดยจับปลาเก๋ามากๆ เป็นการตัดห่วงโซ่อาหารของปลาใหญ่อย่างฉลาม ทำให้พวกมันจำต้องเข้ามาหาอาหารในพื้นที่ชายฝั่งมากขึ้น จนเป็นอันตรายต่อมนุษย์ หรือแม้แต่การปล่อยเต่าทะเลก็ต้องปล่อยบนหาดทรายก่อนถึงน้ำทะเล เพราะเต่าจะมีสัญชาตญาณพิเศษในการจดจำกลิ่นทรายและน้ำทะเลแรกได้ ความทรงจำพิเศษนี้จะทำให้เต่ากลับมาวางไข่ในผืนน้ำและผืนทรายที่เคยให้กำเนิด

 

          “เด็ก ๆ ที่ผ่านโครงการนี้ไปย่อมต้องไปบอกต่อ ขยายผลต่อให้คนอื่นๆ ฟัง บางคนมีโอกาสไปเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล การประมง หรือสัตวแพทย์ที่เกี่ยวกับสัตว์น้ำ ก็ถือเป็นผลพลอยได้ แต่เชื่อว่าความรักทะเลจะไม่หายไป ทุกวันนี้เรายังมีกิจกรรมอยู่เรื่อยๆ เกือบทุกเดือน ปลูกป่าชายเลน ปล่อยหอยมือเสือ และบ่อยครั้งที่ครูสอนดำน้ำเรี่ยไรเงินกันเองเพื่อเป็นค่าเช่าเรือแล้วก็ชวนเด็กๆ ที่เคยร่วมโครงการ ลงไปช่วยกันเก็บขยะใต้ทะเล รวมถึงการตัดอวนและแหที่ตกลงไปคลุมปะการัง งานตรงนี้ไม่มีค่าตอบแทน มีแต่ความสุขใจที่ได้มาดำน้ำ มาทำสิ่งที่ พวกเรารัก”

 

          โครงการนี้ต้องใช้งบประมาณ 7-8 แสนบาท/ปี ซึ่งมีผู้ในการสนับสนุนอย่างเต็มใจ โดยปีนี้มีทั้งกลุ่มสิทธิผล we care,บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด, บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

          ศรันต์บอกอีกว่า เวลา 8 ปีของโครงการเริ่มปรากฏให้เห็นผลตอบรับที่ชัดเจนขึ้น ทั้งในด้านการจัดโครงการที่มีพี่ๆ ในรุ่นก่อนหน้านี้สมัครใจกลับมาเป็น พี่เลี้ยงให้กับน้องๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางมูลนิธิ เพิ่งเจอไข่เต่าตนุ 2 กองบนเกาะเต่า รวมกว่า 200 ฟอง จึงเป็นสัญญาณของความสำเร็จในการขยายพันธุ์สัตว์ทะเล และถึงวันนี้เต่าตนุอีกหลายชีวิตจากกองไข่เต่านี้ได้ฟักและผ่านการอนุบาล จนโตพอ และมีเยาวชนในโครงการรุ่นที่ 8 เป็นผู้พาพวกมันกลับสู่ทะเลอีกครั้ง โดยไม่ลืมที่จะสูดกลิ่นผืนทรายและน้ำทะเลที่ชายหาดเกาะเต่าเอาไว้เช่นกัน

 

          “สมหญิงณัฐ แก้วลำหัด” หนึ่งในตัวแทนเยาวชนจาก จ.นครศรีธรรมราช ที่เข้าร่วมโครงการปีนี้บอกว่า นอกจากความรู้เรื่องการดำน้ำลึกและมิตรภาพแล้ว เธอยังได้เห็นทะเลในอีกมุมที่ต่างออกไป โดยเฉพาะโลกใต้ทะเลที่งดงาม แม้วันนี้จะเริ่มมีความสกปรกรุกรานเข้ามามากขึ้นแล้ว แต่ก็เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าเหล่านี้ไว้และเธออยากกลับไปแนะนำน้องๆ ที่รู้จักให้สมัครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้บ้างเพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เช่นเดียวกัน

 

          แม้ความพยายามในการอนุรักษ์โลกใต้ทะเลในเวลานี้จะไม่ได้ทำให้คุณภาพของทะเลไทยฟื้นคืนคุณภาพกลับมาได้ในทันที แต่เพียงการชะลอปัญหาและลดผลกระทบให้เหลือน้อยลงที่สุด โครงการเหล่านี้ก็ยังเป็นความหวัง ที่จะฝากให้เยาวชนดูแล ต่อไป เริ่มจากการปลูกฝังให้รู้จักและเข้าใจธรรมชาติของทะเล จนเกิดความรักและหวงแหนในที่สุด

 

 

 

 

 

ที่มาข่าว/ภาพ: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

update: 11-05-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

 

Shares:
QR Code :
QR Code