พัฒนาศักยภาพภาคี เพื่อการสื่อสารที่ดีอย่างมืออาชีพ

 

พัฒนาศักยภาพภาคี เพื่อการสื่อสารที่ดีอย่างมืออาชีพ

 

ต้องยอมรับว่าการสื่อสารมีอิทธิผลต่อสังคมไทยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ดังนั้นการที่องค์กร กลุ่มคน หรือแม้แต่คนคนเดียวจะสร้างสรรค์ สิ่งดีๆ หรือบอกต่อเรื่องราวที่ถูกต้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น จึงจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารที่เรียกว่า “การสื่อสารสาธารณะ” เป็นตัวช่วยป่าวประกาศให้เรื่องราวเหล่านั้นขยายวงกว้าง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จับมือกับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ยุทธศาสตร์เสริมทักษะสื่อสาร อย่างมืออาชีพ” ขึ้น ที่ศูนย์เรียนรู้ไทยพีบีเอส เพื่อหวังพัฒนาศักยภาพเครือข่ายภาคีของ สสส. ที่ทำงานเพื่อสังคมให้ผลักดันงานการสร้างเสริมสุขภาวะให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด

โดยทันตแพทย์ กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  บอกว่า การทำงานของภาคีเครือข่ายภายใต้การสนับสนุนของ สสส.  นอกจากการทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการ กิจกรรม รณรงค์ผลักดันเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะต่างๆ แล้ว  สิ่งสำคัญคือการทำให้เนื้อหาในกิจกรรมออกมาเป็น “รูปธรรม” ในการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไปในวงกว้างด้วยรูปแบบต่างๆ ดังนั้นการนำเสนอเนื้อหา ประเด็นเหตุการณ์ ความคิด ผ่านเครื่องมือต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้งานสำเร็จ สสส.จึงจัดการอบรมนี้ขึ้น โดยจับมือกับไทยพีบีเอส ที่มีสถาบันวิชาการสื่อสารสาธารณะ ที่ทำงานพัฒนาทักษะ ความสามรถของสื่อมวลชน

“การอบรมครั้งนี้จะเน้นไปที่การพัฒนาศักภาพของภาคีเป็นหลัก เริ่มจากการเข้าใจการสื่อสารมวลชน ที่มีผลต่อการบริโภคข้อมูลข่าวสาร ตั้งแต่กลุ่มชุมชนเล็กๆ ไปถึงคนเมืองใหญ่ ผ่านสื่อหลากหลาย เข้าใจในการเลือกสรรประเด็น ที่จะช่วยให้การทำงานสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย  ภาคีของเราทำงานขับเคลื่อนงานขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพในประเด็นเด็ก ผู้พิการ หรือชุมชน ทั้งหมดนี้ต้องใช้การสื่อสาร ถ้าตัวผู้บริหาร คนทำงานภาคีเข้าใจ ก็จะสามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับงานต่างๆ ที่ทำอยู่ได้ ดังนั้นการจะทำงานได้ผลสำเร็จจึงต้องอาศัยการสื่อสารเป็นองค์ประกอบหลัก ถ้าเรามีองค์ความรู้เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี แต่เราไม่สามารถทำให้สังคมรับรู้หรือยอมรับได้ มันก็ไม่สามารถผลักดันไปสู่ความสำเร็จได้ ภาคีจึงต้องเข้าใจและเรียนรู้ให้ชัดเจน การทำงานจึงจะสำเร็จได้” หมอกฤษดากล่าว

แล้วเราต้องทำอย่างไร เพื่อให้การทำงานสร้างเสริมสุขภาวะของเราสามารถสื่อสารออกไปยังสาธารณะได้ ในเรื่องนี้ นางสาวเย็นจิตร์ สถิรมงคล บรรณาธิการกลุ่มข่าววิทยุและนิวมีเดีย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) บอกกับเราว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสื่อยังคงมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอยู่มาก แต่ที่กำลังเพิ่มขึ้นคือเรื่องของสื่อดิจิตอลที่กำลังมาแรงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ใช้ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตทำให้มีการแบ่งเนื้อหาออกไปมากมาย และเชื่อว่าในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากกว่านี้ โซเชียลมีเดียก็จะเติบโต ผู้ที่ผลิตเนื้อหาก็จะมากขึ้นตามไปด้วย การอบรมในครั้งนี้จึงต้องการให้ภาคีของ สสส.ที่ทำงานเพื่อสังคม สามารถนำเนื้อหาที่ทำงานออกมาสื่อสารให้ได้ เนื่องจากบางภาคีทำงานมีประเด็นและเนื้อหาที่น่าสนใจ แต่มองไม่ออกว่าจะสื่อสารอย่างไร ส่งผลให้การทำงานไม่บรรลุผลเท่าที่ควร การสื่อสารที่ดีที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ เข้าใจจิตวิทยา และเข้าใจในสื่อมวลชน

“คนทำงานจะสื่อสารต้องรู้กลุ่มเป้าหมาย เลือกสิ่งที่จะสื่อสารที่จะสามารถไปสร้างความตระหนัก กระตุ้นการเรียนรู้ เปลี่ยนทัศนคติ และที่สำคัญต้องรู้จักใช้ช่องทางการสื่อสารที่เรามีให้เกิดประโยชน์ในการเผยแพร่ให้มากที่สุด เพราะในด้านสื่อมวลชนนั้น การนำเสนอข่าวบางเรื่องยังจำเป็นต้องมีข้อมูลทางวิชาการหรืองานวิจัยมารองรับ เพื่อใช้อ้างอิง หากมีคนที่โต้แย้ง อีกทั้งการนำเสนอข่าวสารบางข่าวก็ยังมีข้อจำกัด ดังนั้น ภาคีจึงควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่สามารถทำได้ด้วยตนเองมากขึ้น ซึ่งสามารถนำเสนอได้อย่างเต็มที่นั่นคือสิ่งสำคัญ ซึ่งการอบรมครั้งนี้ เราต้องการให้ภาคีได้แรงบรรดาลใจในสิ่งที่ทำเพื่อสังคม เทคนิควิธีการที่จะถ่ายทอดเนื้อหาให้เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชนในวงกว้างมากที่สุด เพราะยิ่งกว้างเท่าไร ก็ยิ่งดี บางเรื่องยังมีเนื้อหาที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจกันผิดหากภาคีทุกคนสามารถสื่อสารสาธารณะเป็น อาจจะไม่ได้หวังรอสื่อมวลชนเพียงอย่างเดียว ก็เชื่อว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมในสังคมได้ อย่างที่เห็น สสส. เองก็ ทำงานในหลายๆ ด้านและก็มีอีกหลายแผนงานที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นแผนงานที่เกี่ยวกับเหล้า บุหรี่ รวมถึงอุบัติเหตุ ที่การสื่อสารประสบผลสำเร็จ เพราะในประเทศที่พัฒนามากแล้ว ก็ยังคงเจอปัญหาแบบในบ้านเรา แต่แค่ทำให้มันลดลงให้ได้มากที่สุดก็ดีแล้ว” คุณเย็นจิตร์

พัฒนาศักยภาพภาคี เพื่อการสื่อสารที่ดีอย่างมืออาชีพ

หนึ่งในเพื่อนภาคีผู้เข้าอบรมอย่าง นายนิพนธ์ รัตนาคม ผู้ประสานงานสื่อสารสาธารณะ สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) กล่าวว่า การอบรมกับ สสส.ครั้งนี้ เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมาก เพราะการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานสำเร็จ ได้เรียนรู้เทคนิคของการสื่อสาร เรียนรู้การใช้จุดเด่นของงานในการนำเสนอ ซึ่งคิดว่าการอบรมครั้งนี้สามารถเอาไปปรับใช้ในโครงการที่ทำอยู่ได้ดีมาก เพราะงานที่ตนทำก็ต้องใช้การสื่อสาร โดยเฉพาะกับชุมชน เดิมทีจะใช้สื่อสิ่งพิมม์หรืออื่นๆ ในการสื่อสาร แต่วันนี้มีช่องทางเพิ่มขึ้น คือเราต้องใช้สื่อชุมชนเพื่อจะได้เข้าถึงและตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานด้วย ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ชุมชนเข้าใจกันเองและสามารถเป็นคนสื่อสารเองได้อีกด้วย และที่สำคัญการอบรมยังทำให้เรามีเพื่อนภาคีเพิ่มขึ้นอีกด้วย

“สุดท้ายก็อยากฝากถึงเพื่อนภาคีทุกคน อย่ามองข้ามเรื่องการสื่อสารเพราะมันสำคัญมาก เราต้องรู้จักหยิบยกจุดเด่นของงานที่เราทำมาสื่อสาร เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าจุดเด่นของงาน มันก็จะนำเสนอได้ยาก ในทางตรงข้าม ถ้าเราสามารถยกจุดเด่นมานำเสนอได้ตรงจุด และตรงจุดเป้าหมายงานมันก็จะสำเร็จได้อย่างแน่นอน” นายนิพนธ์กล่าว

เมื่อการสื่อสารเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานและสร้างสรรค์สังคมไทยให้ดีขึ้นได้ การวางกลยุทธ์ที่ดีก็นับว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง มาร่วมสร้างสังคมให้มีสุขภาวะที่ดีด้วยกันดีกว่านะคะ

 

 

เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ team content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ