พัทยา ขานรับ ท่องเที่ยวแนวใหม่
ไร้อุปสรรคสำหรับทุกคน
หลังจากเสียความรู้สึกกับการที่ผู้อาวุโสที่บ้านไปเที่ยวชมเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก แล้วพบว่าสถานที่กลับไม่เอื้อต่อคนสูงวัยเท่าใดนัก เอาแค่ ห้องสุขา ที่จุดตั้งร้านค้า ท้ายเขื่อน ก้าวเท้าแรกเข้าไป ก็ต้องเปลี่ยนใจหันหลังกลับ
มุมนี้สำหรับทุกคนมาเก็บภาพพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์.
ดังนั้น ทันทีที่ได้รับคำเชิญจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมืองพัทยา และสำนักงานองค์การคนพิการสากล ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จัดกิจกรรมสำรวจเส้นทาง ท่องเที่ยวแนวใหม่ ที่ปราศจากอุปสรรคสำหรับคนทั้งมวล ในเส้นทางกรุงเทพฯ-ชลบุรี โดยมีกลุ่มนักท่องเที่ยวคนพิการ ผู้สูงอายุ และครอบครัว เข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะของการแข่งแรลลี่ เลยต้องขอมาร่วมทริปสังเกตการณ์ดูหน่อย เผื่อวันหน้าฟ้าใสอาจได้นำท่าน ส.ว. (สูงวัย) ใกล้ตัวไปเที่ยวอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่เที่ยวที่ไม่ไกลบ้านด้วย
ถึงสภาพกายจะไม่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวแต่ใจอยากจะเที่ยวซะอย่าง…ไร้ปัญหา.
ไม่ว่าวัยใดก็มาร่วมทริปแบบนี้ได้.
จากจุดเริ่มต้นที่กลุ่มแรลลี่ออกตัวจากสนามศุภชลาศัย กทม.ขึ้นทางด่วนมุ่งหน้าบางแสน แต่ก่อนจะได้สูดอากาศริมทะเล คณะแวะปั๊ม ปตท. (เจ็ทเดิม) ระหว่างทาง ตามประสาคนที่เดินทางมาได้ระยะหนึ่ง ก็ย่อมต้องการแวะเหยียดแข้งเหยียดขา หาของรองท้อง รวมถึงทำธุระส่วนตัวกันบ้างเป็นธรรมดา
แม้ต้องเป็นมนุษย์ล้อ แต่ก็เล่นบาสได้คล่องตัว.
และเป็นความตั้งใจของผู้จัด ที่ต้องการให้มาสำรวจจุดพักระหว่างทางว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานเหมาะกับคนทุกวัยจริงหรือไม่ ซึ่งไม่ต้องดูไกลเอาแค่ “ห้องสุขา” ปั๊มแห่งนี้ถือว่าสอบผ่านในแง่ที่มี “ตัวช่วย” สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ เพราะนอกจากสร้างได้เหมาะกับการใช้งานของคน 2 กลุ่ม (รวมไปถึงสตรีมีครรภ์) ที่เข้ามาใช้ได้อย่างอุ่นใจแล้ว ยังมีอุปกรณ์เสริมเพื่อความปลอดภัยคือปุ่มสัญญาณไฟฉุกเฉิน ทำให้คนภายนอกรู้ได้หากมีกรณีฉุกเฉิน หรือเกิดเหตุการณ์ผิดปกติกับคนที่อยู่ข้างใน
อีกมุมของไร่องุ่นที่มีพร้อมทั้งสวนสวย ภูเขาและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่.
จากปั๊มน้ำมันก็ไปต่อจนถึงหาดวอนนภา แล้วมุ่งหน้าสู่เขาชีจรรย์ ที่โดดเด่นกับพระพุทธรูปแกะสลักด้วยแสงเลเซอร์บนหน้าผาและที่จุดนี้ยังมีสวนกว้างให้นั่งพักแบบใครใคร่ไปทำกิจกรรมเล่นเกมก็ได้ ใครใคร่อยากนั่งพักก็เชิญที่ศาลา ซึ่งทำให้พอมีเวลาสนทนากับ คุณยายหนู วัย 73 ปี ว่ามาพร้อมกับคนที่บ้าน คือลูก 2 สามีและหลานๆ ก็ตามวิสัยผู้สูงวัยที่นิยมเอนหลังพักผ่อนในช่วงบ่าย และมักปวดเมื่อยขายามเดินมากไปหน่อย แต่การได้มาเที่ยวกันพร้อมหน้าลูกๆหลานๆแบบนี้ ก็ยังสร้างรอยยิ้มให้คุณยายหนูได้เมื่อเห็นหลานสาวสนุกไปกับการเล่นเกมกับผู้ร่วมทางรายอื่น
ยามโพล้เพล้ของทะเลพัทยาที่ยังเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์.
จุดสุดท้ายของการเดินทางวันแรกคือไร่องุ่นซิลเวอร์ เลค ที่ต้นองุ่นเริ่มให้ดอกออกผลมาบ้างแล้วและอนาคตอาจกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของพัทยา เพราะเป็นจุดที่วิวครบสูตรสำหรับคนชอบถ่ายภาพ คือมีทั้งภูเขา ผืนน้ำและสวนไม้ดอก แล้วยังอยู่ริมถนนอีกต่างหาก
เมื่อเข้าสู่เมืองพัทยา แม้ยามราตรีจะยังอุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่น่าดีใจที่ทางเทศบาลเมืองพัทยาเริ่มเห็นความสำคัญของนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงวัยและกลุ่มใช้ล้อแทนขา ด้วยการปรับปรุงทางเดินเลียบหาดตลอดสาย ให้มีทางลาดเป็นระยะ รองรับกลุ่มนั่งรถวีลแชร์ สามารถเข้าไปสัมผัสหาดทรายได้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งที่พักบางแห่งก็เริ่มปรับปรุงห้องพักให้มีข้าวของเครื่องใช้ที่เอื้อต่อกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น เช่น ห้องน้ำที่มีที่นั่งสูงกำลังดีไว้นั่งอาบแทนลงอ่าง มีราวจับป้องกันการล้ม ฯลฯ
ไร่องุ่นริมทางที่กำลังกลายเป็นจุดขายใหม่ อีกแห่งของเมืองพัทยา.
รวมความแล้วถือว่าเป็นเรื่องดี หากผู้ประกอบการและผู้ดูแลแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จะหันมาใส่ใจกับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องการมาพักฟื้นและคนที่อาจต้องใช้ล้อแทนขา เพราะเท่าที่คุยกันในหมู่ผู้ร่วมคณะ ต่างบอกตรงกันดีนะว่า ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคในการท่องเที่ยวเลย หากทุกอย่างอยู่ที่ ใจ เราเองเป็นที่ตั้ง
ยิ่งเมื่อใดที่ผู้ประกอบการในแหล่งท่องเที่ยวมีความพร้อม ทั้งเครื่องอำนวยความสะดวกพื้นฐานและบุคลากรแล้ว ก็เหลือแค่ตัวผู้เที่ยวนั่นแหละ ที่จะตัดสินใจ
เพราะหากใจพร้อม กายยังไหว ก็เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า ออกจากบ้านมาเดินทางท่องเที่ยวกันเต๊อะ.
ที่มา/ภาพ: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
update: 28-09-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย