พัฒนาแอปพลิเคชันคุ้มครองเด็ก ดึงอปท.คัดกรองเบื้องต้น
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
แฟ้มภาพ
กรมกิจการเด็กและเยาวชนรุกพัฒนาแอปพลิเคชันคุ้มครองเด็ก ดึง อปท.คัดกรองเบื้องต้น
นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ดย.ได้จัดตั้งศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็กในตำบล เป็นความร่วมมือระหว่าง ดย.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการดูแลคุ้มครองเด็กในพื้นที่ หาก อปท.พบเห็นเด็กที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจะคัดกรองส่งต่อไปยังบ้านพักเด็กและครอบครัว ปัจจุบันมีศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็กระดับตำบล 1,018 แห่ง ถือว่ายังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับตำบลที่มีอยู่ถึง 7,774 ตำบล การจัดตั้งให้ครบต้องใช้เวลาอีกนาน ดย.จึงมีนโยบายนำระบบสารสนเทศเข้ามาพัฒนาการทำงานให้รวดเร็วครอบคลุม การดูแลกลุ่มเป้าหมายให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
โดยจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก หรือ Child Protection Information System หรือ CPIS เป็นระบบบูรณาการกระบวนการคุ้มครองเด็กโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนทำให้เด็กในทุกพื้นที่ได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว
อธิบดี ดย.กล่าวด้วยว่า ระบบ CPIS ประกอบด้วย 6 ระบบย่อยคือ 1.ระบบแจ้งเหตุ หรือแอปพลิเคชันคุ้มครองเด็ก ให้ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งเหตุผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์ได้ เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ที่เด็กพึงได้รับการคุ้มครอง สามารถปักหมุดพิกัดสถานที่ และส่งข้อมูลแจ้งเหตุ ข้อมูลจะเชื่อมต่อไปยังบ้านพักเด็กและครอบครัวในพื้นที่รับผิดชอบทันที เมื่อหัวหน้าบ้านพักเด็กฯได้รับแจ้งเหตุ จะประสานหน่วยงานพื้นที่ เช่น อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) หรือกลไกเครือข่ายในพื้นที่เข้าช่วยเหลือเบื้องต้น หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ท้องที่นั้นๆเข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที ขณะเดียวกันประชาชนที่แจ้งเหตุก็ตรวจสอบได้ว่าเคสที่แจ้งไปอยู่ในขั้นตอนการช่วยเหลืออย่างไร
2.ระบบการคัดกรองข้อมูล เป็นเครื่องมือสำหรับ อปท.ในการประเมินเด็กที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ซึ่ง อปท.สามารถดำเนินการได้เอง มีแบบประเมินแบ่งเป็นสีเขียวหมายถึง อยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งท้องถิ่นอาจจะเฝ้าระวังดูแลได้เอง สีเหลืองหมายถึงอยู่ในภาวะเสี่ยง และสีแดงแสดงว่าเด็กพึงได้รับการคุ้มครองทันที ก็จะประสานไปยังบ้านพักเด็กฯเข้าช่วยดูแล
3.ระบบการจัดการรายกรณี เป็นระบบให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเด็กแต่ละคนได้ทันท่วงทีและมีการบันทึกข้อมูลเป็นรายบุคคล 4.ระบบผู้ปฏิบัติงานเป็นฐานข้อมูลเจ้าหน้าที่รวมถึงผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองเด็ก 5.ระบบการจัดสวัสดิการสำหรับเด็ก สามารถสืบค้นข้อมูลว่าเด็กคนนี้ได้รับการช่วยเหลือสวัสดิการอย่างไรจาก ดย.แล้วบ้าง ระบบนี้กำลังพัฒนาให้เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกรมอื่นๆ ใน พม.ด้วย รวมถึงตั้งเป้าหมายในปี 2565 จะเชื่อมข้อมูลกับกระทรวงอื่นด้วยและ 6.ระบบตรวจสอบสิทธิ์ การเข้าถึงสิทธิ์ของเด็ก
อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชันคุ้มครองเด็กอยู่ระหว่างพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ คาดว่าจะเปิดตัวใช้ได้ภายในเดือน ก.พ.