พัฒนาศักยภาพ “อสม.เชี่ยวชาญสุขภาพจิต 75,032 คน”

ที่มา: กรมสุขภาพจิต


ภาพประกอบจาก:เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข


พัฒนาศักยภาพ “อสม.เชี่ยวชาญสุขภาพจิต 75,032 คน” thaihealth


กรมสุขภาพจิต รุกพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชุมชน   ปีนี้จำนวน 36,000 คน หวังลดปัญหาสุขภาพจิตและค้นหาผู้ป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มการเข้าถึงบริการรักษา ตั้งเป้าให้มี 75,032 คน ครบทุกหมู่บ้าน “1 หมู่บ้าน 1 อสม.” ภายในปี 2562 พร้อมทั้งเชิดชูความสามารถของอสม.ดีเด่นระดับชาติสาขาสุขภาพจิตชุมชนปีนี้ มีการจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพจิตชุมชนที่บ้านตนเอง ฝึกคนในชุมชนคิดบวก ลดเครียด


นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ กรมสุขภาพจิตเร่งขยายงานสุขภาพจิตลงสู่ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจในการใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชน รวมทั้งรู้จักการปรับตัวปรับใจแก้ไขปัญหาที่กระทบกับชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมไม่เกิดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต โดยใช้กลไกของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ได้มอบหมายให้ศูนย์สุขภาพจิตซึ่งเป็นศูนย์วิชาการประจำเขตสุขภาพทั่วประเทศ จัดอบรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.ให้มีความเชี่ยวชาญในสาขาสุขภาพจิตชุมชน ตั้งเป้าหมายภายในปี 2562 จะอบรมให้ครอบคลุม ทุกหมู่บ้านที่มีประมาณ 75,032 หมู่บ้านทั่วประเทศ จะให้มีอสม.เชี่ยวชาญดูแลสุขภาพจิตหมู่บ้านละ 1 คน หรือ 1 หมู่บ้าน 1 อสม. เริ่มปีแรกในปี 2560 จำนวน 3,000 คน ในปี 2561 นี้ ตั้งเป้าอบรม 36,000 ค


ในการพัฒนาครั้งนี้ อสม.จะมีศักยภาพเพิ่มใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. การดูแลสุขภาพจิตของคนในชุมชน โดยจะมีเครื่องมือค้นหาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น แบบคัดกรองโรคซึมเศร้า 2 คำถาม แบบคัดกรองความเครียดเบื้องต้น       เพื่อนำเข้าสู่ระบบบริการตั้งแต่เนิ่นๆ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 บริการ 24 ชั่วโมง ในภาวะที่จำเป็น 2. การส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิตตามกลุ่มวัย 3. การดูแลจิตใจผู้ประสบภัยในภาวะฉุกเฉินต่างๆ ช่วยคลายทุกข์ใจในเบื้องต้น 4. สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของชุมชน และ 5.เยี่ยมบ้านผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ดูแลให้กินยาอย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังอาการกำเริบเพื่อส่งตัวรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยอสม.เชี่ยวชาญฯ จะทำบทบาทสำคัญ 3 เรื่อง คือ การเอ็กซเรย์ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน การให้บริการปรึกษาคลายทุกข์ใจ และการส่งผู้ป่วยหรือผู้ที่ปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงเพื่อรักษาต่ออย่างเหมาะสม มั่นใจว่า ระบบบริการสุขภาพจิตของประเทศไทย จะทั่วถึงและครอบคลุมถึงระดับชุมชนหมู่บ้าน ลดความรุนแรงของปัญหาสุขภาพจิตคนไทย โดยอสม. 1 คน จะดูแล 10 หลังคาเรือน


ทางด้านนายแพทย์ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสุขภาพจิตได้ร่วมกับ           กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ คัดเลือกอสม.ที่มีผลงานดีเด่นระดับชาติ สาขาสุขภาพจิตชุมชน เพื่อเชิดชูเกียรติเนื่องในวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มีนาคมทุกปี ในปี 2561 อสม.ที่ได้รับรางวัลนี้ ได้แก่ นางพานิตย์  นพรัตน์ จังหวัดพัทลุง อยู่ที่หมู่ที่ 3 บ้านวังยาว ต.ตะแพน อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง เป็นจิตอาสาเข้ารับการอบรมเป็นอสม. เมื่อปีพ.ศ.2553 ผ่านการอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพอสม.เชี่ยวชาญสาขาสุขภาพจิตชุมชน ในปี 2560


ผลงานโดดเด่น คือ การทำงานเชิงรุก โดยจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพจิตชุมชนที่บ้านตนเอง มีบริการตรวจคัดกรองความเครียด โรคซึมเศร้า และให้ความรู้ในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต โดยสอนวิธีการคิดบวก พร้อมทั้งจัดอุปกรณ์นวดคลายเครียดที่พัฒนาขึ้นเอง เช่น ลูกแก้วนวดฝ่าเท้า ไม้นวดเท้า มีกล่องระบายทุกข์ เติมสุข และบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์มือถือ และส่งต่อผู้ที่มีปัญหาเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุข ส่งเสริมให้ผู้พิการมีอาชีพและรายได้เลี้ยงตัวเอง รวมทั้งดูแลเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจิตเวชในหมู่บ้าน เช่น โรคซึมเศร้า ไบโพล่าร์ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ไม่มีอาการกำเริบ สามารถทำงานได้ และใช้ชีวิตเข้ากับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ในส่วนของชุมชนพบว่า มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการดูแลสุขภาพจิต และใช้บริการเมื่อมีปัญหา โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 20 มี.ค.61 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

Shares:
QR Code :
QR Code