พัฒนา ‘เด็กไทย’ อ่านออกเขียนได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์
เพราะการอ่านออกเขียนได้เป็นบันไดขั้นแรกสู่การเรียนรู้ต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่จะมีสุขภาวะที่ดี
ทว่า…เด็กไทยในวันนี้ที่ยัง "อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้" ก็มีเยอะ ส่วนที่อ่านแล้วจับใจความไม่ได้ก็มีอีกแยะ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 9 แห่ง ดำเนินโครงการ "สานพลังเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้และความรอบรู้ด้านสุขภาวะ" ซึ่งมีพิธีลงนามความร่วมมือ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 3 โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ กรุงเทพฯ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การอ่านออกเขียนได้เป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญ แต่จากสถานการณ์การอ่านของเด็กและเยาวชนไทย ปัจจุบันยังคงน่าเป็นห่วง จากการประเมิน PISA ปี 2015 พบว่า นักเรียนไทยอายุ 15 ปี ร้อยละ 83 สอบตกวิชาการอ่าน ซึ่งจุดอ่อนด้านนี้ยังสัมพันธ์กับการอ่อนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ของการประเมิน PISA อีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบความเหลื่อมล้ำที่ทักษะการอ่านระหว่างนักเรียนจากพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีคะแนนสูงกว่านักเรียนพื้นที่อื่นๆ โดยห่างจากภาคที่มีคะแนนต่ำสุดคือภาคอีสานตอนล่างมากกว่าครึ่งระดับ หรือเท่ากับการเรียนรู้ที่ต่างกันเกือบหนึ่งปี
"ท่ามกลางสังคมสูงวัยที่คนรุ่นใหม่ต้องแบกรับ ก็อาจประสบปัญหาทั้งกับครอบครัวตนเองและประเทศชาติต่อไป เราจึงมีโครงการดังกล่าว แม้จะเริ่มจากโรงเรียนจำนวนเล็กๆ แต่ก็หวังสร้างเป็นแรงกระเพื่อมสู่ 40,000 กว่าโรงเรียนทั่วประเทศ" ดร.สุปรีดากล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นนามพระราชทานจากในหลวง ร.9 แปลว่า คนของพระราชาเป้าหมายของเราคือเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และเราตระหนักถึงความสำคัญการอ่านเขียนของเด็กในชุมชน
"ล่าสุด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งผ่าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ที่ดูแลด้านการศึกษาว่า อยากเห็น มรภ.มีเป้าหมายชัดเจน 4 ด้าน คือ 1.การพัฒนาท้องถิ่นชัดเจน 2.การพัฒนาครู 3.การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและความเป็นอยู่ของประชาชน 4.การบริหารจัดการที่ดี สร้างคุณภาพที่ดีกับชุมชน ฉะนั้น เราจะร่วมดำเนินโครงการนี้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสนองพระราโชบายของทั้ง 2 พระองค์" ผศ.ดร.เรืองเดชกล่าว
สำหรับโครงการนี้ได้ มรภ. 9 แห่งมาร่วม ประกอบด้วย ลำปาง, อุตรดิตถ์, เลย, พิบูลสงคราม, มหาสารคาม, พระนคร, เพชรบุรี, สุราษฎร์ธานี และยะลา มีเป้าหมายยกระดับการอ่านออกเขียนได้ใน 200 โรงเรียน ครอบคลุม 50 ตำบล 4 แขวงทั่วประเทศ ด้วยการจัดทำระบบกลไกและฐานข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา จากนั้นจัดทำหลักสูตรพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ พัฒนาสื่อ กิจกรรมการเรียนรู้ และเครื่องมือประเมินผล ภายใต้กรอบเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ถึงมกราคม 2562
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามี มรภ. 2 แห่ง ที่ดำเนินโครงการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ให้โรงเรียนในชุมชนท้องถิ่นจนประสบความสำเร็จ
ผศ.ดร.เกสรี ลัดเลีย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มรภ.ยะลา กล่าวว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาการอ่านออกเขียนได้ของเด็ก เพราะเด็กส่วนหนึ่งเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นคือภาษามลายูปัตตานีมาตั้งแต่กำเนิด แล้วมาเรียนรู้ภาษาไทยภายหลังเมื่อเข้าโรงเรียน ซึ่งพอภาษาท้องถิ่นไม่แข็งแรง ก็ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ภาษาไทย ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานพยายามแก้ปัญหา มรภ.ยะลาก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยใช้วิธีคือ พัฒนาศักยภาพผู้ปกครองให้ใช้หนังสือในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ใช้วรรณกรรมเป็นฐานส่งเสริมความสามารถด้านภาษา ก็ได้ผลแตกต่างกันไปตามลักษณะโรงเรียน ทั้งนี้ สำหรับโครงการนี้จะสร้างความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบต. 7 แห่ง ซึ่งดูแล 23 โรงเรียน ในการเป็นกลไกระดับพื้นที่ ที่จะช่วยกันหานวัตกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนรู้ต่างๆ ในแบบทวิภาษา และวรรณกรรมเป็นฐาน มาจัดกิจกรรมฝึกทักษะเรียนรู้ให้เด็ก รวมถึงผู้ปกครองให้มาช่วยกัน ซึ่งตนเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
"เชื่อว่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้เด็กอ่านออกเขียนได้อยู่มาก เพียงแต่ที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ จึงค่อนข้างกระจัดกระจาย ฉะนั้น ครั้งนี้จะนำสื่อนวัตกรรมต่างๆ มาสังเคราะห์ หาที่ดีที่เหมาะสมที่สุด แต่ที่สำคัญคือ การมีคณะทำงานหรือกลไกขับเคลื่อนงาน ที่จะลบความคิดทุกคนว่า เรื่องการอ่านออกเขียนไม่ได้เป็นหน้าที่ของครูภาษาไทย เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงลำพัง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องมาช่วยกัน ซึ่งดิฉันก็คาดหวังว่า อย่างน้อยๆ เด็กจะมีความสุขในการเรียนรู้ มีทัศนคติที่ดีกับภาษาไทย โดยไม่ทิ้งภาษาถิ่นของตัวเอง" ผศ.ดร.เกสรีกล่าว
ขณะที่ ผศ.ณัฐา วิพลชัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาบุคลากร และอาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย มรภ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เราเตรียมลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับโรงเรียน ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ อบต. เพื่อหาว่าต้นทุนที่มีอยู่ระดับไหน แล้วเข้าไปกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการพัฒนาจากการมีส่วนร่วม ตั้งแต่โรงเรียน อบต. ชุมชน ผู้ปกครอง โดยมีเป้าหมาย 22 โรงเรียนระดับประถมศึกษาใน จ.สุราษฎร์ธานี และชุมพร
"เจตนาของเราคือ จะเอาต้นทุนเดิมที่ท้องถิ่นเก็บรักษามาเป็นตัวกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นปราชญ์ชาวบ้าน หมอชาวบ้าน ตำรายา คำสอนการดูแลร่างกาย ดูแลสุขภาพ ดูแลชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนสุขภาวะที่ดีทั้งหมด มาต่อ ยอดเป็นนวัตกรรมฝึกการอ่านออกเขียนได้ ด้วยหวังว่าอย่างน้อยๆ ที่เขาเริ่มอ่านออกเขียนได้ โดยเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่เป็นสุขภาวะเป็นลำดับแรกๆ" ผศ.ณัฐา กล่าว
เราเชื่อว่าไม่ว่าพวกเขาจะเติบโตไปประกอบอาชีพอะไรในอนาคต หากสามารถอ่านออกเขียนได้ รู้ว่าจะมีสุขภาวะที่ดีได้อย่างไร ก็เชื่อได้ว่าเขาจะสามารถเป็นพลเมืองที่ดีในอนาคตได้ เพราะสุขภาวะที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง