พัฒนาหลักสูตร ชุดเครื่องมือ หนุนผู้นำท้องถิ่นทั่วไทย ใช้ป้องกันโรค NCDs

ที่มา : กรมควบคุมโรค


พัฒนาหลักสูตร ชุดเครื่องมือ หนุนผู้นำท้องถิ่นทั่วไทย ใช้ป้องกันโรค NCDs  thaihealth


เเฟ้มภาพ


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จับมือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พัฒนาหลักสูตรและชุดเครื่องมือหนุนผู้นำท้องถิ่นทั่วประเทศใช้ป้องกันโรคเอ็นซีดีในพื้นที่ ซึ่งเป็นต้นเหตุหลักทำให้คนไทยอายุสั้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 5 โรคสำคัญคือ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 8 หมื่นราย กำลังรักษาตัวขณะนี้อีกกว่า 4 ล้านราย ขณะนี้จัดทำร่างหลักสูตรภาคทฤษฎีแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างทดลองภาคปฏิบัติ คาดสมบูรณ์แบบและประกาศใช้ปลายปีนี้  


นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการป้องกันแก้ไขปัญหา โรคเอ็นซีดีหรือโรคไม่ติดต่อว่า ขณะนี้โรคเอ็นซีดี (Non Communicable Diseases : NCDs) กำลังเป็นปัญหาคุกคามสุขภาพอันดับ 1 ทั่วโลก  เสียชีวิตปีละกว่า 40 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตทั้งหมด โรคนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อเฉียบพลัน แต่เกิดมาจากพฤติกรรมของแต่ละบุคคลเองที่สะสมจนเป็นเหตุให้เจ็บป่วยหรือมีอันตรายต่อชีวิตในระยะยาว โรคจะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป บั่นทอนคุณภาพชีวิตลงเรื่อยๆ และทำให้อายุสั้นลง


โรคเอ็นซีดีที่พบมากที่สุดในประเทศไทยมี 5 โรคสำคัญ  ข้อมูลล่าสุดในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจาก 5 โรคนี้รวม 88,088 ราย ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 34,727 ราย โรคหัวใจขาดเลือด จำนวน 20,556 ราย โรคเบาหวาน จำนวน 16,589 ราย โรคความดันโลหิตสูง จำนวน 9,313 ราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จำนวน 6,903 ราย กำลังป่วยอยู่ระหว่างรักษาในขณะนี้อีกกว่า  4.5 ล้านคนทั่วประเทศ พบทั้งเขตเมืองและชนบทไม่แตกต่างกัน  สาเหตุการเจ็บป่วยเกี่ยวกับ 6 ปัจจัยเสี่ยงหลักคือ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารไม่เหมาะสมเช่น หวานเกิน เค็มเกิน ความเครียด และมลพิษสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ


นายแพทย์ปรีชา กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้เร่งป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในปีนี้ได้ร่วมมือกับกองสาธารณสุขท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตรการป้องกันควบคุมโรคเอ็นซีดีและชุดเครื่องมือ เพื่อให้ผู้นำท้องถิ่นนำไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการป้องกันและควบคุมโรคเอ็นซีดีภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือของประเทศระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (CCS NCDs Program) และระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำหลักสูตร ช่วยให้ผู้นำท้องถิ่นมีศักยภาพ เป็นต้นแบบในการดูแลสุขภาพ เป็นผู้กำหนดนโยบายและบริหารจัดการท้องถิ่น เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทวิถีชีวิตของท้องถิ่นนั้นๆ


โดยมีกองโรคไม่ติดต่อเป็นแกนหลักดำเนินการระหว่างเดือน เม.ย.-ธ.ค.64 ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำร่างหลักสูตรภาคทฤษฎีแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างทดลองใช้ในภาคปฏิบัติ โดยจัดอบรมในระบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะสมบูรณ์แบบและใช้ในช่วงปลายปีนี้  


ด้านนายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ   กล่าวว่า ร่างหลักสูตรฯ นี้ ประกอบด้วย 10 กลุ่มวิชา ได้แก่ 1.ทิศทางการป้องกันควบคุมโรคเอ็นซีดีของประเทศไทย และความสำคัญของท้องถิ่นกับการจัดการโรคฯ  2.โรคเอ็นซีดีและหลักการป้องกันควบคุม 3.ระบาดวิทยาและชุดข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ป้องกันโรคเอ็นซีดีในชุมชน 4.การประเมินสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยกำหนดของสุขภาพในชุมชน  5.การสร้างเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยงในการป้องกันควบคุมโรคฯ ในชุมชน ด้วยหลักการ 3อ.2ส. คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ไม่เสพสิ่งเสพติด และไม่ดื่มสุรา รวมถึงการป้องกันฝุ่นและสารเคมี การให้ความรู้ในชุมชน เทคนิคการสื่อสาร และการจัดทำข้อตกลงในชุมชน 


6.การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันควบคุมโรคเอ็นซีดี  7.การจัดทำแผน ออกแบบโครงการ/กิจกรรมป้องกันควบคุมโรคฯในชุมชน 8.การติดตามโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรคฯสำหรับประชาชนในพื้นที่  9.กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมโรคฯ  และ 10.การใช้และพัฒนาสื่อเทคโนโลยีดิจิตัลในชุมชน

Shares:
QR Code :
QR Code