พัฒนาเครื่องมือดูแลเด็กปรับพฤติกรรมนักเรียนตีกัน

 

พัฒนาเครื่องมือดูแลเด็กปรับพฤติกรรมนักเรียนตีกัน

 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมพัฒนาศักยภาพอาจารย์ในการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต เพื่อป้องกันพฤติกรรมรุนแรงในนักเรียน/นักศึกษาอาชีวศึกษา ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีมีนบุรีโปลีเทคนิค โดยมีครู อาจารย์จากวิทยาลัยเทคโนโลยีมีนบุรีฯ กว่า 50 คนเข้าร่วมอบรม

ดร.นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ส่งผลถึงพฤติกรรมเบี่ยงเบนของเด็กนักเรียน/นักศึกษานั้น จุดเริ่มต้นมาจากวัยเด็ก ผู้ใหญ่ขาดความเข้าใจในตัวเด็ก ประกอบกับระบบการศึกษาไทย ครูไม่เข้าใจหลักจิตวิทยา ซึ่งเราสามารถแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเสี่ยงเล็กน้อย 2.กลุ่มเสี่ยงปานกลาง และ 3.กลุ่มเสี่ยงมาก โดยเฉพาะเด็กกลุ่มที่ 3 ที่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อครูที่สอน เมื่อทำความผิดและถูกลงโทษต่อหน้าชั้นเรียน ทำให้เกิดความอับอาย และไม่อยากไปเรียนหนังสือ โดดเรียน ออกไปเล่นเกม สูบบุหรี่ เป็นต้น ดังนั้น หลักของการจัดการปัญหา สิ่งที่ครูควรทราบมี 3 สิ่ง คือ 1.ใครที่เสี่ยง 2. เวลาใดที่เสี่ยง และ 3. สถานที่ใดที่เสี่ยง เพื่อจัดการปัญหาได้ตั้งแต่เริ่มต้น

ดร.นพ.พิทักษ์พล กล่าวอีกว่า ปัญหาพฤติกรรมของเด็กจะเกิดจากตัวเด็กเอง 30% และอีก 70% สาเหตุจากปัจจัยภายนอก เช่น 1.เพื่อน ซึ่งมีอิทธิพลมาก ต้องพยายามไม่ให้เพื่อนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจับกลุ่มกัน 2.ครอบครัว เด็กกลุ่มเสี่ยงมักมาจากครอบครัวที่มีปัญหา 3.อาจารย์ เพราะจากการสัมภาษณ์พบว่าอาจารย์ก็มีผลต่อค่านิยม 4.ประวัติศาสตร์โรงเรียนที่รุ่นพี่รุ่นน้องเล่าสู่กันฟังมีผลต่อค่านิยมการใช้ความรุนแรง จึงต้องเปลี่ยนเป็นศักดิ์ศรีเชิงบวก ซึ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาคือผู้บริหารโรงเรียนต้องจริงจังและคิดจะเปลี่ยนไม่ให้ถูกส่งต่อมา พร้อมสร้างประวัติศาสตร์ใหม่เชิงบวก เป็นเลิศในทางที่ดี 5.ทัศนคติของชุมชน สังคมมองว่าเด็กอาชีวะใช้ความรุนแรง จึงไม่ส่งเสริมให้เรียน 6.ข่าวในเชิงบวกไม่ค่อยได้รับความสนใจ จึงถูกเผยแพร่น้อย 7.บทบาทของตำรวจต้องช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช่การลงโทษ

“จากการประเมินผลพฤติกรรมรุนแรงสำหรับวัยรุ่นตามคู่มือการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและบุคลิกภาพนักเรียน/นักศึกษา สามารถคัดแยกเด็กได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ใกล้ชิด ต้องมีครูที่เป็นเหมือนพ่อแม่อุปถัมภ์ สามารถเปิดใจคุยปัญหาได้ทุกเรื่อง และติดตามเยี่ยมบ้านอย่างใกล้ชิด กลุ่มเด็กที่ 2.ห่วงใย มีประมาณ 10-20% เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง เริ่มมีผลการเรียนตกต่ำ ใช้สารเสพติด ต้องปรับเป็นกลุ่มปกติให้ได้ โดยจัดหาอาสาสมัครเข้ามาช่วยกันดูแล อาจจะเป็นลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อให้เกิดการยอมรับในกลุ่ม และ 3.กลุ่มวางใจ มุ่งที่จะปรับพฤติกรรมทุกคนทั้งโรงเรียน โดยใช้เวลาสัปดาห์ละ 1 คาบ จัดกิจกรรมทางจิตวิทยา ให้ครูเป็นผู้ทำ สำหรับวิทยาลัยเทคโนโลยีมีนบุรีโปลีเทคนิค ยินดีที่เป็นโรงเรียนนำร่อง ทางทีมได้พูดคุยกับอาจารย์ และสังเกตเด็กที่นี่ ก็ไม่ได้มีพฤติกรรมรุนแรงนัก หากเราทุกคนร่วมใจแก้ปัญหาเชื่อว่าเราจะแก้ได้จริง” ดร.นพ.พิทักษ์พลกล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ