พัฒนาเยาวชน เพื่อเปลี่ยนแปลงชุมชน
ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เรามักพบความเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ทิศทางที่หลากหลาย แต่เชื่อว่าหลายๆ คนได้ฝากความหวังไว้กับเยาวชนของวันนี้เพื่ออนาคตข้างหน้า แต่เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ย่อส่วน เขาเป็นอีกวัยหนึ่งที่ต้องมีพัฒนาการ มีลักษณะเฉพาะที่ต้องศึกษา ซึ่งจะมีความแตกต่างไปจากวัยผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่าเด็กและผู้ใหญ่จะมีความแตกต่างระหว่างช่วงอายุ แต่พวกเขาก็นับเป็นพลเมืองและแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ ที่จะนำไปสู่สังคมน่าอยู่ต่อไป
เช่นเดียวกับ การจัดการปัญหาเด็กและเยาวชน ของบ้านขี้ตุ่น หมู่ 4 ต.ท่าจะหลุง อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา “เด็กและเยาวชนติดเกมส์” ถึงขนาดระดมสมองทั้ง ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ของชุมชน เข้ามาเป็นคณะกรรมการสภาชุมชน ตั้งวงจับเข่าคุยกัน เพื่อหาแนวทางในการลดปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยมีแกนนำหลักๆ 2 คนคือผู้ใหญ่บ้านและครูซึ่งเกษียณอายุราชการแล้ว เป็นตัวตั้ง ตัวตี ในการพูดคุย รับรู้ถึงปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน และมีเป้าหมายร่วมกันว่าต้องการลดปัญหาที่เกิดกับเยาวชนและต้องการสร้างเยาวชนให้เป็นเยาวชนต้นแบบ ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกสภาชุมชน ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่ต้นแบบและการเรียนรู้กับพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งพบผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือ เยาวชนกลุ่มเป้าหมาย มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มเล่นดนตรีไทย กลุ่มประดิษฐ์ของชำร่วยและผูกผ้า และกลุ่มออกกำลังกาย การรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นนั้นยังส่งผลไปยังเยาวชนในหมู่บ้านใกล้เคียงที่สมัครใจเข้ามาร่วมในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มด้วย
ในส่วนของ “ผู้ปกครอง” ที่เห็นความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้ ก็ให้ความร่วมมือในการดูแลเยาวชนเป็นอย่างดี รวมทั้งสนับสนุนการจัดกิจกรรมในชุมชน เพื่อเพิ่มพื้นที่หรือเวทีให้เยาวชนได้มีโอกาสนำผลงานไปร่วมแสดง นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือของเจ้าของกิจการร้านอินเตอร์เน็ต และที่สำคัญคือ เด็กและเยาวชนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยความตั้งใจและเอาใจใส่อย่างจริงจัง สะท้อนให้เห็นความยั่งยืนในการแก้ปัญหา โดยความร่วมมือที่ดีจากทั้งผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ในชุมชน และเจ้าของกิจการร้านเกมส์ รวมทั้ง เยาวชนกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง
เช่นเดียวกับ บ้านโชคชัยสามัคคี ต.บ้านชบ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ทางหลวงหมายเลข 24 ซึ่งเป็นถนนหลักเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับกรุงเทพมหานคร อยู่ติดกับหมู่บ้านโชคชัยสามัคคี ทำให้ความเจริญด้านวัตถุเข้ามาในชุมชนอย่างรวดเร็ว นายทุนนอกพื้นที่เข้ามาทำการเปิดสถานบันเทิงร้านคาราโอเกะ ร้านอาหาร รวมถึง ร้านเกมส์ ทำให้เยาวชนใช้เวลาว่างส่วนใหญ่อยู่ในร้านเกมส์ และบ้างรับจ้างเสริฟอาหารในสถานบันเทิง
นางเตียว พิมพ์เพราะ ผู้ใหญ่บ้านคนสำคัญ เล่าว่า “เด็กๆในบ้านโชคชัยสามัคคี มีแบบอย่างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและเกิดการเลียนแบบ เช่น ซิ่งรถจักรยานยนต์ รวมกลุ่มมั่วสุมดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน เรียนไม่จบชั้นมัธยมต้นมความสัมพันธ์เชิงชู้สาว ทำงานรับจ้างในร้านคาราโอเกะใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย ติดเกมส์”
กระบวนการแก้ปัญหาจึงเริ่มขึ้น “ผู้ใหญ่เตียว” ได้ใช้แนวคิดของการบริหารจัดการด้วยสภาผู้นำชุมชน ชักชวน แกนนำต่างๆ ในชุมชนเข้าร่วมกันเป็นสภาผู้นำชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน สมาชิกสภาทุกคนได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน มีโอกาสในการฝึกทำงานเป็นทีม มีการแบ่งงาน แบ่งบทบาทตามความถนัด ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกคน ก่อให้เกิดกติกาสภาและกติกาหมู่บ้านเพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตาม มีการแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มๆ และมอบหมายให้สมาชิกสภาดูแลเด็กในกลุ่มในทุกๆ เรื่อง ส่งผลให้เด็กๆ มีกิจกรรมใหม่ๆทำ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี ไปบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยงานหมู่บ้านอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
จากบทบาทของสภาผู้นำชุมชนบ้านโชคชัยสามัคคีส่งผลให้เกิดการดำเนินงานและจัดกิจกรรมต่างๆ เกิดการรวมกลุ่มเป็นสภาเยาวชนมีกิจกรรมค่ายครอบครัว อบรมทักษะชีวิต จัดกิจกรรมตามเทศกาลต่างๆ การทำความสะอาดพัฒนาหมู่บ้าน กิจกรรมสร้างความความอบอุ่นในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ปัญหาต่างๆ จึงลดลงไป เช่น จำนวนชั่วโมงการเล่นเกมส์ลดลงเหลือเพียง 2 ชั่วโมงต่อวัน และเด็กๆ มีเวลาช่วยผู้ปกครองมากขึ้น รวมทั้ง เกิดการดูแลสอดส่องกันเองระหว่างเยาวชนด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาชุนชนที่เข้มแข็งด้วยตัวของเยาวชนในพื้นที่ไปด้วย
ที่มา : www.facebook.com/Section6TH (สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.)
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต